ความสุขในชั้นเรียนสร้างได้..ด้วยวินัยเชิงบวก

การลงโทษ คือ สิ่งที่ปฏิบัติต่อคนที่ทำผิดกฎหรือแสดงพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสม โดยมุ่งเป้าไปที่การควบคุมพฤติกรรม โดยใช้วิธีการในเชิงลบ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน การลงโทษ นับเป็นพฤติกรรมที่สังคมพึงยอมรับ และปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน การลงโทษมีทั้ง การลงโทษทางร่างกาย เช่น การเฆี่ยนตี การบิด การหยิก การเขกหัว ฯลฯ การลงโทษทางจิตใจ เช่น การตะคอก ตะโกน ดุด่า ใช้คำพูดรุนแรง “โง่,ปัญญาอ่อน” ประจานให้อับอายต่อหน้าเพื่อนๆ การขู่ด้วยไม้เรียว ซึ่งจริงๆแล้วการลงโทษด้านร่างกายก็ล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจของนักเรียนทั้งสิ้น ส่งผลให้เด็กรู้สึกหวาดกลัว อับอาย กังวลใจ และโกรธแค้น อาฆาต อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นไปด้วย
การลงโทษอาจหยุดพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้ แต่ไม่อาจเปลี่ยนพฤติกรรมได้ตลอดไป…การลงโทษเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้การใช้กำลังและความรุนแรงเพื่อที่จะหยุดปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น การเรียนรู้เช่นนี้ จะนำไปสู่การข่มเหงรังแกเพื่อนต่อไป และอาจส่งผลให้เด็กยิ่งกระทำผิดต่อไปในระยะยาว เพราะจะได้รับความสนใจจากเพื่อนและครูเป็นพิเศษ

จะควบคุมนักเรียนจากภายนอกหรือฝึกให้นักเรียนควบคุมตัวเองจากภายใน?

วินัยเชิงบวก สร้างได้โดยใช้ความเข้าใจ

การเริ่มต้นสร้างวินัยเชิงบวกในชั้นเรียน ครูควรเริ่มจากการทำความเข้าใจในตัวนักเรียนก่อน ว่าทำไมเขาถึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น เขามองตัวเองอย่างไร  รวมถึงเข้าใจในระดับความสามารถและสถานการณ์ชีวิตของนักเรียนในขณะนั้นๆด้วย การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้นักเรียนไว้ใจ จะลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาลงได้ เช่น “เพราะอะไรหนูถึงมาโรงเรียนสายหรอจ้ะ ช่วยเล่าให้ครูฟังหน่อย” , “เพราะอะไรหนูถึงไม่ได้ทำการบ้านมาส่งคะ”

วินัยเชิงบวก สร้างได้โดยการให้แนวทาง  

ครูกำหนดขอบเขต ระเบียบและกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน บอกความคาดหวังของครูให้นักเรียนทราบ อธิบายเหตุผลให้นักเรียนฟัง และส่งเสริมให้นักเรียนคิดเป็น รู้จักการต่อรอง เช่น “โจทย์เลขหน้านี้ จะทำในห้องเรียนหรือจะทำการบ้านมาส่งดีคะ”  “เราจะไม่ใช้โทรศัพท์ในห้องเรียนกันนะคะ หากใครมีธุระเร่งด่วน สามารถขออนุญาตครูแล้วไปคุยธุระได้ที่นอกห้องค่ะ”

วินัยเชิงบวก สร้างได้โดยการให้ความอบอุ่น

หมั่นให้กำลังใจนักเรียน เมื่อทำดีต้องกล่าวชื่นชม ควบคุมอารมณ์ของตนให้เสมอต้นเสมอปลาย มั่นคง แสดงออกทั้งร่างกายและคำพูด ให้อย่างไม่มีเงื่อนไข เช่น “วันนี้ครูขอชื่นชมนักเรียนทุกคนนะคะ ให้ความร่วมมือกันดีมาก”

การตักเตือนโดยใช้ความเข้าใจและวินัยเชิงบวก สามารถทำได้โดย

1. ตักเตือนโดยใช้คำพูดที่สั้นๆ กระชับ ตรงประเด็นเป็นรูปธรรม และไม่ควรประจานนักเรียนต่อหน้าเพื่อน ควรทำเป็นส่วนตัว
2. ใช้การสื่อสารโดยตรงกับนักเรียน สบตาเด็กและสื่อสารทันทีที่เด็กแสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
3. ทำโดยไม่แสดงอารมณ์โกรธ หรือควบคุมอารมณ์ให้มีอารมณ์น้อยที่สุด ไม่ตำหนิ เยาะเย้ย ถากถาง ประชดประชัน เปรียบเทียบ
4. เมื่อนักเรียนทำดี ต้องชมทุกครั้ง โดยพยายามให้การชม เกิดขึ้นบ่อยกว่าการตักเตือน
เราเลือกได้ว่าจะถ่ายทอดความรุนแรงหรือความรักให้กับเด็ก

แหล่งที่มา ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญเรื่องวินัยเชิงบวก

ความสุขในชั้นเรียนสร้างได้...ด้วยวินัยเชิงบวก
: 285