คุณครูคืออีกหนึ่งคนสำคัญที่จะช่วยยุติเรื่องการรังแกกันของเด็ก ซึ่งสิ่งที่คุณครูสามารถทำได้คือ

1) สิ่งที่ครูทำได้ทันทีก็คือ การรับฟังและแสดงความเห็นใจ โดยครูต้องเอาใจเด็กมาใส่ใจครู อย่ามองเพียงในมุมมองของครูอย่างเดียว ครูแสดงความเข้าใจและเห็นใจเด็ก แค่นั้นก็ทำให้เด็กรู้สึกดีขึ้นมากแล้ว

2.)ครูควรต้องมีหลักการที่ถูกต้องในเรื่องของการกลั่นแกล้งรังแกกันในโรงเรียนก่อน นั่นก็คือ

“ไม่ยอมรับการกลั่นแกล้งให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ และมองว่าเรื่องการกลั่นแกล้งเป็นเรื่องจริงจัง”

อย่ามองว่าการกลั่นแกล้งรังแกเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่มีอะไร

3) การจัดการต่อไป อยากให้แบ่งเป็นส่วนของเด็กที่ถูกแกล้ง กับเด็กที่ไปแกล้งเพื่อน

– “เด็กที่ถูกแกล้ง” ครูควรทำให้เด็กมีความรู้สึก “ปลอดภัย” จากการถูกแกล้ง ให้เขารู้สึกว่า เขามีที่พึ่ง อย่างน้อยก็พึ่งพาทางใจ เริ่มที่พูดคุยกับเด็ก ให้เด็กได้ระบายความรู้สึกแย่ๆที่ถูกเพื่อนแกล้งก่อน การที่ครูรับฟัง โดยยังไม่ต้องรีบแนะนำอะไร แค่นั้นก็ทำให้เด็กรู้สึกดีขึ้นมาก ควรเรียกพ่อแม่เด็กมารับรู้ปัญหาร่วมกัน เพื่อพ่อแม่จะได้เป็นกำลังใจให้เด็กด้วย

แล้วช่วยกันคิดถึงวิธีการจัดการ ตรงนี้ลองเปิดโอกาสให้เด็กคิดเองก่อนถ้าเป็นไปได้ การที่ให้เขาลองคิดวิธีจัดการเอง แล้วไปลองทำดูว่าได้ผลเป็นอย่างไร ก็จะเป็นประสบการณ์ที่ดีและได้เรียนรู้

เด็กบางคนอาจมีผลกระทบจากการถูกแกล้ง เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า จนทำให้มีผลกับการใช้ชีวิต เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน การเรียนตกลง เด็กก็อาจต้องรับการประเมินรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ

– “เด็กที่ไปแกล้งเพื่อน” เด็กกลุ่มนี้ คนภายนอกมักจะมองเด็กกลุ่มนี้ด้วยสายตาตำหนิ แต่เมื่อครูเป็นผู้ใหญ่ สิ่งที่ต้องตระหนักคือ จะทำอย่างไรเพื่อปรับพฤติกรรมเด็กกลุ่มนี้ให้ดีขึ้น โดยสร้างแรงจูงใจให้เด็กเต็มใจจะปรับปรุงตัว ไม่ต่อต้านหรือรู้สึกว่าครูตำหนิหรือบังคับ ตรงนี้ก่อนที่ครูจะตั้งป้อมดุและตำหนิเด็ก ครูควรตั้งสติ พูดคุยกับเด็กด้วยการไม่ใช้อารมณ์

มองหาสาเหตุที่มาที่ไปของการที่เด็กไปแกล้งเพื่อน พบบ่อยๆ ที่เด็กที่ชอบแกล้งเพื่อนนั้นอาจมีภาวะทางจิตเวชบางอย่างอยู่ เช่น ความเครียดจากครอบครัว การกดดันจากกลุ่มเพื่อน(เพื่อนชวนกันไปแกล้ง ไม่กล้าปฏิเสธ-ตรงนี้ต้องหาหัวโจกที่เป็นคนเริ่มแกล้งก่อน) เด็กบางคนเป็นสมาธิสั้น(เลยชอบแหย่เพื่อน ถ้ารักษาแล้วก็แกล้งเพื่อนน้อยลง) เด็กบางคนอาจยังเด็กหรือไม่ค่อยมีคนปลูกฝังเรื่อง “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” ดังนั้น ครูควรหาสาเหตุก่อน ไปจัดการที่ตรงนั้น

แน่นอนการเรียกพ่อแม่ของเด็กที่ไปแกล้งเพื่อนมารับทราบด้วยก็ดี(แต่อย่าทำให้พ่อแม่รู้สึกเหมือนเป็นการเรียกเพื่อมาต่อว่า แต่ควรสร้างความรู้สึกว่า เรียกเพื่อให้เกิดการร่วมมือกันเพื่อช่วยไม่ให้เด็กไปแกล้งคนอื่นอีก)

นอกจากนั้นควรจะมีการทำโทษตามสมควร เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การรับผิดชอบและผลของการกระทำ แต่ควรเน้นให้เด็กรู้ว่า ที่ทำโทษเนี่ย ไม่ใช่ว่า เขาเป็นเด็กไม่ดีนะ แต่การกระทำบางอย่างของเขาที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้เด็กรู้ว่าเขาก็มีโอกาสปรับปรุงตัวนะ ไม่ใช่ว่าเป็นเด็กไม่ดี

4) ครูควรจะสร้างบรรยากาศในห้องเรียนและโรงเรียนให้เกิดความปลอดภัย ให้เด็กรู้ว่าถ้าเขาถูกแกล้ง เขาสามารถไปพูดคุยกับครูได้ ครูควรมีการปลูกฝังให้เด็กรู้จักเห็นใจคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดในมุมมองของคนรอบข้าง อาจจะผ่านการเล่นเกม การจำลองสถานการณ์จริง ว่าถ้าเขาอยู่ในบทบาทของคนที่ถูกแกล้ง บทบาทคนที่ไปแกล้งคนอื่น จะมีความรู้สึกอย่างไร

5) มีโปรแกรมในโรงเรียนที่สอนเรื่องของการจัดการกับอารมณ์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเวลาถูกเพื่อนแกล้ง ฯลฯ

6) ครูควรจะเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่แกล้งเด็ก หลายครั้งที่หมอได้ยินว่า มีครูบางคนเรียกเด็กด้วยสมญานามต่างๆ ตามลักษณะเด็ก (เช่น เด็กคนหนึ่งสมมติว่าชื่อ “สุพร” แต่เด็กมีรูปร่างอ้วน ครูเรียกเด็กว่า “สุกร”) เพื่อนในห้องก็เลยล้อเลียนตามไปด้วย แบบนี้ก็ไม่ดี

ขอบคุณข้อมูล: เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา  #หมอมินบานเย็น

อินโฟกราฟิกโดย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

โทรศัพท์ 0-2412-0739  www.thaichildrights.org

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 285