#คิดสักนิดก่อนซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูก

แม้จะมีงานวิจัยจากหลายแห่งบ่งชี้ถึงผลกระทบทางด้านลบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ หากมีการใช้มือถือหรือจ้องมองจอในอายุที่ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เรามักเห็นไปทั่วคือ เด็กเล็กๆ ติดมือถือ  ดูคลิปวีดีโอการ์ตูน  เล่นเกม นั่นเพราะเวลาที่เด็กๆจ้องมองจอ เด็กจะอยู่นิ่ง ผู้ปกครองไม่เหนื่อย คิดว่าเด็กมีสมาธิ

อินโฟกราฟิกชุด “คิดสักนิดก่อนซื้อมือถือให้ลูก” นำเนื้อหามาจากเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ของคุณหมอมินบานเย็น (พญ.เบญจพร ตันตสูติ) ซึ่งได้เขียนไว้ให้ข้อคิดแก่ผู้ปกครองไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1.อายุ 
-ควรรอจนเขามีความรับผิดชอบที่จะดูแลของๆตัวเองได้ เพราะฉะนั้นถ้าเด็กเกินไปก็ไม่สมควร

ชมรมจิตแพทย์เด็กมีข้อกำหนดแนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับจอทุกชนิด เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต มือถือ ทีวี
-ในเด็กเล็ก การให้เด็กใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้มากๆ จะทำให้เด็กมีความเสี่ยงที่จะพูดช้า มีสมาธิไม่ดี

-ต้องโตพอที่จะสามารถพูดคุยเข้าใจกติกาในการใช้โทรศัพท์มือถือกับพ่อแม่ได้ ตามจริงแล้วก็น่าจะเป็นช่วงเข้าชั้นมัธยมเป็นต้นไป

2.ต้องตั้งกฏกติกากับเด็กให้ชัดเจนก่อนจะซื้อให้
-บอกลูกว่าโทรศัพท์มือถือที่ให้นี้เป็นของพ่อแม่ ดังนั้นพ่อแม่จะมีสิทธิ์เอาคืนและตรวจสอบได้ในกรณีที่จำเป็น

-ควรกำหนดกติกาที่ชัดเจน อาจจะต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร (ดูตัวอย่างในสัญญาการใช้โทรศัพท์มือถือ) เช่น ควรมีเวลาใช้ที่ต้องเป็นกฏ อาทิ ต้องงดใช้โทรศัพท์มือถือ เช่น ระหว่างกินข้าว หลังสี่ทุ่ม ต้องปิดเครื่อง
-จำกัดค่าโทรศัพท์ของลูก หากค่าโทรศัพท์เกินวงเงิน ควรให้เด็กเป็นคนรับผิดชอบตรงนั้น เขาจะได้เรียนรู้ที่จะควบคุมค่าใช้จ่าย
-พ่อแม่มีสิทธิ์ที่จะขอดูโทรศัพท์มือถือของลูกในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เพราะบางครั้งอันตรายหลายๆอย่าง ก็เกิดขึ้นจากการติดต่อทางโทรศัพท์
-เด็กต้องรับทราบและยอมรับกฏเหล่านี้ ก่อนที่เด็กจะได้โทรศัพท์มือถือ และกำหนดกติกาว่าถ้าไม่ทำตามที่ตกลง พ่อแม่จะยึดโทรศัพท์ เป็นข้อตกลงกัน

3.ถ้าอยู่ดีๆก็ซื้อให้ และไม่ได้ตกลงกติกาการใช้กันให้ชัดเจนก่อน เด็กมักจะควบคุมการใช้ไม่ได้ เพราะใช้แล้วสนุก เพลิน จนติดมือถือ กลายเป็น โรคสังคมก้มหน้าอย่างที่เห็น ต้องมาทะเลาะกันกับพ่อแม่ให้หงุดหงิดและเครียดกันไปทั้งสองฝ่าย

4. ปลูกฝังและทำเป็นตัวอย่างเรื่องมารยาทในการใช้โทรศัพท์มือถือเช่น การปิดโทรศัพท์ในที่ประชุม โรงหนัง ที่สาธารณะ

ผลเสียที่เกิดกับเด็กที่โตขึ้นถ้าใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ  เช่น ปัญหาการนอน นอนไม่เป็นเวลา เด็กมักไม่ได้ออกกำลังกาย มัวแต่นั่งหรือนอนเล่นมือถือ เป็นโรคอ้วน กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ขาดการพัฒนาตามวัยอย่างเหมาะสม ฯลฯ

การที่ผู้ใหญ่จะซื้อโทรศัพท์มือถือให้เด็กเฉยๆ โดยไม่มีข้อตกลงก่อน ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปได้เลย ยิ่งเป็นครอบครัวที่พ่อแม่ทำแต่งาน ไม่มีเวลาให้ ตามใจลูกโดยไม่ค่อยมีการให้ระเบียบวินัยที่ชัดเจนด้วยแล้ว จะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ กล่าวคือเด็กมักจะเล่นมากจนติด การเรียนแย่ลง สัมพันธภาพกับผู้ใหญ่ก็แย่ ทะเลาะกัน หงุดหงิดกัน

#สัญญาการใช้โทรศัพท์มือถือ

1.โทรศัพท์มือถือเครื่องนี้ เป็นความพิเศษที่พ่อแม่มอบให้ลูก ไม่ใช่สิทธิ จึงไม่ได้หมายความว่าลูกจะเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือนี้ ดังนั้นพ่อแม่มีสิทธิ์เอาโทรศัพท์มือถือคืนได้ทุกเวลา เมื่อพ่อแม่เห็นว่ามีเหตุผลสมควร

2.สิ่งที่เป็นความรับผิดชอบของลูก

– ต้องรับโทรศัพท์ทุกครั้งถ้าพ่อหรือแม่โทรมา หากมีเหตุผลจำเป็นที่รับไม่ได้ ให้ส่งข้อความบอกหรือโทรหาทันทีเมื่อมีโอกาส
– ใช้โทรศัพท์ตามกฎเกณฑ์ของสถานที่ เช่น โรงเรียน โบสถ์ วัด ห้องสมุด โรงหนัง
– บอกให้พ่อแม่ทราบเมื่อมีข้อความ สายเข้า หรือการติดต่อทางโซเชียลมีเดียจากคนไม่รู้จัก
– ดูแลรักษาโทรศัพท์ให้ดี ถ้าทำเสียหายหรือทำหายไป เป็นความรับผิดชอบของหนูที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายนั้นๆ
– พ่อแม่มีสิทธิ์ตรวจสอบโทรศัพท์ได้ทุกเวลาที่คิดว่าสมควร
– ช่วงระยะเวลาหลัง…. ทุ่ม ห้ามเล่นโทรศัพท์มือถือ เพราะเป็นเวลาเข้านอน ก่อนนอนลูกจะนำโทรศัพท์มือถือมาให้พ่อแม่เก็บไว้
– จำกัดเวลาการใช้โทรศัพท์มือถือตามที่พ่อแม่กำหนด
– ไม่เล่นโทรศัพท์มือถือรับประทานอาหาร ทำการบ้าน ระหว่างการเดิน การขี่จักรยาน มอเตอร์ไซค์ (เติมได้อีก) และช่วงเวลานอน
– ไม่ส่งข้อความหรือลงรูปภาพที่ไม่เหมาะสม ที่จะทำให้เกิดความเสียหายกับคนอื่นๆ หรือตัวเอง

3.สิ่งที่เป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่

– มีสติ ไม่แสดงอารมณ์ที่รุนแรง เมื่อลูกทำผิดจากกฎเกณฑ์ที่กำหนด คุยกับลูกด้วยเหตุผล
– มีความหนักแน่นและสม่ำเสมอในการทำตามข้อตกลงร่วมกันในสัญญานี้
– รับฟังลูก เมื่อลูกเล่าให้ฟังเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้ลูกไม่สบายใจในการเล่นอินเทอร์เน็ต
– เรียนรู้สิ่งใหม่ๆในเรื่องเทคโนโลยีเพื่อที่พ่อแม่จะได้เข้าใจว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต
– เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้โทรศัพท์มือถือให้ลูกเห็น เช่นไม่ใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างมื้ออาหารหรือกิจกรรมต่างๆในครอบครัว มีมารยาทในการใช้โทรศัพท์มือถือในที่สาธารณะ

4.หากทำลูกไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกันนี้ พ่อแม่อาจทำโทษด้วยการริบโทรศัพท์มือถือตามระยะเวลาที่สมควร หรือเก็บคืนได้หากมีความจำเป็น

ลงลายมือชื่อไว้ทั้งพ่อแม่และเด็ก

ชื่อพ่อ……………….. ชื่อแม่…………………. ชื่อลูก…………………. วันที่ …………………

ขอขอบคุณข้อมูล : เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา หมอมินบานเย็น

อินโฟกราฟิกโดย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร 024120739 www.thaichildrights.org

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 285