“ดีใจที่ได้มีส่วนร่วมสำหรับงานดีๆ เห็นเด็กๆเครือข่ายอาสาสมัครช่วยกันทำกิจกรรมแล้วรู้สึกปลื้มใจ เป็นตัวอย่างที่ดีๆให้แก่น้องๆคนอื่นๆตัวเขาเองก็มีความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการให้ “ผู้พิทักษ์เด็กหากมีใจใครก็เป็นได้ ”  – คุณญาณี เลิศไกร อดีตอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

“รู้สึกดีนะคะ ได้ทำอะไรๆเพื่อคนอื่นและได้ทำให้เรานึกถึงตัวเองตอนที่ยังเป็นเด็กที่ต้องการคนปกป้องและยังต้องการเรียนรู้สิ่งต่างๆยังอยากเล่นอยากสนุกกับคนอื่นๆ การมาร่วมกิจกรรมกิจกรรมก็สนุกดีค่ะ พี่ๆที่เป็นคนจัดงาน พี่ๆสต๊าฟ ก็ดูแลพวกหนูดีมากๆเลยค่ะ ประทับใจกิจกรรมนี้ค่ะ” – นางสาวกันยกานต์  ลำภูศรี หรือ น้องคิม อาสาสร้างสื่อเสริมพัฒนาการเด็ก

ผู้พิทักษ์เด็กนี่เป็นเพียงความรู้สึกบางส่วนสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมในงาน รวมพลผู้พิทักษ์เด็ก ตอน ผู้พิทักษ์เด็ก..คุณก็เป็นได้ ซึ่งมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ณ เอสพลานาด แคราย  โดยการจัดงานดังกล่าวการจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องในโอกาสปี พ.ศ. 2559 มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กดำเนินงานครบรอบ 35  ปี มูลนิธิฯ จึงได้จัดทำโครงการ “ผู้พิทักษ์เด็ก” ขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการดูแลปกป้องคุ้มครองให้เด็กได้รับความปลอดภัย ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมตามวัย ตามพัฒนาการและสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรจะได้รับตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม  ได้แก่ กิจกรรม#เราคือผู้พิทักษ์เด็ก ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การพิทักษ์เด็กในวิถีของคุณบนโซเซียลมีเดีย   กิจกรรมอาสาสัญจรพัฒนาเด็ก เสริมทักษะชีวิต ทักษะสังคม ทักษะความปลอดภัยให้กับเด็กในพื้นที่ชุมชนต่างๆ   และกิจกรรม“รวมพลผู้พิทักษ์เด็ก”  ซึ่งมีประชาชนทั่วไป อาสาสมัครและเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านเด็กและครอบครัว มาร่วมงานกว่า 200 คน

ภายในงานมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มาเป็นอาสาสมัครพิทักษ์เด็ก อาทิ การสร้างสรรค์สื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก เพื่อนำไปมอบให้ชุมชนภายใต้การดำเนินงานชุมชนคุ้มครองเด็ก และการเปิดรับบริจาคหนังสือนิทานและหนังสือสำหรับเด็ก เพื่อจัดเป็นถุงนิทานให้น้อง แล้วนำไปส่งมอบให้กับเด็กๆที่ด้อยโอกาส จำนวน 100 ถุง     การเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนมาแสดงความสามารถทางด้านดนตรี และพลังจิตอาสา  ตัวอย่างเช่น เด็กนักเรียนชายจากโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก มาเปิดบูธขายน้ำแข็งใส  มีการนำเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้มือสองที่ประชาชนทั่วไปร่วมกันบริจาคมาจำหน่ายเพื่อหารายได้มอบให้มูลนิธิฯนำไปช่วยเหลือน้องๆที่ถูกทารุณกรรมต่อไป

ไฮไลท์ภายในงานคือช่วงเสวนา “ผู้พิทักษ์เด็ก คุณก็เป็นได้”  เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ อาทิ รศ.อภิญญา เวชยชัย นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และประธานกรรมการ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข คุณประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสื่อสาธารณะศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก  โรงพยาบาลรามาธิบดี      และคุณวาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โดยเน้นประเด็นสถานการณ์ปัจจุบัน  และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมในฐานะผู้พิทักษ์เด็กในมิติด้านความปลอดภัย ด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ฯลฯ

รศ.อภิญญา  เวชยชัย นายกสภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์  และประธานกรรมการ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก  กล่าวว่า “สถานการณ์เด็กมีหลายอย่างที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ปัญหาเด็กตั้งครรภ์ไม่พร้อม เด็กหนีออกจากบ้าน เด็กมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ถ้ามองปัญหานั้นในซึ่งเป็นส่วนที่โผล่พ้นภูเขาน้ำแข็งจะพบว่า ปัญหานั้นไม่ใช่ปัญหารากฐานแต่สิ่งที่พบคือ ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว เด็กที่มีความขัดแย้งกับพ่อแม่ พ่อแม่ที่มีความขัดแย้งระหว่างกันและกันเอง ปัญหาความสัมพันธ์ไม่เหมาะสม ไม่ใช่เรื่องของความไม่เข้าใจกันเท่านั้น แต่ว่าเป็นปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อกัน ซึ่งไม่ใช่ความรุนแรงทางด้านร่างกายที่ทำให้เราเห็นได้แจ่มชัดเท่านั้น แต่มีความรุนแรงที่เกี่ยวกับทางอารมณ์ จิตใจ ที่ผ่านการใช้วาจาถากถาง เหยียดหยาม ตำหนิ ประณาม จนทำให้เด็กสูญเสียพลังชีวิตของตนเองลงไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดแล้วกลายเป็นตราบาปประทับอยู่ในตัวเด็กไปตลอด มันคือเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีทั้งการล่วงละเมิดทางเพศจากบุคคลภายนอก  แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การล่วงละเมิดทางเพศจากบุคคลในครอบครัวของตัวเด็กเอง เมื่อเด็กเผชิญหน้ากับถูกล่วงละเมิดทางเพศ เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองมีตราประทับ มีมลทิน ประทับตัวเองตลอดเวลาแล้วการรับรู้สิ่งต่างๆเหล่านี้มีผลกับเด็กที่จะดึงเด็กสู่กับดัก ที่เห็นแต่ความบกพร่องของตนเอง ไม่เพียงมีแต่จะกระทำซ้ำกับตนเองเท่านั้น  เด็กยังมีความหวาดกลัวและไม่รู้จะนำปัญหาไปพูดคุยกับใครบ้าง ในสถานการณ์ที่เจอปัญหามากมาย รากฐานของมันคือ ประเด็นปัญหาของครอบครัว ซึ่งครอบครัวแต่ละครอบครัวที่เป็นหน่อของปัญหาก็มักเป็นครอบครัวที่เผชิญหน้ากับความรุนแรงมาก่อน กลายเป็นวงจรที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน แล้วส่งทอดต่อไปเรื่อยๆ ผลจากตรงนี้นำไปสู่การที่เราจะเห็นเด็กทำร้ายตนเอง เด็กสูญเสียทุกอย่างแล้วก็นำตัวเองไปสู่พื้นที่บางอย่าง ซึ่งทำให้ตนเองมีปัญหามากขึ้น ปัญหานี้ไม่เลือกชนชั้น”

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เสริมว่า “การสำรวจเมื่อหลายปีที่ผ่านมาเรื่องความกังวลใจของพ่อแม่เมื่อต้องส่งลูกไปโรงเรียน สิ่งที่พ่อแม่กังวลมากที่สุด 3 อันดับ คือ 1.กลัวมากเลยว่าลูกจะไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เราไม่รู้ว่าลูกไปโรงเรียนหลังเลิกเรียนก่อนกลับบ้าน มีใครเข้ามาทำให้ลูกเราไปยุ่งวุ่นวายกับเรื่องยาเสพติด  2.กลัวโดนเพื่อนแกล้ง bully ตอนนี้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะบนอินเตอร์เน็ต  โซเซียล แปลว่าพ่อแม่เริ่มสัมผัสได้ว่าบางครั้งลูกลับมาบางครั้งลูกมีปัญหาถูกกลั่นแกล้ง เป็นชีวิตที่เค้าออกไปเผชิญอยู่ตามลำพัง  3.เรื่องเพศ กลัวว่าคนอื่นมากระทำต่อลูก กลัวว่าลูกเราจะเข้าสู่การมีปัญหาเรื่องทางเพศ แปลว่าสถานการณ์พวกนี้ยังรุนแรงอยู่ในสังคมของเรา และซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ”

ทางด้านคุณประจวบ ผลิตผลการพิมพ์ เจ้าหน้าที่สื่อสาธารณะ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก   โรงพยาบาลรามาธิบดี  กล่าวว่า “ในฐานะที่ทำงานด้านความปลอดภัยของเด็ก เวลานี้สถิติ20ปีที่ผ่านมาเด็กที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมีส่วนลดน้อยลง ลดลงไม่มาก แต่เด็กที่เสียชีวิตจากความรุนแรงกลับเสี่ยงขึ้น 20% ความรุนแรงมีทั้งเด็กฆ่ากันเอง พ่อแม่ฆ่าลูก อย่างที่เป็นข่าวครั้งใดก็ดังขึ้นเมื่อนั้น สังคมก็เกิดตระหนก แต่อยากให้ตระหนักด้วย ไม่เช่นนั้นปัญหาก็ไม่จบ แก้กันซ้ำซาก อยากให้เอาใจใส่กว่านี้  ผู้พิทักษ์เด็กคนแรกก็คือ ตัวเราเอง เราพิทักษ์ลูกเราได้หรือยัง ก่อนที่เราจะพิทักษ์เด็กในสังคมนี้ ขอให้เริ่มที่พิทักษ์ลูกเราก่อน คำว่าพิทักษ์ เราไม่ใช่พิทักษ์ลูกจนสปอย จนลูกทำอะไรไม่ได้เลย ลูกควรมีภูมิต้านทานที่เข้มแข็ง ดังนั้นคนเป็นพ่อแม่หรือตัวเรา ควรจะเป็นพื้นที่แห่งความปลอดภัยของลูก”

สำหรับคุณวาสนา เก้านพรัตน์  ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวเสริมถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงว่า  “ ทำอย่างไรที่จะทำให้คนในสังคมรู้ว่า เรายอมไม่ได้ที่จะให้เกิดเหตุขึ้นกับเด็ก เราต้องจัดการอะไรบางอย่าง อย่างน้อยที่สุดต้องแจ้งเหตุ  ถามว่าคนในสังคมรู้มั้ยว่าต้องแจ้งใคร สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือ การแจ้งเรื่องผ่านเฟสบุ๊ค ด้วยการโพสต์ภาพและชื่อของเด็ก เช่น เด็กถูกทำร้าย ครูหวังดีเปิดเสื้อเด็กถ่ายรูปทั้งด้านล่างและด้านบน ถ่ายมาสี่ภาพแล้วโพสต์ลงไปว่าขอให้มีการดำเนินการช่วยเด็กคนนี้ด้วย นี่แสดงว่าเขาไม่รู้ว่าจะต้องแจ้งใครถึงจะทำให้เด็กได้รับการช่วยเหลือ ความหวังดีจะกลายเป็นการทำร้าย คนในสังคมเมื่อรู้ก็จะเริ่มแชร์ต่อๆกัน โดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะเกิดผลกระทบกับเด็ก ถ้ารู้ช่องทางว่าต้องแจ้งใคร  อย่างน้อยที่สุดต้องแจ้ง 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม หรือแจ้งมาที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196   แต่เรื่องพวกนี้คุณต้องรู้ว่าจะจัดการปัญหาอย่างไร   นี่เป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่า คนในสังคมหลายๆเรื่องยังไม่รู้ว่าจะตอบสนองต่อปัญหากับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างไร การเป็นผู้พิทักษ์เด็ก มีเพียงใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความรู้ และทักษะในการจัดการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธีและเหมาะสม”

ในส่วนการเสวนารอบที่ 2 “เราคือผู้พิทักษ์เด็ก” โดยการแบ่งปันประสบการณ์การเป็นผู้พิทักษ์เด็ก จากคุณประสาน   อิงคนันท์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท บุญมีฤทธิ์ มีเดีย จำกัด คุณกำแหง  นิลกำแหงเจ้าของร้านจักรยาน Let’s Bike เจ้าของร้านจักรยานที่อาสาจัดกิจกรรมปั่นเพื่อเด็กและสังคม  (น้ำท่วม / NEPAL) คุณสุฐิตา ปัญญายงค์ หรือ นิหน่า ผู้ประกาศข่าวช่อง 7 บทบาทใหม่ในฐานะคุณแม่ผู้พิทักษ์เด็ก คุณวราภรณ์ สมพงษ์   หรือ กระเต็น ผู้ประกาศข่าวช่อง 3 จัดกิจกรรมระดมของเล่นเพื่อเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งทุกท่านร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของตนเอง

คุณประสาน อิงคนันท์ ในฐานะผู้ผลิตรายการที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนฝากข้อคิดว่า “มุมมองหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญมาก ต่อให้เด็กไม่ใช่ลูกของเรา  เราต้องไม่ลืมว่าเด็กคือสมบัติของชาติถ้าเราคิดว่านั่นลูกเค้า เราจะไม่กล้ายุ่ง  อย่างปัญหาในครอบครัว เวลาผู้หญิงถูกทำร้ายในที่สาธารณะ เราจะคิดว่านั่นเมียเค้า เราจะไม่กล้ายุ่งจะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของเรา กรณีแบบนี้ก็เหมือนกัน ผมเลยคิดว่ามุมมองอาจจะต้องไม่มองว่านั่นลูกเค้าหลานเค้า อาจจะต้องมองว่าเป็นลูกหลานของคนในชุมชนต้องมองอย่างนี้มากกว่า”

คุณกำแหง นิลกำแหง หรือโกโร่  “ผมเชื่อว่าทุกคนมีพลังพิเศษที่จะพิทักษ์เด็ก พิทักษ์สังคม โดยมีวิธีการแตกต่างกันไป อาจจะไม่สามารบอกได้ว่าวิธีไหน คุณต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ตัวผมคิด 4สเตปในการที่จะเข้ามาสู่การเป็นขบวนการผู้พิทักษ์เด็ก คือ 1. เปลี่ยนความคิดก่อน เราทุกคนเป็นผู้พิทักษ์ได้ไม่ใช่เรื่องยากไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเราเป็นผู้พิทักษ์ได้ เราทำได้ 2. หาสิ่งที่เราน่าจะทำได้ ด้วยการพูดคุยสอบถามจากคนทำงาน 3.ก็คือว่าจุดเริ่มต้นที่เรามี ต้นทุนที่เรามีมันน่าจะสร้างสรรค์ทำเป็นอะไรได้สำหรับเป็นผู้พิทักษ์ และ 4. อย่าลืมกระจายข่าว แชร์ให้ทุกคนรับรู้ร่วมกัน”

คุณวราภรณ์ สมพงษ์ หรือ กระเต็น “จริงๆการพิทักษ์เด็กก็คือการพิทักษ์ตัวเราเองนั่นแหละเพราะว่าเด็กก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม โตมาก็เป็นสังคมแล้วเราก็ยังอยู่ในสังคมนั่นแหละ จริงๆเรามองเด็กเราก็คงเห็นตัวเองอยู่ในเด็กว่าช่วงเวลาที่เค้าเป็นเด็ก 2 ขวบ3 ขวบ ความเป็นเด็กของเค้า เรารู้อะไรว่าช่วงเวลาแบบนั้นเราชอบอะไร เราไม่ชอบอะไร แล้วเราต้องการความช่วยเหลือแบบไหน เวลาที่เราตกอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ เพราะฉะนั้น ด้วยความที่เราเป็นผู้ใหญ่แล้วเนี่ย เรามองแป๊บเดียวก็รู้แล้วว่า เราสามารถทำอะไรให้เด็กได้ในภาวะต่างๆกัน เด็กบางคนต้องการความช่วยเหลือ เด็กบางคนต้องการการเติมเต็ม เด็กบางคนอาจแค่ต้องการให้เราไปยิ้มให้เค้าเท่านั้นเอง ไม่ต้องการอะไรเลย ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ก็จะบอกว่าสามารถเป็นผู้พิทักษ์เด็กได้ทุกคนไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่แค่โตกว่าก็ดูแลคนที่อายุน้อยกว่าได้ สามารถช่วยกันได้ง่ายๆ ก็คือ รับรู้ กดแชร์ มากกว่านั้นก็คือลงมือ”

คุณสุฐิตา ปัญญายงค์ หรือ นิหน่า “สำคัญที่สุดเริ่มที่บ้าน เราจะเป็นผู้พิทักษ์เด็กทั้งโลกก็ได้ แต่อย่าลืมเด็กที่บ้านของเรา คนที่เป็นแม่ นิหน่าค่อนข้างใส่ใจรายละเอียด พอมีลูก เมื่อก่อนไม่เคยสนใจนะ เด็กก็คือเด็ก ก็เหมือนคนทั่วๆไปไม่ได้สนใจอะไรเลย  พอมีลูกของตัวเอง การเลี้ยงลูกให้เติบโตมาเป็นคนคุณภาพของสังคม เป็นเรื่องที่ยากมาก ตรงที่โลกของเค้าที่เค้าอยู่เด็กที่เกิดมา 3 ปี เราจะเอาความคิดของผู้ใหญ่ไปใส่ไม่ได้  เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราต้องพิทักษ์หัวใจเค้าก่อน พอหัวใจเค้าแกร่ง แต่เค้ามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ มีครอบครัวที่อบอุ่น  เส้นทางต่อไปเวลาเค้าไปเจอปัญหา  ไปเจอปัญหายาเสพติด ปัญหาทางเพศ อย่างน้อยเค้าจะมีเส้นใยบางๆที่รู้สึกว่าพ่อกับแม่คือบุคคลสำคัญ ”

โครงการ “ผู้พิทักษ์เด็ก” นับว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเฉพาะกับเด็กๆ เพราะเป็นการกระตุ้นเตือนให้บุคคลที่อยู่แวดล้อมเด็ก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครู คนในชุมชน หรือคนในสังคม ได้เกิดความตระหนักต่อบทบาทหน้าที่ของตนมากยิ่งขึ้น ประการสำคัญ โครงการนี้มิได้เรียกร้องให้ผู้คนมาเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ที่ตนเองเป็นอยู่ในขณะนี้เพื่อจะเป็นผู้พิทักษ์เด็ก  แต่ต้องการให้คุณเป็นผู้พิทักษ์เด็กตามวิถีที่คุณเป็นอยู่ในปัจจุบัน นั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำอาชีพอะไร หรืออยู่ที่ไหน ก็สามารถที่จะทำหน้าที่ของการเป็น “ผู้พิทักษ์เด็ก “ได้ในด้านการช่วยเหลือ ปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมพัฒนาเด็ก

สนใจสมัครมาเป็นอาสาสมัครผู้พิทักษ์เด็กกับมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กได้ใน 4 แบบคือ 1. แจ้งเหตุเมื่อพบเด็กถูกทำร้าย 2. แบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ 3. อาสาสัญจรพัฒนาเด็กในชุมชน  4. อาสาระดมทุน  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทรศัพท์0-2412-0738     FB :มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก หรือ www.thaichildrights.org

ชมภาพกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/cpcr.cpcr/posts/278567165837951 

ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่ให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ ได้แก่
– ห้างสรรพสินค้าเอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ งามวงศ์วาน-แคราย (สนับสนุนสถานที่ในการจัดงาน)
– ห้างหุ้นส่วนสามัญ ชัยวัฒนา (สนับสนุนอุปกรณ์กิจกรรม เป็นมูลค่า 3,000 บาท)
– โครงการอาหารกลางวัน 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต หรือ ครัวสวนดุสิต (สนับสนุนอาหารกลางวัน จำนวน 100 กล่อง)
– ร้านหมูทอดเจ๊จง (สนับสนุนอาหารกลางวัน จำนวน 100 กล่อง)
– บริษัท วาล์วน้ำไทย จำกัด (สนับสนุนน้ำดื่ม จำนวน 300 ขวด)
– 7-11 (สนับสนุนเบเกอรี่และเครื่องดื่ม จำนวน 200 ชุด)
– Muse Music Academy (สนับสนุนการแสดงดนตรีจากเด็กและเยาวชนของโรงเรียน)
– วิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการราชดำเนิน (สนับสนุนอาหารเช้าจำนวน 60 กล่อง)
– บริษัท อังกฤษตรางู (แอล.พี.) จำกัด (สนับสนุนแป้งเย็นขนาด 50 กรัม 432 กระป๋อง)

และส่วนหนึ่งของผู้สนับสนุนบริจาคอุปกรณ์สำหรับทำสื่อเสริมพัฒนาการสำหรับเด็ก หนังสือสำหรับเด็ก และอื่นๆสำหรับงานในวันนั้น

คุณพุทธพร จันทร์ศิริพรชัย,คุณชญานี บัวแก้ว,คุณวันทนา พัฒนาสุชัย,คุณปุณยวีร์ นิธิฬารพงศ์,เจ้าหน้าที่IA,ME,สนย,IV,ชั้น 5 สนง.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.),บริษัท ไฟฟ้าชัยมงคล จำกัด,คุณนิยดา (นนทบุรี),คุณพิมลรัตน์ ธรรมรัตน์,คุณจิรบุญนี อิศรางกูร ณ อยุธยา,คุณระวรวรรณ (สงขลา),คุณพรทิพย์ พิทักษ์ธรรม,คุณพัชรินทร์ เพชรวีโรจน์ชัย,คุณชฏารัตน์ อามระดิษ,คุณปนัดดา ชวกิตากูล,คุณดวงดาว (ลาดพร้าว กทม.),คุณเฉลิมพร ยาสาธร,คุณประทุม มั่นคง,คุณปรีชา กอเจริญ,คุณกิตยา สันตินานาเลิศ,คุณสุภาภรณ์ อภิชัยเสถียรโชติ,คุณภารดี แสงระยับ,มูลนิธิมายา โคตมี,คุณนารีรัตน์ ศรีวิภาสถิตย์,คุณอัมพร บริบูรณ์,คุณกนกพรรณ พันธุ์เจริญ,เด็กชายจอมจุล ภัทรพลภฤศ,คุณอลิสา วิภวพาณิชย์,บ.คิงส์เมน ซี.เอ็ม.ที.ไอ.จำกัด (มหาชน),คุณสมพิศ (ทุ่งครุ กทม.),คุณบุรัสกร ทรัพย์สุพรรณ,คุณอารีย์เพ็ญ เพียมูลคุ,คุณดวงมณี สมบัติพิบูลสิทธิ(เด็กหญิง เขมจิรา รัชตากร),คุณพรพรรณ พิมชิทอง,คุณกานพลู ตั้งศรัทธา,คุณวรรณนรินทร์ เอี่ยมสอาด,คุณริตติกาล อิิองละ,คุณดวงกมล (พญาไท กทม.),คุณศศิธร สิทธิพรหม,คุณนิยดา หวังวิวัฒน์ศิลป์,คุณคงคา สกุลมงคล,คุณนิรชราภา ลิปิกรณ์,ร้านน้องใหม่ พหลโยธินเพลส ,เครือข่ายนักเรียนและผู้ปกครองโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก,สวนีย์ ปิติศิริวริศธนาและเพื่อน

ภาพสวยๆจากอาสาช่วยถ่ายภาพ คุณท๊อป(FB:Chaiyot Suwattikul) และคุณเต๋า(FB:Chairat Rodprasit) และคุณขนิษฐา ไม้ตะเภา

ทางมูลนิธิฯ ต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมทุกท่านไม่ว่าจะทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทั้งที่ได้เอ่ยนามและไม่ได้เอ่ยนาม….ไว้ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ ผู้พิทักษ์เด็กคุณก็เป็นได้

อัลบั้มภาพ

: 285