ความสุขของคุณคืออะไร?…

สำหรับคนทำงานกับเด็ก “ความสุข” นั้นสำคัญมาก เพราะหากเราทำงานด้วยความสุข ทำด้วยความรักและสร้างสรรค์  พลังงานดีๆจะส่งผ่านสู่เด็กและครอบครัวที่เราช่วยเหลืออย่างแน่นอน

หลายครั้งจากการปฏิบัติงานเพื่อบำบัดฟื้นฟูเด็กและครอบครัวที่มีปัญหาสุขภาพจิตรุนแรงและซับซ้อน  นำมาซึ่งการส่งผ่านอารมณ์ความรู้สึกจากเด็กและครอบครัวมาสู่ผู้ปฏิบัติงาน หรือแม้แต่ส่งผ่านจากผู้ปฏิบัติงานสู่เด็กและครอบครัว  ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้  แต่ต้องรับรู้อย่างมีสติ  ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ เศร้า จากการรับฟังความเจ็บปวดทุกข์ใจมากมายของเด็กคนแล้วคนเล่า ต่อเนื่องเป็นมายาวนานหลายปี

การฟังเรื่องราวเลวร้ายของเด็กที่ประสบปัญหาจากการถูกทารุณกรรมนั้นส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและวิถีชีวิตของผู้ปฏิบัติงานได้ เช่น สร้างความสะเทือนใจ เศร้า เห็นอกเห็นใจ เครียด กลัว กังวล โกรธ อารมณ์แปรปรวน  นอนไม่หลับ หงุดหงิด ขนลุก ตัวร้อน กินมากขึ้น ฯ

สิ่งเหล่านี้อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติด้านนี้มีอัตราการลาออกบ่อยๆ เพราะการทำงานบำบัดฟื้นฟูเด็กและครอบครัวนั้นเราต้องทุ่มเทร่างกาย อารมณ์ จิตใจ ใช้ตัวตน ใช้พลังของเราเป็นเครื่องมือทำงานเพื่อมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงของเด็กและครอบครัว

อย่างไรก็ตามงานอันทรงคุณค่านี้ยังคงอยู่ และมีผู้ปฏิบัติงานบางส่วนที่ยังอยู่ด้วย ความรักและศรัทธากับการเป็นผู้ให้ เป็นผู้ช่วยเหลือ โดยตั้งเป้าหมายไว้ในใจลึกๆว่าจะอยู่อย่างไรให้คนอื่นได้รับประโยชน์จากตัวเรา และตัวเราก็ต้องอยู่ให้รอดพ้นจากภาวะเจ็บปวดทุกข์ใจจากการเป็นผู้ช่วยเหลือผู้ที่มีบาดแผลทางใจ

มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กได้ตระหนัก และเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคน  มีโอกาสเสริมสร้างพลังให้ตัวเองด้วยการใช้ศิลปะบำบัด  ผ่านโจทย์ “ปั้นความสุข” ของตนเองด้วยดินเหนียว ตกแต่งระบายสี นำผลงานมาจัดวางบนกระดาษวงกลมแผ่นใหญ่ ซึ่งเปรียบเสมือนชุมชนเดียวกัน สื่อสารเชื่อมโยงไปยังผู้อื่น โดยเน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม มีพื้นที่ ขอบเขตในการแสดงออกอย่างไม่ชี้นำ

ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ได้แบ่งปันสื่อสารความสุขของตนเอง เช่น การปล่อยวาง การท่องเที่ยว การนอน การชมภาพยนตร์ที่ชอบ การกินของอร่อย การอยู่กับครอบครัว การชื่นชมธรรมชาติ การคิดถึงคนสำคัญในครอบครัว ฯ กิจกรรมทำให้ได้ทบทวนชีวิตของตนเองว่าจริงๆแล้วอะไรคือความสุขที่แท้จริงของแต่ละคน  นำมาสื่อสารบอกเล่าและสะท้อนสู่การพัฒนาตัวตน ซึ่งนอกจากการนำไปใช้กับเด็กและครอบครัวกลุ่มเป้าหมายแล้วยังสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตของตนเองและครอบครัวได้

ไม่เพียงการใช้ศิลปะบำบัดเพื่อดูแลตัวเอง ผู้ปฏิบัติงานของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กหลายคนมีแนวทางในการดูแลตนเองที่แตกต่างกันไปตามความสนใจ  เช่น การวิ่งออกกำลังกาย การปฏิบัติธรรม ทำงานจิตอาสา ทำเกษตร  ทำอาหารสุขภาพ ท่องเที่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงามฯ เพื่อสร้างสมดุลสุขให้ตัวเองและส่งผ่านความสุขสู่เด็กและครอบครัวต่อไป

อัลบั้มภาพ

: 285