ศิลปะเข้าถึงทุกมิติ กับโครงการค่ายกลางวันพัฒนาเด็กเร่ร่อนเรื่อง “ศิลปะกับการพัฒนาตนเอง” โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.)ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคลและอาสาสมัครเครือข่ายในพื้นที่ (เมอร์ซี่) และทีมนักบำบัด ฝ่ายบำบัดฟื้นฟูเด็กและครอบครัว ของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ความประทับใจเกิดขึ้นตั้งแต่วินาทีแรกที่ พบเห็นสมาชิกค่ายคนแรก เด็กเร่ร่อนหลายคนมีน้ำใจ เดินข้ามถนนเพื่อมาช่วยขนอุปกรณ์ค่าย มีคนหนึ่งที่เดินมาแล้วแต่หยุดชะงักยืนยิ้มอยู่ริมฟุตบาธข้างถนนราวต้องมนต์สะกด แล้วค่อยๆเดินมาใกล้ๆจ้องที่ใบหน้าพวกเรามากกว่าเด็กทุกคน  แล้วใช้ภาษาท่าทางทักทาย  แล้วยกนิ้วโป้งให้  ยิ้มและขอเช็คแฮนด์

บรรยากาศภายในค่าย แม้เด็กเร่ร่อนหลายๆคนจะง่วงนอน เหนื่อย และไม่พร้อมในการเข้าร่วมกิจกรรม แต่ทุกคนก็พยายามเข้าร่วมให้มากที่สุด เด็กบางคนบอกว่า “ไม่เคยเรียนแบบนี้  ศิลปะบำบัดนี่ดีที่ไม่มีบังคับ ไม่มีด่าทอต่อว่า หรือทำให้รู้สึกไม่ดีเลย พวกพี่ดูแลดีและไม่รังเกียจพวกเราเลย”  เด็กๆอาจขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานสำคัญๆในชีวิต  แต่พวกเขามีศักยภาพ มีความต้องการ

ได้ยินเสียงเด็กๆหัวเราะร่วมกันด้วยความสุข  ได้ปลดปล่อยระบายอารมณ์ความรู้สึกทั้งด้านดีและไม่ดีออกไป  ได้เล่นได้ทดลองอุปกรณ์ใหม่ๆ  เปลี่ยนมุมมองไปในเชิงสร้างสรรค์  ผลงานของเด็กมีพลังมาก  กล้าคิดกล้าทำ บางคนวาดไปเต้น B-boy ไปในผลงานอย่างสนุกสนาน  การสื่อสารบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกจากผลงานแม้จะยากแต่เด็กก็พยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

“ใบ้” เด็กชายผอม สูง ผิวคล้ำ ยิ้มเก่ง ใจดี ขี้เล่น ชอบเล่นกับเด็กเล็กๆ และช่วยเหลือทุกคน ใช้ภาษามือกับเสียงออแอ้สื่อสารกับทุกคนในกลุ่ม  ใบ้ตั้งใจเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดทุกขั้นตอนด้วยความสุข  ช่วงพักจะสังเกตเห็นเด็กอาสาดูแลและใส่ใจผู้อื่นเสมอ  คอยหยิบข้าว หยิบน้ำ กระดาษทิชชูมาให้   บุ้ยใบ้ให้กินข้าวให้หมด  ข้าวหกเม็ดสองเม็ดก็ชี้ให้เก็บทิ้ง

ช่วงท้ายกิจกรรมศิลปะแมนดาล่า  ใบ้ยกผลงานให้แก่พวกเราทีมวิทยากร  เราขอบคุณเด็กชื่นชมความมีน้ำใจและชื่นชมผลงานที่ทำด้วยความตั้งใจและนำภาพแมนดาล่าหัวใจคืนกลับไปแนบที่อกตรงบริเวณหัวใจของใบ้ เพื่อบอกว่าเก็บรักไว้ในหัวใจตัวเองเช่นกันนะ ใบ้ยิ้มและรับไว้ด้วยความสุข  ตอนแยกย้ายกันกลับจากค่าย  ใบ้ยังมีน้ำใจดีได้หนังสือศิลปะแจกฟรีของเพาะช่างที่มีเด็กศิลป์มาเรียนวาดรูปในสวนกัน  มาให้พวกเราได้อ่านด้วย

ชีวิตเราเกิดมาล้วนแตกต่าง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ  ทุกคนมีความรัก ความเมตตาส่งใจถึงใจให้กัน เพื่อก้าวข้ามทุกความแตกต่างได้เสมอ

กิจกรรมศิลปะพัฒนาตัวตนเด็กเร่ร่อน ที่สะพานพุทธ ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า เด็กทุกคนล้วนมีศักยภาพในตัวตนของเขา แม้ว่าขาดแคลนต้นทุนและโอกาสก็ตาม และภาษากายนั้นช่างทรงพลังกว่าภาษาพูดเสมอ  พวกเรานักบำบัด ยกมือไหว้  ยกนิ้ว ส่งสีหน้า ท่าทาง แววตาชื่นชมเด็กด้วยภาษากาย ที่ส่งถึงใจได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าการใช้คำพูดใดใด เราสัมผัสกันได้ด้วยใจ และศิลปะบำบัดที่นำพาเรามาพบความสุขครั้งนี้ร่วมกัน

ผู้เขียน : สายใจ ศรีลิ้ม นักศิลปะบำบัด

ฝ่ายบำบัดฟื้นฟูเด็กและครอบครัว มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

: 285