ทุกวันนี้เราจะเห็นพลังของคนในสังคมที่เริ่มตื่นตัว ตระหนักและมีส่วนร่วมต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมากขึ้น เช่น เมื่อเหตุเกิดพ่อแม่หรือผู้ปกครองทำร้ายเด็กอย่างรุนแรง เพื่อนบ้านหวังดีอยากช่วยเด็ก โพสต์คลิปลงในสื่อออนไลน์มีการแชร์ ส่งต่อไปยังหน่วยงานเพื่อขอความช่วยเหลือเด็ก จนเด็กได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที  คำถามที่ตามมาคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กเกิดความตระหนัก ใส่ใจ และมีจิตสำนึกที่มากขึ้นในการดูแล ปกป้องคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัย มากกว่าการทำร้ายเด็กด้วยความรุนแรง

ทีมงานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้รู้  “คุณสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์”  ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการทำงานเพื่อเด็กมากว่า 30 ปี และเคยได้รับตำแหน่ง กรรมการสิทธิเด็กสหประชาชาติ  นอกจากนี้ยังเป็นผู้ผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และเป็นผู้ให้คำปรึกษา คำแนะนำเกี่ยวกับการทำงานคุ้มครองเด็กให้กับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมอีกจำนวนมาก  ซึ่งคุณสรรพสิทธิ์ มีข้อแนะนำที่ประโยชน์ต่อการสร้างจิตสำนึกในการปกป้องคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัย สิ่งสำคัญคือ คนที่ดูแลเด็ก จะต้องปรับความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับเด็ก ใน 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

  1. ความผูกพันที่มั่นคง (Secure Attachment)
  2. ความไว้วางใจ/ความเชื่อใจ (Trust)
  3. ความสามารถเข้าใจและรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นในสถานการณ์ต่างๆ (Empathy) ซึ่งจะมีวิธีการอย่างไรนั้นติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ข้างล่างนี้…

CPCR :  เราจะมีวิธีการสร้างจิตสำนึกให้บุคคลที่อยู่แวดล้อมเด็ก ปกป้องคุ้มครองเด็กได้ด้วยวิธีใดบ้างคะ?

คุณสรรพสิทธิ์ :  “ความสำนึกในการปกป้องคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัย ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการรับรู้ด้วยคำพูดจากใคร และไม่สามารถทำสื่อไปกระตุ้นให้เกิดความสำนึกตรงนี้ได้โดยตรง ช่วยได้บ้าง แต่ไม่มาก แต่จุดที่จะช่วยได้ เขาจะต้องปรับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเค้ากับเด็ก ใน -3 เรื่องด้วยกัน ถ้ามี 3 เรื่องนี้เค้าจะดิ้นรนหรือใฝ่หา ไขว่คว้าอะไรก็ตามที่จะทำให้เด็กปลอดภัยและเด็กได้รับสิ่งที่ดีที่สุดของเด็ก  3 ประเด็น คือ 1.ความรักความผูกพันที่มั่นคง (Secure Attachment)  2.การมีความไว้วางใจ เชื่อใจ (Trust) ถ้าเด็กเชื่อใจว่าเมื่อใดก็ตามที่เค้าเกิดปัญหาหรืออยู่ในความเดือดร้อน หรือในความยากลำบากใดก็ตาม บุคคลแวดล้อมจะเข้ามาช่วยคลี่คลาย ช่วยดูแลปกป้องเขาจากอันตรายทั้งหลายถ้ามีอย่างแน่นอน  ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ ผู้ปกครอง บุคคลแวดล้อมเด็ก ต้องมีความเชื่อมั่นว่าเด็กสามารถจะพัฒนาตนเองขึ้นมาได้เหมือนกัน โดยบุคคลแวดล้อมสามารถกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการ แต่ไม่ใช่เป็นคนไปพัฒนาเขา เด็กต้องพัฒนาตนเอง   3. มีความสามารถในการเข้าถึงและรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นในสถานการณ์ต่างๆ (Empathy)  ถ้าพ่อแม่ บุคคลแวดล้อมเด็กเห็นลูกกลับมาจากโรงเรียน ท่าทางหน้าตาไม่มีความสุข เคร่งเครียดไม่ยอมพูดคุยเหมือนปกติ ไม่ยอมสื่อสารเหมือนปกติ เขาต้องแน่ใจและรู้ว่าขณะนี้เด็กกำลังตกอยู่ในอารมณ์อะไรที่ไม่ปกติ เค้าควรค้นหาสาเหตุ”

CPCR :  ทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิด 3 เรื่องนี้?

คุณสรรพสิทธิ์ : “การใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับเด็ก มีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของเด็ก ช่วยสร้าง 3 ประเด็นนี้ขึ้นมาได้ ประเด็นที่1 เรื่องความผูกพันที่มั่นคง เกิดจากการดูแลเอาใจใส่ (Care) จุดแรกที่ต้องดูคือ การดูแลในชีวิตประจำวัน การสร้างหลักประกันว่าเด็กจะปลอดภัย การเป็นที่พึ่งทางใจให้เด็ก การกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก การชี้แนะแนวทางชีวิต ไม่ใช่การสั่งสอน แต่มีนัยยะเดียวกับการกระตุ้นพัฒนาการ กระตุ้นให้เด็กรู้จักคิด ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญมากก็คือ ต้องปฏิบัติตัวต่อเด็กอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เด็กมีความมั่นคงทางจิตใจและอารมณ์ ไม่ใช่ว่าวันนี้ถูกหวยมาอารมณ์ดีเลิศ  วันนี้เสียหวย เสียเงินอารมณ์ไม่ดี สัมพันธภาพกับเด็กก็เปลี่ยนไปตามอารมณ์ของผู้ดูแล

การใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับเด็ก การช่วยเหลือดูแลเด็กในชีวิตประจำวัน รวมทั้งหลายประเด็นที่พูดไปแล้ว ต้องเป็นไปตามวัย เช่น การสร้างความผูกพันกับเด็ก โดยมีการสื่อสารกับเด็ก แบบการแสดงออกที่ดีมีความรัก ความผูกพันต่อเด็ก จะทำให้เด็กรักและผูกพันตอบ เช่นเดียวกันในทางที่ดี ตัวอย่างเช่น แม้แต่เด็กอยู่ในครรภ์ ถ้าอายุครรภ์ 5 เดือน ประสาทหูเริ่มทำงาน แนะนำให้บุคคลแวดล้อมซึ่งไม่ใช่แม่ พูดคุยกับเด็กในท้อง พูดคุยเพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับเสียงของคนๆนี้ และคุ้นเคยกับคนๆนี้ได้จากเสียง เพราะเสียงจะมีโทนเสียง จะแสดงถึงความอ่อนโยน ความแข็งกระด้าง ความนิ่มนวล ละมุนละไม จะอยู่ที่ลีลาการพูดการออกเสียง  เมื่อเป็นเช่นนี้เด็กจะได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ที่ดีจากคนที่มาพูดกับเค้าผ่านหน้าท้องของแม่ ตัวแม่เองเค้าก็จะรู้อยู่ตลอดเวลา ผู้หญิงเวลาตั้งครรภ์ ควรมีอารมณ์ดีทำตัวเองให้อยู่ในสภาพทางอารมณ์จิตใจที่ดี เพื่อไม่มีผลไปถึงตัวเด็ก ถ้าหากแม่เกิดความเครียดก็จะหลั่งฮอร์โมนความเครียด ฮอร์โมนความเครียดนี้ก็จะไปถึงเด็กในครรภ์ได้ผ่านสายสะดือ อารมณ์เครียดของแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 25 วัน อาจก่ออันตรายให้แก่การพัฒนาการของสมอง เพราะอายุครรภ์ 25 วัน เซลล์สมองเริ่มพัฒนาและอาการผิดปกติของเด็ก ADHD สมาธิสั้น ออทิสซึม เกิดจากช่วงที่ว่านี้ ไม่ได้เกิดจากอารมณ์เครียดของแม่อย่างเดียว เกิดจากแม่ได้รับสารพิษผ่านทางอาหาร อากาศ ทางน้ำ สารที่เป็นพิษภัยต่อสมอง ไม่ว่าจะเป็นสารเสพติด ชา กาแฟ บุหรี่ เหล้า ยากล่อมประสาท ฯลฯ ก็มีผล ตรงนี้เป็นประเด็นที่อาจจะต้องระมัดระวัง เป็นการสร้างความผูกพันตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์

เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว คนที่ไม่ใช่แม่เวลาไปอุ้มให้นม ก็ต้องอุ้มท่าเดียวกับที่แม่ให้นมลูก หน้าอกติดกัน ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกต่อกันผ่านการสัมผัส ที่สำคัญเมื่อเด็กอายุ 3 เดือนในตามีโฟกัสแล้ว จะมองเห็นสิ่งรอบตัวชัดเจน เป็นจุดที่ดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองหรือบุคคลแวดล้อมเด็กต้องมี eye to eye contact มองเด็กด้วยสายตาอ่อนโยน ด้วยสายตาที่แสดงความรัก พูดคุยด้วยน้ำเสียงเช่นเดียวกัน จะช่วยสร้างความผูกพันที่มั่นคงระหว่างเด็กกับบุคคลแวดล้อมเด็ก และก็ให้เกิดความไว้วางใจตามมาด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้เด็กก็จะไม่มีปัญหาเรื่อง self esteem

เด็กจะมีการพัฒนา self esteem ที่ดี มี identity ที่ดีทั้ง 2 ด้าน คือ มีความรู้สึกต่อตนเองในทางที่ดี (Sense of self ) และมีความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า (Self esteem) Sense of self ทำให้รู้สึกเกี่ยวกับตนเองในทางที่ดี เพราะว่ารู้สึกเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เป็นที่ต้องการของพ่อแม่และบุคคลแวดล้อมเด็ก  เด็กจะมีความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า คือ self esteem ถ้าเด็กมี 2 อย่างนี้ เด็กจะมีความสามารถในการฟื้นตัวจากความเสียหาย (resilience) ทุกเรื่องหรือสามารถจะผ่านพ้นวิกฤติ เด็กจะผ่านพ้นได้ เอาชนะได้ เขาจะผ่านได้หมด เพราะช่วงนี้เป็นช่วงพัฒนาการของสมอง ที่มีสมอง 3 ส่วน คือ ส่วนที่1 สมองส่วนหลังควบคุมอวัยวะต่างๆ คิดในลักษณะของสัญชาตญาณ กิน อยู่ ต่อสู้ หลบหนี มีคู่ มีลูก คิดในขอบเขตนี้ สมองส่วนที่สอง เป็นสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ จำได้หมายรู้ว่าอารมณ์นี้เป็นอย่างไร มีสิ่งที่มาเร้า มันจะเป็นอารมณ์อย่างไร จะมีฐานข้อมูลความจำเป็นว่าอารมณ์แบบนี้จะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร เช่น ถ้าโกรธก็อาจจะเข้าไปทำร้ายทุบตี กลัวก็หนี รักก็เข้าไปกอด เข้าไปคลอเคลียใกล้ชิด ยังมีสมองอีกส่วนคือ สมองส่วนหน้า เรียกว่า cerebral cortex สมองส่วนนี้เป็นส่วนที่ทำหน้าที่สลับซ้ำซ้อนมาก คือ คิดเป็นเหตุเป็นผลได้ วิเคราะห์วินิจฉัยปัญหาได้ จำแนกแยกแยะผิดถูกชั่วดีได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม ควบคุมตนเองได้ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าผู้ชายคนหนึ่งรักผู้หญิงคนหนึ่งมาก ถ้าใช้สมองส่วนกลางอย่างเดียวก็เข้าไปกอด แต่สมองส่วนหน้าก็บอกว่า เขารักตอบมั้ย จะละเมิดสิทธิเสรีภาพบุคคลมั้ย ต้องยับยั้งไว้ แม้ว่าอยากไปกอดเหลือเกินก็กอดไม่ได้

ในช่วงชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก แรกเกิด-6ปี จะเป็นช่วงชีวิตที่สมองส่วนกลางพัฒนาแบบก้าวกระโดด เมื่อสมองส่วนอารมณ์พัฒนาอย่างก้าวกระโดด สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่  Trust เกิดจากความเชื่อมั่นว่า พ่อแม่ต้องมาช่วยตัวเองเสมอไม่ทิ้งแน่นอนจะดูแลแน่นอน มาจากเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นที่รักและต้องการของพ่อแม่ เค้ามีคุณค่ากับคนอื่น แน่นอนว่าจะไม่ถูกทิ้ง มีความเชื่อมั่น  เด็กพวกนี้เวลาพ่อแม่ไปทำงานไม่ร้องตาม แต่เด็กที่พ่อแม่ไปทำงานแล้วร้องตาม อาละวาดจะตามไปให้ได้ ไม่ยอมให้ไป เป็นเพราะว่าเด็กมีลักษณะความสัมพันธ์กับพ่อแม่แบบ Insecure Attachment แล้วจึงมี mistrust ไม่เชื่อมั่นว่าพ่อแม่จะกลับมา ไม่เชื่อมั่นว่าพ่อแม่จะไม่ทิ้งตัว ไม่เชื่อมั่นว่าพ่อแม่จะต้องมาดูแล เวลาที่ตัวเองเกิดปัญหา เกิดความไม่มั่นใจขึ้นมา ตรงนี้เป็นตัวปัญหา การมีจิตสำนึกที่จะปกป้องคุ้มครองดูแลเด็ก มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการฟังใครพูดหรือเห็นสื่อ แต่มันเกิดจากการใช้ชีวิตร่วมกับลูกที่มีคุณภาพ

ประเด็นสำคัญถ้าบุคคลแวดล้อมเด็กมีความรู้ความเข้าใจได้สร้างพื้นฐานมาตั้งแต่ปฐมวัยต่อเนื่องมา และรู้เรื่องพัฒนาการตามวัยที่เปลี่ยนไป เขาจะต้องเริ่มกระตุ้นให้เด็กรู้จักเกี่ยวกับความปลอดภัย เขาจะต้องร่วมกับเด็กสำรวจตรวจตราว่ามีอะไรบ้างที่มีปัจจัยเสี่ยงอันตรายให้เด็กรู้จักเข้าใจและหลีกเลี่ยง ต้องร่วมกันกำหนดพื้นที่ปลอดภัย (safety zone)  ถ้าผู้ปกครองมีจิตสำนึกเขาจะเริ่มคิดถึงว่าพื้นที่แบบไหนที่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ไม่จำเป็นต้องให้เราไปบอก เขาจะขวนขวาย จะติดตามดูแลเองไม่ให้เด็กไปอยู่ในที่ลับหรือลำพัง หรือไปอยู่ร่วมกับผู้ใหญ่คนอื่นที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าจะมีปัญหาอะไรกับเด็กมั้ย ไม่ใช่เรื่องเพศเรื่องเดียวจะมีเรื่องทุบตีเรื่องอื่นอีกหลายเรื่อง เขาจะมีจิตสำนึกขึ้นมา โดยเฉพาะลูกสาวกับแม่จะมีจิตสำนึกเรื่องเพศมากเป็นพิเศษ การล่วงเกินทางเพศ พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเด็กผู้ชายสามารถถูกล่วงเกินทางเพศได้ เด็กผู้ชายก็มีความเสี่ยงที่จะถูกล่วงเกินทางเพศได้

เชื่อมโยงมาถึงเรื่องความปลอดภัยทางด้านเพศของเด็กที่จะไม่ถูกชักจูง ครอบงำทางเพศจากคนอื่น เมื่อเด็กกับผู้ปกครองมี empathy  trust ซึ่งกันและกัน เด็กจะสื่อสารกับผู้ปกครองตลอด เมื่อรู้สึกไม่มั่นใจ ถ้ามีใครพยายามครอบงำ ชักจูงเด็กในเรื่องเพศ เด็กจะสื่อสารกับพ่อแม่ผู้ปกครองทันที แน่นอนว่าปลอดภัย เราไม่ต้องไปห้ามเพราะเด็กจะสื่อสารเอง เนื่องจากมี 3 คำที่ว่า Secure Attachment,  Trust และ Empathy  แม้ว่าเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชายอยากมีเพศสัมพันธ์กับใคร ก็จะพยายามควบคุมตนเอง จากสมองส่วนหน้า พยายามหลีกเลี่ยง ควบคุมเท่าที่เค้าทำได้ แต่เราต้องสอนว่า ปัจจัยกระตุ้นเร้าทางเพศอะไรบ้างที่จะทำให้เค้าไม่สามารถควบคุมตนเองทางเพศได้  ต้องหลีกเลี่ยง

เมื่อเด็กเกิด empathy ถ้าไม่ได้ถูกปัจจัยกระตุ้นเร้า พอควบคุมตนเองได้ เค้าจะไม่ไปมีกิจกรรมทางเพศกับใคร เพราะเค้ารู้สึกว่าถ้าทำไปแล้ว พ่อแม่จะเดือดร้อน ถ้าเป็นเด็กผู้ชายอาจจะต้องคิดว่าเด็กผู้หญิงจะเดือดร้อน เกิดติดลูกขึ้นมาจะวุ่น เค้าก็จะไม่กล้าทำ เป็นประเด็นที่ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่า การเกิดความสัมพันธ์ที่ดี จะครอบคลุมทุกด้าน ทำให้เค้าสามารถดูแลให้ลูกพัฒนาไปตามครรลองที่ควรจะเป็นได้อย่าง 100%

เด็กวัยรุ่นตอนต้นหรือตอนปลายจุดสำคัญที่สุดอยู่ที่ ความปลอดภัยด้านเพศและอันตรายจากการทำอะไรแบบเสี่ยง เด็กวัยนี้เมื่อพัฒนาการทางสมองส่วนกลางพัฒนาถึงขีดสุด แต่สมองส่วนหน้าเริ่มพัฒนา เค้าจะมีปัญหาในการจำแนกแยกแยะว่าอะไรควร อะไรไม่ควรเป็นอย่างมาก การดูแลเด็กในวัยนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องกระตุ้นพัฒนาการด้านการคิด (cognitive development) ของเค้าให้มากที่สุด ในช่วงนี้ต้องกระตุ้นนักสุด โดยเฉพาะเรื่องเพศและเรื่องอนาคตในชีวิต เพื่อให้เค้ามีเป้าหมายในชีวิต ให้เค้ามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์  ทักษะสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศ แล้วก็ทำให้เค้าตระหนักถึงอันตรายทางเพศ คือ เด็กวัยนี้พ่อแม่ไม่สามารถเข้าไปคอยปกป้องดูแลได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนวัยเล็กๆ เด็กต้องฝึกในการวิเคราะห์วินิจฉัย อาจสุ่มเสี่ยงต่อการมีปัญหาเรื่องถูกล่วงเกินทางเพศหรือถูกคุกคามทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะต้องเข้าใจถึงกลวิธีของคนเหล่านี้ในการเข้ามาครอบงำชักจูงทางเพศ เช่น รู้จักทางเฟสบุ๊ค อินเตอร์เน็ต แล้วนัดเจอกันที่โรงแรม ต้องคิดว่าไปเจอที่โรงแรรมมีปัญหาอะไร ตามมาบ้าง แทนที่จะพูดคุยกันในที่สาธารณะ มีคนเยอะๆ เค้าจะเริ่มคิดได้เอง เพราะมีการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้

เชื่อมโยงมาถึงเรื่อง Guidance and​ boundary อันแรก คือ  ขอบเขตที่เหมาะสมทางด้านร่างกาย (Physical boundary) ระยะห่าง เช่น ฮอร์โมนเพศเริ่มทำงานแล้ว จะนั่งใกล้ชิดกับเพศตรงข้ามไม่ได้ เพราะฮอร์โมนเพศของเพศตรงข้ามมีฤทธิ์ในการกระตุ้นอารมณ์เพศของเรา โดยเฉพาะการสัมผัสร่างกายกับเพศตรงข้าม หนักกว่าเพราะกระตุ้นโดยตรง ฉะนั้นระยะห่างทางกายต้องมีอย่างเหมาะสม

ระยะห่างทางด้านจิตใจ เด็กต้องรู้ว่าในช่วงที่เรียนหนังสือ ยังช่วยตัวเอง พึ่งตนเองไม่ได้ ยังไม่ควรไปมีเพศสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เพราะถ้ามีลูกจะยุ่ง ตนเองยังรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ต้องรับผิดชอบลูกที่เกิดมาอีก เพราะตัวเองยังไม่มีความสามารถจะเลี้ยงดูตนเอง อีกจุดที่จะทำความเข้าใจได้ ถ้าไปยุ่งทางเพศกับใคร แม้จะสวมถุงยางอนามัย มันก็เป็นผลร้ายกับตัวเค้า เพราะช่วงนั้น สมองส่วนหน้ายังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ โดยเฉพาะเรื่องเพศยิ่งควบคุมไม่ได้ เพราะฮอร์โมนเพศในช่วงวัยนี้ เป็นฮอร์โมนที่เข้มข้นมาก เมื่อออกฤทธิ์จะยับยั้งตนเองไม่ได้ เหมือนกับการเสพยาเสพติด นำไปสู่อาการเสพติดทางเพศได้ง่ายขึ้น เมื่ออาการเสพติดทางเพศเกิดวันๆจะไม่คิดเรื่องอื่นเลย เพราะฮอร์โมนเข้มข้นเยอะ ร่างกายอยู่ในช่วงที่ถูกกระตุ้นทางนี้ เพราะฉะนั้นเด็กเหล่านี้แม้อยู่ลำพังคนเดียวใจก็กระหวัดไปถึงเรื่องเพศอยู่แล้ว เป็นแบบนี้เค้าต้องเรียนรู้ว่า ถ้าเค้าไปมีเพศสัมพันธ์จะควบคุมตนเองไม่ได้ จะไม่มีเป้าหมายชีวิตที่จะพัฒนาตนเองไปเรื่องนั้นเพราะว่าจิตใจหมกมุ่นเรื่องเพศ นั่งเรียนหนังสืออยู่ก็คิดแต่เรื่องเพศ เหมือนเด็กทำแต้มเย็นนี้จะไปกับใคร ทำแต้ม มีเพศสัมพันธ์กับคนนู้นคนนี้ เกิดจากอาการเสพติดทางเพศ แล้วจะเสียไปหมด พัฒนาตนเองไม่ได้ งานวิจัยต่างประเทศชัดเจนว่า เด็กคนไหนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรจะมีปัญหาเรื่องการศึกษา มีปัญหาเรื่องการพัฒนาตนเอง มีปัญหาเรื่องพฤติกรรม มีปัญหาทุกเรื่อง เรื่องทักษะการจัดการปัญหา การใช้จ่ายเงิน การบริหารเงินรายได้ รายจ่าย มีปัญหาทุกด้าน เกิดจากปัญหาที่ว่า

เพราะฉะนั้นเด็กต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้ ไม่ใช่เรียนรู้อย่างเดียว พ่อแม่ต้องทำให้เด็กมองเรื่องเพศในมุมกว้างกว่าการมีเพศสัมพันธ์ ถ้าพูดถึงเรื่องเพศเมื่อไหร่เด็กก็คิดถึงแต่เรื่องเพศสัมพันธ์ ถ้าคุยกับลูกเรื่องเพศสัมพันธ์ยิ่งหนักเหมือนเป็นการตอกย้ำ ให้เค้าไปสนใจการมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ทางที่ดีต้องขยายมโนทัศน์ของเด็ก จากการมีเพศสัมพันธ์ไปรู้เรื่องเพศอื่นๆที่กว้างกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตนเอง เกี่ยวกับสุขอนามัยด้านเพศ การเข้าสังคมที่มีเพศหลากหลาย เพศตรงข้าม เพศอื่นๆ จะปฏิบัติตัวอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไปมีกิจกรรมทางสังคมอะไรที่เกี่ยวข้องกับคนเพศต่างๆ อายุต่างๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น ไม่ควรไปไหนมาไหนกับครูสองต่อสอง เพราะครูมีหน้าที่สอนหนังสือไม่ใช่เป็นเพื่อนเที่ยวเพื่อนกิน หรือไปนั่งกินเหล้ากับพ่อ เที่ยวซ่องกับพ่อแม่ เป็นเรื่องทักษะทางสังคม

ขอบเขตที่เหมาะสมทางสังคม (social boundary) ระหว่างเด็กกับบุคคลอื่นๆที่สอดคล้องกับสถานภาพทางสังคมและเพศของบุคคลอื่นๆ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องถ่ายทอดทางชีวิตประจำวัน โดยเข้าไปทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆร่วมกับลูก  สมัยก่อนมีเรื่องงานแต่งงาน งานบวช งานศพ โกนผมจุก บวชนาค งานประเพณีต่างๆ เป็นโอกาสอันดีที่พ่อแม่จะพาเด็กไปร่วมกิจกรรมเหล่านี้เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องทักษะสังคม และภัยที่เกิดขึ้นจากบุคคลอื่นๆทุกด้าน ไม่ว่าจะเรื่องเพศหรือเรื่องอื่น เช่น ไม่ควรสวมเครื่องประดับ เพราะไม่ได้ทำให้เราสวยงามหรือหล่อ แต่มันเป็นจุดสนใจของอาชญากร มิจฉาชีพ จ้องลักทรัพย์ เป็นอันตรายไม่ได้มีผลบวก ตรงนี้เค้าต้องเรียนรู้ ไม่ใช่เรียนรู้ด้วยการบอกเล่า แต่เรียนรู้ด้วยตัวพ่อแม่ ผู้ปกครอง บุคคลแวดล้อมเด็กก็ต้องไม่สวม  เพราะฉะนั้นถ้าหากพ่อแม่มีจิตสำนึกในความปลอดภัยของลูก แต่พ่อแม่ไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ ตัวเองจะนำอันตรายมาสู่ลูกโดยไม่รู้ตัว การซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นแพงๆให้ลูก ม่ใช่ห้ามแต่การดำเนินชีวิตอย่างไรให้ตนเองปลอดภัยเป็นเรื่องใหญ่

โดยสรุปความปลอดภัยมีอย่างน้อย 3 เรื่องคือ 1.การจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย 2.การดูแลไม่ให้บุคคลอันตรายมาก่ออันตรายให้เด็ก 3.กฎเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตที่จะทำให้ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขอบเขตที่เหมาะสม การเดินทางอย่างไรให้ปลอดภัย การใช้สระว่ายน้ำอย่างไรให้ปลอดภัย การประเมินอันตรายเมื่อมีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้น เช่น การนั่งรถเมล์ผ่านโรงเรียนที่มีปัญหายกพวกตีกัน ขึ้นมาทำร้ายบนรถเมล์ ต้องรู้ว่าอย่าไปนั่งด้านหลัง ต้องอยู่ด้านหน้าใกล้คนขับ เพราะหากมีอะไรให้คนขับๆรถออกไปหาตำรวจหรือหลบหลีก เด็กต้องมีความสามารถตรงนี้แต่พ่อแม่ต้องมีก่อน ถ้าพ่อแม่ไม่มีก็มองไม่เห็น ถึงเวลาก็ได้แต่ร้องไห้เสียใจ และคิดว่าลูกมีเคราะห์ ชะตาขาด แต่จริงๆไม่ใช่ สามารถระมัดระวังหลีกเลี่ยงได้พอสมควร  เป็นจุดที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้และถ่ายทอดให้ลูก”

CPCR :  แล้วคนในสังคมจะมีส่วนร่วมดูแลเด็กได้อย่างไร?

คุณสรรพสิทธิ์ : “โดยภาพรวมของบุคคลแวดล้อมเด็กในสังคมทั่วไป มี 2-3 ประเด็น ที่เราจะกระตุ้นให้เกิดมุมมอง แต่นั่นต้องหมายความว่า เขาจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกหลานเค้าด้วย ถ้าคำนึงถึงเรื่องนี้จะคุยได้ง่าย 1.เด็กคนอื่นเค้าก็เหมือนลูกหลานของเรา เค้าอ่อนแอยังพึ่งตนเอง ยังดูแลตนเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเค้าตกอยู่ในอันตราย เราก็น่าจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเท่าที่ทำได้  เด็กที่ไม่ใช่ลูกหลานหรือเด็กอื่นก็ล้วนแต่ต้องการการปกป้อง ดูแล ช่วยเหลือ เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม  2.ถ้าคุณปล่อยให้เด็กถูกกระทำ เด็กจะมีปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะมีปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ถ้าลูกหลานของคุณไปอยู่ใกล้ชิดเด็กเหล่านี้หรือในวิถีของเด็กเหล่านี้ ก็อาจจะได้รับอันตรายจากเด็กเหล่านี้ก็ได้ เช่น เด็กที่ยกพวกตีกัน ก็เป็นเด็กที่มีปัญหาต่างๆที่ปล่อยให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เลวร้าย เค้าเลยพัฒนาตนเองในด้านลบค่อนข้างมาก ลูกเราไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่บังเอิญไปอยู่ในวิถีทำลายล้างของเค้า ก็จะบาดเจ็บ ล้มตาย

มีทั้งสองเหตุผลในแง่ของมนุษยธรรม empathy ที่มีต่อเด็ก และเรื่องผลกระทบ ถ้าเราทำลบต่อลูกหลานเราเอง เด็กเหล่านี้มีปัญหาเสพติด เรื่องเพศทุกอย่างที่จะระบาดมาถึงลูกหลานเราได้ ถ้าคุณปล่อยให้เค้าเป็นแบบนั้นก็จะระบาดมาถึงลูกหลานของเราเอง  เท่าที่ควรจะทำ  อย่างน้อยควรแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ปัญหา เห็นเด็กนั่งขอทานก็ต้องแจ้ง  ถ้าหน่วยงานแจ้งแล้วไม่ไปแก้ไขก็ต้องแจ้งไปสื่อมวลชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำงาน”

: 285