เทศกาลสงกรานต์มาถึงแล้ว นอกจากภาพการเข้าวัดทำบุญ การเดินทางกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว  รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ที่แสดงถึงความรักและความอบอุ่นในครอบครัว แต่สงกรานต์ในทุกวันนี้ผิดแผกไปจากเดิมมากนัก ภาพที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ กลับเหมือนเทศกาลปลดปล่อย ปล่อยผี ที่มีทั้งกลุ่มเด็ก วัยรุ่น หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ จับกลุ่มกันนั่งล้อมวงสังสรรค์  เปิดเพลงเสียงดังลั่น ยืนกลางถนน ขวางทางการจราจรบนท้องถนน และเต้นด้วยท่าทางที่ยั่วยวนทางเพศ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่  ไม่มีการห้ามปราบจากผู้ใหญ่ แต่กลับได้รับแรงเชียร์ มีการอัดคลิปวีดีโอ แล้วเผยแพร่บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะลีลาท่าเต้นที่ยั่วยวนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการเรียนรู้และแสดงออกพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสมของเด็กในปัจจุบัน

คุณสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ อดีตกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ เขียนแสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊คส่วนตัวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“การสอนเด็กๆให้แสดงออกทางเพศตั้งแต่อายุน้อยๆ ระดับอนุบาลที่มีการนุ่งน้อยห่มน้อยและแต่งหน้าทาปาก ออกมาเต้นรำในลักษณะยั่วยวนทางเพศ (แม้ว่ารูปร่างของเด็กยังไม่สามารถดึงดูดใจทางเพศ) มันทำให้เด็กๆเหล่านี้เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่นแล้ว ไม่สามารถจำแนกท่าทางในการเต้นหรือออกกำลังกายของตนเองว่า อาจก่อให้เกิดปัญหาทางเพศ ทั้งนี้เกิดจากพวกเขาขาดความสามารถในการกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมระหว่างตนเองกับผู้อื่น โดยเฉพาะการแสดงออกทางสังคมด้านเพศของพวกเขาก็จะไม่เหมาะสมและมีแนวโน้มว่า พวกเขาจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเพศ จนถึงขั้นไปมีเพศสัมพันธ์โดยถือว่าเป็นเรื่องทางธรรมชาติ จึงมีโอกาสที่จะเกิดอาการเสพติดทางเพศเพราะในช่วงชีวิตของวัยรุ่นต้น สมองส่วนกลางซึ่งทำหน้าที่กำหนดพฤติกรรมเกี่ยวที่ข้องกับอารมณ์รวมทั้งอารมณ์เพศ ได้บรรลุวุฒิภาวะแล้ว

ขณะที่สมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่คิดวิเคราะห์วินิจฉัย จำแนกแยกแยะความผิดถูกชั่วดีโดยสามารถควบคุมพฤติกรรมใดๆของตน ให้มีการแสดงออกอย่างเหมาะสม เพิ่งเริ่มพัฒนาแบบก้าวกระโดด นั่นหมายถึงเด็กวัยรุ่นมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนได้น้อยอยู่แล้ว หากเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศพวกเขาแทบจะควบคุมตนเองไม่ได้เลย เมื่อมีโอกาสมีเพศสัมพันธ์ จึงทำให้เกิดภาวะเสพติดทางเพศ จนหมกมุ่นแต่เรื่องเพศ ถ้าเป็นเด็กชายจะมีแนวโน้มเป็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับเพศเพราะควบคุมอารมณ์เพศของตนไม่ได้ ถ้าเป็นเด็กหญิงก็จะเชิญชวนให้ผู้ชายมามีเพศสัมพันธ์กับตนโดยไม่เลือกหน้าและมีโอกาสตั้งครรภ์สูง ทั้งนี้อาการเสพติดทางเพศจะทำให้เด็กๆไม่มีสมาธิและแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองเช่นเดียวกับผู้เสพติดยาเสพติด

การป้องกันปัญหานี้ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงปัจจัยกระตุ้นเร้าอารมณ์เพศและให้พยายามหลีกเลี่ยงจากปัจจัยดังกล่าว ขณะเดียวกันต้องสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องเพศที่กว้างกว่าการมีเพศสัมพันธ์ เช่น

  • การดูแลสุขภาพด้านเพศของตน ในช่วงที่ฮอร์โมนเพศเริ่มทำงาน เด็กวัยรุ่นจะมีความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจ พวกเขาจึงควรเรียนรู้ที่จะดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี
  • รู้จักวิธีการทำกิจกรรมทดแทนการมีเพศสัมพันธ์ เช่น เล่นดนตรี กีฬา ถีบจักรยานท่องเที่ยว ฯลฯ ที่เป็นการออกกำลังกายและกระตุ้นให้สมองหลั่งสารความสุข
  • นอกจากนั้นยังควรมีกิจกรรมทางสังคมเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเพศสภาวะ (Gender) ทักษะสังคม ทักษะในการจัดการปัญหาและทักษะชีวิตเพื่อเข้าสังคม โดยสามารถกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมระหว่างตนเองกับผู้อื่นที่มีเพศสภาวะ (Gender)แตกต่างไปจากตน
  • กิจกรรมอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ ย่อมช่วยให้เด็กวัยรุ่นมี empathy กับผู้อื่นและไม่กล้ากระทำการใดๆให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน

การสอนหรือดึงเด็กๆเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องที่มีนัยทางเพศ ย่อมซ้ำเติมเพิ่มปัญหาให้ประเทศของเราที่มีอัตราการตั้งครรภ์ของเด็กวัยรุ่นสูงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรสตรีในวัยเจริญพันธุ์”

 

ขอขอบคุณ :

ข้อมูลจากเฟสบุ๊ค คุณสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์

Cr.ภาพ: https://www.freepik.com/free-vector/silhouettes-of-people-dancing_1740331.htm#term=dance&page=3&position=12

: 285