“องค์กรปกป้องสิทธิเด็ก” ห่วงยุค “มนุษย์กล้อง” ครองเมือง! ถ่ายโพสต์แชร์คลิปเด็ก ถือเป็นการละเมิดสิทธิ เพิ่มความเสี่ยงไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิต ชี้ผิดกฎหมายมีโทษอาญา เตือนผู้ใช้โซเชียลเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชน

ที่โรงแรมเอเชีย เมื่อเวลา 10.00.น วันที่ 16 พ.ย.59 มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ร่วมกับ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีเสวนา “สิทธิเด็ก…ในยุคมนุษย์กล้องครองเมือง” โดยมีหน่วยงานองค์กรด้านเด็กและเยาวชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกว่า100คน

โดย นางเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการ สสย. กล่าวว่า สถานการณ์ถ่ายโพสต์ แชร์ คลิปเด็ก ในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งการกระทำดังกล่าว อาจจะยังไม่รู้เท่าทันว่าเป็นการละเมิดสิทธิ หลายๆเหตุการณ์เป็นภาพความรุนแรง สร้างความสะเทือนใจ หดหู่ ส่งผลทางจิตใจทั้งผู้รับสื่อและผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก หลายเหตุการณ์เด็กถูกนำมาสร้างเป็นช่องทางเพื่อหาผลประโยชน์ ยิ่งในคลิปเปิดเผยข้อมูลของเด็ก ความเป็นส่วนตัวเด็ก ซึ่งมันจะคงอยู่ตลอดไปแม้ว่าคลิปจะถูกลบแล้วก็ตาม

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้ตรวจราชการกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เข้าใจว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก อยากโชว์ความน่ารักของลูก แต่การถ่ายคลิปเด็กในอิริยาบถต่างๆ แม้จะไม่มีเจตนา แต่เมื่อไหร่ที่โพสต์หรือแชร์ภาพออกไป คิดแค่เพียงอยากแกล้งเด็ก ถ่ายเล่นสนุกสนาน มันจะกลายเป็นดาบสองคมที่ทำร้ายเด็ก เพิ่มความเสี่ยงในการใช้ชีวิต อีกทั้งเด็กจะไม่รู้ถึงการปกป้องตัวเอง จนมองเป็นเรื่องปกติแล้วเกิดการโพสต์ตาม ดังนั้นทุกอย่างควรมีขอบเขต ระมัดระวังในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งในต่างประเทศเขาจะเข้มงวดการปกป้องสิทธิเด็กอย่างมาก และพ่อแม่ก็ไม่ยอมหากมีคนมาถ่ายคลิปโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต มีสิทธิเอาผิดตามกฎหมายได้

ขณะที่ นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า จากการเผยแพร่คลิปเด็ก เช่น พ่อแกล้งกินแมลงยั่วยวนให้เด็กขยะแขยง จนเด็กอาเจียนออกมา หรือคลิปที่แม่แกล้งเอาตะปูเสียบนิ้วตัวเองดึงเข้าดึงออก เพื่อพิสูจน์ว่าลูกจะเป็นห่วงตัวเองหรือไม่ คลิปครูให้นักเรียนกราบหน้าเสาธง ฯลฯ พฤติกรรมลักษณะนี้ถือเป็นการทารุณกรรมเด็กโดยตรง ทำร้ายจิตใจเด็กทำให้เกิดความกลัว ยิ่งการนำคลิปออกมาเผยแพร่ยิ่งเป็นการกระทำซ้ำ เป็นการตอกย้ำประทับตราบาปให้เด็ก ในทางกฎหมายมีความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และหากนำหลักตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมาบัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น มาตรา 22 การคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก มาตรา 23 บัญญัติถึงบทบาทของผู้ดูแลเด็กในการพัฒนาและการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ มาตรา 26 ที่บัญญัติถึงการห้ามมิให้บุคคลต่างๆ กระทำต่อเด็ก ทั้งการทำร้ายร่างกาย การไม่ดูแลจนเด็กมีความประพฤติไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนถือเป็นความผิดที่มีโทษ เช่นเดียวกับมาตรา 27 ที่มีโทษทางอาญา หากเปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กจนส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งนี้ยังมีความผิดตามกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีกด้วย

ขอบคุณที่มาข่าว : http://www.siamrath.co.th/n/5289

ข่าวที่คล้ายกัน  : เตือนพ่อแม่ โพสต์หรือแชร์ภาพลูกน้อย อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก  http://www.thairath.co.th/content/785417 

: 285