นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง ทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ สูญเสียบุตรสาวและหลานสาววัยแบเบาะไปเมื่อ 4 ปีก่อนหลังถูกลักพาตัว ครอบครัว ผู้ลักพาตัวเด็กซึ่งมีความรักความผูกพันกับเด็ก รวมถึงเด็กหญิงตัวน้อยวัย 4 ขวบที่ต้องจาก ผู้เลี้ยงดูสู่อ้อมอกบุพการีที่แท้จริงซึ่งเด็กหญิงไม่คุ้นเคยในอีก 2 ปีนับจากนี้

“ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าของทั้งสองครอบครัวที่ต้องพบกับเหตุการณ์นี้ แม้ว่าเด็กจะยังไม่สามารถเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากนัก เพราะเด็กในช่วงวัยนี้จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้เพียงแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากตัวเขาเอง เช่น ถูกดุเพราะเป็นเด็กไม่ดี ได้ขนมเพราะเป็นเด็กดี จะยังไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้ไปมากกว่านี้”

คำกล่าวของ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

พญ.วิมลรัตน์กล่าวต่อว่า แต่แม้จะไม่เข้าใจ เด็กก็รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงและจะติดอยู่ในความรู้สึกกลัว ทุกข์จากการพลัดพรากจากสิ่งที่คุ้นเคย โดยเฉพาะเมื่อเด็กได้รับการเลี้ยงดูมาด้วยดี การแยกเด็กออกมาทันทีเด็กจะไม่เข้าใจและคิดว่าตนเองทำไม่ดีจึงไม่ได้อยู่กับพ่อแม่

การแก้ปัญหาในกรณีนี้ ถ้าเป็นไปได้สองครอบครัวควรคุยกันด้วยดีด้วยความประนีประนอมเพื่อให้เป็นประโยชน์กับเด็ก เพราะการพาตัวเด็กกลับสู่ครอบครัวที่แท้จริง ในขณะที่เด็กได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างดีเช่นกันจะสร้างความบาดเจ็บทางใจให้กับเด็ก ฉะนั้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านครอบครัวหากประนีประนอมกันได้ต้องใช้วิธีการค่อยๆ ให้เด็กรับรู้การเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง โดยให้เด็กยังพอมีคนที่คุ้นเคยอยู่ด้วย แล้วค่อยๆ เปลี่ยนผ่านช่วงนั้นไป วิธีเหล่านี้ประเทศไทยมีหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือโดยนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยา

“สำหรับเด็กเล็กวัยเพียง 4 ขวบนั้น แม้จะจำเนื้อหาของเหตุการณ์ไม่ได้ แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงครอบครัวผู้เลี้ยงก็ยังสามารถจำความรู้สึกกลัวและการพลัดพรากได้ แต่ถ้าเลี้ยงดูดีๆ ทุกอย่างสามารถซ่อมแซมได้ ช่วงการเปลี่ยนผ่านต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องหวานชื่น จะต้องอดทน เหนื่อย ถ้าอยากให้ทุกอย่างราบรื่นการพูดคุยกันทั้งสองฝ่ายถือเป็นเรื่องจำเป็น”

พญ.วิมลรัตน์กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเด็กเองนั้นพ่อแม่ที่แท้จริงเมื่อแสดงตัวว่าเป็นพ่อแม่แล้วต้องใช้วิธีที่เหมาะสมในการพูดคุยกับเด็ก โดยการบอกความจริงสั้นๆ ให้เด็กเข้าใจได้ เช่น บอกว่าตนเองเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง แต่คนที่เลี้ยงดูมานั้นเป็นเพราะรักจึงช่วยเลี้ยงดู แต่ขณะนี้ต้องกลับมาอยู่กับพ่อแม่ และพยายามบอกว่ารักเขามากแค่ไหน บอกว่าเขาโชคดีที่มีคนรักเยอะ การอธิบายกับเด็กนั้นต้องเลี่ยงการพูดในแง่ร้ายถึงคนที่เคยผูกพันกันมาก่อน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เพราะเด็กไม่สามารถเข้าใจได้ แต่จะรู้สึกหวาดกลัว ในช่วงปรับตัวอาจมีงอแงบ้าง แต่เชื่อว่าพ่อแม่ที่แท้จริงมีความรักเป็นทุนเดิม ต้องค่อยๆ ปรับตัวและผ่านไปด้วยกันได้

ด้าน ฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สะท้อนมุมมองว่าแม่ที่แท้จริงนั้นเขาเจ็บปวดเสียใจมาก่อนที่ลูกหาย แม่รายนี้ไม่ได้ผิด แต่กลับเป็นผู้ที่จะต้องปรับตัวและทำทุกวิถีทางให้ลูกเข้าหา กระบวนการทำงานตรงนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ว่าทฤษฎีอะไรก็ตามในขณะนี้ต้องวางเอาไว้ แล้วมาดูความเป็นมนุษย์ว่า จริงๆ แล้วเด็กถูกลักพาตัวไป มีปู่ย่าตายายที่ไม่แท้คอยเลี้ยงและดูแลเป็นอย่างดี แต่คำถามก็ย้อนกลับไปว่าแม่แท้ๆ ที่ถูกพรากลูกนั้นเขาผิดหรือ เขาถึงต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวและมีเงื่อนไขในการเอาลูกคืน ทุกวันนี้นักวิชาการอาจจะมีทฤษฎีปกป้องเด็ก การนำเด็กกลับมาจะต้องทำความรู้จักและปรับตัวกัน คำตอบนี้มันใช่หรือเปล่า เราต้องทำงานหลายด้าน ไม่มองเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ณ วันนี้เราต้องนึกถึงแม่ที่ทุกข์ทรมานมาก่อน

“ทุกวันนี้ เด็กอายุ 4 ขวบเข้าใจสภาพแวดล้อมและเข้าใจมาก่อนว่าเป็นลูกหลานบ้านนี้ จึงต้องทำความเข้าใจกับผู้ใหญ่หลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดูแลเด็ก ทุกคนย่อมมีความตั้งใจดีกับเด็ก แต่กลับผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นจากการขโมย ต้องพูดคุยกันและทำงานบนพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ทั้งผู้ใหญ่ที่ขโมยไปก็ต้องกลับมาพูดคุยกัน และถ้าวันหนึ่งเด็กมีแม่สองคนในขณะเดียวกันจะต้องทำอย่างไร และต้องคำนึงถึงจิตใจของแม่ที่ถูกขโมยลูกไปตั้งแต่ต้นว่าเขาเจ็บปวดมาก่อน เขาไม่ใช่คนผิด แต่กลับถูกตั้งเงื่อนไขที่จะต้องเจอลูกซึ่งทรมานพอสมควร”

ขณะที่ วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ให้ความเห็นว่าโดยส่วนตัวคิดว่าระยะเวลา 2 ปีนั้นนานเกินไป ในระยะเวลา 2 ปีนี้ต้องมีขั้นตอนเตรียมความพร้อมเพื่อปรับสมดุลสัมพันธภาพ เหตุผลที่เขาไม่สามารถแยกแม่ลูกโดยทันทีเป็นเพราะอาจทำให้เด็กมีปัญหา ในแง่กฎหมายแม่ที่ลักพาตัวเด็กกระทำผิด ต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป แม้ว่าเด็กจะกลับไปอยู่ครอบครัวดั้งเดิมของเขา แต่ไม่ใช่ จะต้องแยกขาดออกจากกันระหว่าง สองครอบครัวหรือจะไม่สามารถเจอกันได้อีก

การดูแลเด็กนั้นต้องพิจารณากัน ทั้งสองฝ่าย การฟื้นคืนความสัมพันธ์ระหว่างแม่ที่แท้จริงกับลูกนั้นต้องมี ขั้นตอน เหตุที่ยังไม่สามารถแยกเด็กได้อย่างเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลกระทบกับตัวเด็ก แต่สุดท้ายตัวเด็กจะต้องเติบโตในครอบครัวผู้ให้กำเนิด แต่ช่วงรอยต่อนั้นต้องประเมินดูว่ามีขั้นตอนแบบไหน ต้องให้จิตแพทย์และนักสังคมสงเคราะห์เป็น ผู้ประเมิน จะต้องประเมินแม่เด็กที่แท้จริงโดยไม่ได้ประเมินเฉพาะความสามารถทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และต้องปรับความพร้อมทั้งตัวเด็กและทั้งสองครอบครัว

“สิ่งสำคัญคือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระหว่างครอบครัวพ่อแม่ที่แท้จริง พ่อแม่ที่เด็กมีความผูกพัน และตัวของเด็กเอง”

ขอบคุณ : นสพ.ข่าวสด รายวัน ,12 พ.ย.58, น.25

: 285