สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์  ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก   ผู้เขียน

จากข่าวหญิงชาวอเมริกันจากรัฐนิวยอร์กอายุ 27 ปี ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเป็นเวลา 20 ปี เมื่อวันพุธ โทษฐานฆ่าลูกชายวัย 5 ขวบของตัวเองด้วยการให้เกลือทางสายยางเกินขนาดจนตาย เมื่อ ม.ค. 2014 ซึ่งหญิงผู้นี้มีอาการป่วยในกลุ่มอาการ Munchausen syndrome by proxy (MSBP) เป็นพฤติกรรมที่บุคคลหนึ่ง สร้างเรื่อง, กล่าวเกินจริง หรือ ทำให้เกิดปัญหาทางกายหรือสุขภาพแก่ผู้ที่อยู่ในการดูแลโดยเฉพาะเด็ก เพื่อเรียกร้องความสนใจ

หญิงชาวอเมริกันผู้นี้มีประวัติวัยเด็กที่ถูกปล่อยปละละเลยไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ รวมทั้งถูกทอดทิ้งจากตายาย จึงทำให้เธอมีอาการขาดรัก (Inadequacy) เพราะพ่อแม่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ (Emotional warmth) ให้แก่เธอ นอกจากนั้นยังมี เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตนเอง (Identity) เป็นด้านลบ ได้แก่ความรับรู้เกี่ยวกับตนเอง (sense of self) เธออาจจะรู้สึกว่าตนเป็นคนไม่ดี เป็นคนบาป เป็นคนที่ไม่มีใครรักใครชอบไม่มีใครต้องการ รวมทั้งมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนไม่มีคุณค่า (Low self-esteem) ไม่ไว้วางใจว่าบุคคลแวดล้อมสามารถเป็นที่พึ่งพิงแก่ตน (Distrust) ไม่สามารถพัฒนาความผูกพันที่มั่นคง(secure attachment)และการตระหนักถึงจิตใจหรืออารมณ์ซึ่งกันและกันหรือคิดถึงใจเขาใจเรา(Empathy)ระหว่างตนเองกับบุคคลแวดล้อมโดยเฉพาะลูก

จึงใช้สุขภาพของลูกเป็นเครื่องมือแสวงหาความสนใจความเห็นอกเห็นใจจากผู้อื่น ด้วยการทำร้ายลูก โดยเฉพาะเมื่อลูกต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลด้วยอาการผิดปกติที่ร้ายแรงก็จะยิ่งได้รับการดูแลเอาใจใส่เข้ามาให้กำลังใจมากขึ้น เป็นการตอบสนองความต้องการที่เกิดจากความผิดปกติทางจิต จึงมีอาการคล้ายการติดยาเสพติดที่ต้องกระทำให้ลูกป่วยบ่อยขึ้น ด้วยอาการป่วยที่รุนแรงยิ่งๆขึ้นเพื่อสามารถสร้างความพอใจได้ในระดับเดิม หากแพทย์ไม่สามารถซักประวัติเด็กที่ป่วยแต่เนิ่นๆ แล้วทดลองป้องกันไม่ให้แม่เข้าไปดูแลลูกที่ป่วยตามลำพัง ก็จะพบว่าเด็กจะมีอาการดีขึ้นเช่นปกติและระบุปัญหาMunchausen syndrome by proxy (MSBP) ก็จะสามารถคุ้มครองเด็กไม่ให้ถึงแก่ความตายได้

กรณีนี้จึงเป็นบทเรียนราคาแพงที่ได้มาจากชีวิตเลือดเนื้อของเด็กจำนวนมากทั่วโลกว่า การเลี้ยงดูลูกพ่อแม่จะต้องให้การดูแลเด็กในชีวิตประจำวัน (Basic care)พร้อมกับถ่ายทอดทักษะการดูแลตนเองไปด้วย ต้องสร้างหลักประกันให้เด็กปลอดภัย (Ensuring safety)ด้วยการดูแลให้พ้นจากบุคคลอันตราย กำหนดเขตที่ปลอดภัยสำหรับลูก สอนและฝึกวิธีการดำเนินชีวิตประจำวันที่ปลอดภัยให้ สามารถเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ (Emotional warmth)ให้แก่ลูก โดยเฉพาะเมื่อลูกมีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ ต้องปลอบโยนช่วยเหลือให้ลูกแก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือให้ลูกพ้นวิกฤติต่างๆในชีวิต

การกระตุ้นพัฒนาการตามวัย (Stimulation)อย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจพัฒนาการของลูกแต่ละวัยทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย (Physical Development) ด้วยการดูแลให้ลูกได้กินอาหารที่สอดคล้องกับการเจริญเติบโตในแต่ละวัย การเล่นกีฬาหรือการเล่นออกกำลังกาย การนอนหลับตามช่วงเวลาที่สารความง่วง (Melatonin) ทำงาน ในที่เงียบสงบมืดและอากาศถ่ายเทได้ดี สวมเสื้อผ้าสอดคล้องกับฤดูกาล

การกระตุ้นพัฒนาการการรู้จักคิดวิเคราะห์วินิจฉัย (Cognitive Development) ด้วยการการกระตุ้นลูกให้รู้จักตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกตหรือตั้งข้อสงสัยกับสิ่งใหม่ๆหรือการเรียนรู้ ย่อมทำให้สมองส่วนหน้าของลูกเกิดความสามารถในการพินิจพิจารณาข้อมูล (Information Processing) เกิดความสามารถในการพินิจพิเคราะห์ (Critical Thinking: hypothetical – deductive reasoning) จึงจะทำให้เกิดวิจารณญาณและสามารถวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆได้อย่างถูกต้องสมเหตุสมผล โดยประมวลเอาประสบการณ์และการคิดวิเคราะห์มาใช้สรุป (Decision making is influenced by analytical and experiential systems) ด้วยเหตุที่เด็กยิ่งอายุน้อยก็ยิ่งมีประสบการณ์ชีวิตน้อยและความสามารถคิดวิเคราะห์ก็ยิ่งทำได้น้อย พ่อแม่จึงต้องใช้วิธีการที่เหมาะสมกับวัยของลูกในการกระตุ้นข้างต้น

การกระตุ้นพัฒนาการด้านจิตใจและสังคม (Psycho social / Socio-emotional Development) ด้วยการชี้แนะแนวทางชีวิต ให้เด็กสามารถกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมด้านร่างกายจิตใจสังคมกับผู้อื่น (Guidance & Boundaries) สร้างเงื่อนไขเอื้อให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดี ต้องการกระทำดีด้วยตนเอง ผ่านการถ่ายทอดแบบอย่างในการดำเนินชีวิต (External control & Internal control, Role Model) โดยเฉพาะการพาลูกเข้าสังคม ร่วมกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ให้ลูกสามารถเรียนรู้ทักษะสังคม ทักษะการดำเนินชีวิต ทักษะการจัดการปัญหา การรู้จักบริหารเวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตน สามารถตระหนักถึงจิตใจหรืออารมณ์ซึ่งกันและกันหรือการคิดถึงใจเขาใจเรา(empathy)กับผู้อื่น

มีความเสมอต้นเสมอปลายสามารถสร้างความหนักแน่นมั่นคงทางจิตใจให้แก่ลูก(Stability)

ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นหลักประกันว่าเมื่อเด็กเติบโตเป็นพ่อแม่ย่อมสร้างครอบครัวที่มีแต่ความรัก ความเข้าใจและความผาสุกสำหรับลูกๆ

: 285