หลักการและเหตุผล

ปัจจุบันสถานการณ์การกระทำความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ข้อมูลจากสำนักบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ.๒๕๕๖ สถิติการให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีจากโรงพยาบาล ๖๓๑ แห่ง เพิ่มขึ้นเป็น ๓๑,๘๖๖ ราย หรือเฉลี่ยวันละ ๘๗ คน ร้อยละ ๖๐ เป็นเด็ก เกือบ ๙ ใน ๑๐ ของเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงเป็นเด็กหญิง ส่วนใหญ่อายุ ๑๐ – ๑๕ ปี คิดเป็นร้อยละ ๔๖ รองลงมา คือ อายุ ๑๕ – ๑๘ ปี คิดเป็นร้อยละ ๔๐ และพบอายุต่ำกว่า ๕ ปี ประมาณ  ๑,๐๐๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๕  ลักษณะความรุนแรงที่เกิดขึ้นอันดับ  ๑ คือ การถูกกระทำทารุณทางเพศ ร้อยละ ๗๒ บางรายตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ รองลงมาเป็นการกระทำทารุณทางกายร้อยละ ๒๑ ผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่เด็กรู้จัก ไว้วางใจ และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็ก

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงหลักที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖  นอกจากหน่วยงานรัฐแล้วองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าวด้วย เช่น องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สนับสนุนให้เกิดระบบการเฝ้าระวังการคุ้มครองเด็กและระบบการช่วยเหลือเด็ก (The child protection monitoring and response system  project : CPMRS)  โดยสนับสนุนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการเก็บข้อมูลเด็กในหลายจังหวัดซึ่งทำให้ทราบสภาพปัญหาของเด็กในแต่ละพื้นที่และสามารถให้การช่วยเหลือเด็กที่ประสบปัญหาในด้านต่าง ๆ ได้ระดับหนึ่ง
จากการประเมินการดำเนินงานโครงการ CPMRS  โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ UNICEF ในปี ๒๕๕๖ และจากการหารือผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็กพบว่ามีความต้องการการปฏิบัติงานแบบวิชาชีพเรื่องการคุ้มครองเด็กในระดับตำบลเพื่อให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนและคุ้มครองเด็กและครอบครัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่จะนำสู่การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก และการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก  และเมื่อเกิดเหตุสามารถให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

จากประสบการณ์การทำงานของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กในการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองเด็กในจังหวัดต่าง ๆ ได้ทำงานร่วมกับบุคลากรในพื้นที่ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการปฏิบัติงานคุ้มครองเด็กมากขึ้น หลังจากได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกันแล้วบุคลากรในหลายจังหวัดสามารถให้ความช่วยเหลือคุ้มครองเด็กในพื้นที่ของตนเองได้อย่างถูกต้องเหมาะตามกระบวนการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง   แต่การทำงานส่วนมากยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะบุคลากรซึ่งอยู่ในอำเภอเมือง กรณีที่เกิดเหตุในระดับอำเภอ หรือระดับตำบล บุคลากรในระดับท้องถิ่นส่วนมากยังมีข้อจำกัดในการตอบสนองต่อปัญหาเด็กที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แม้ว่าในบางพื้นที่มีการพัฒนาศักยภาพแกนนำที่อยู่ในระดับตำบลแต่ยังขาดการประสานความร่วมมือ การส่งต่อให้ทีมสหวิชาชีพในระดับอำเภอและระดับจังหวัด จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในระดับอำเภอและระดับตำบลให้มีความรู้และทักษะในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กตามกระบวนเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบติดตาม การสืบค้นข้อเท็จจริง  การคุ้มครองสวัสดิภาพ  การส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนา การฟื้นฟูเยียวยา  การคืนเด็กสู่สังคม สามารถนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งมีหลายฉบับมาใช้ในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กโดยประสานความร่วมมือกับทีมสหวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและรวดเร็วโดยประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบวิชาชีพและสามารถประสานส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุด

ด้วยเหตุผลดังกล่าว มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยบ้านพักเด็กและครอบครัว ๑๐ จังหวัด กำหนดแผนในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานในการคุ้มครองเด็กระดับตำบลโดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ได้แก่  โรงพยาบาล สถานีตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม พื้นที่ดำเนินการ ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี พะเยา เชียงใหม่ ระนอง ตรัง ชุมพร  ชลบุรี อุดรธานี  อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแผนในการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กไปสู่ระดับตำบล

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในระดับตำบล ให้สามารถช่วยเหลือคุ้มครองเด็กกลุ่ม  เสี่ยง เด็กถูกกระทำทารุณ เด็กได้รับการเลี้ยงดูโดยมิชอบ ถูกปล่อยปละละเลย ถูกแสวงประโยชน์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามกระบวนการคุ้มครองเด็กและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบวิชาชีพและสามารถประสานส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  2. เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนระหว่างเจ้าหน้าที่ในพื้นที่นำร่อง ๑๐ จังหวัดเพื่อสรุปบทเรียนในการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กในระดับตำบลเพื่อนำไปสู่การขยายผลการพัฒนาระบบคุ้มครองเด็กต่อไป

กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ

กลุ่มเป้าหมาย

  1. ผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็ก ๔๐๐ คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ โรงเรียน และภาคประชาสังคม ในพื้นที่ ๑๐ จังหวัด ๆ ละ ๔ พื้นที่  ๆ ละ ๑๐ คน
  2. เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ๑๐๐ คน ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองประสานงานและสนับสนุนในการคุ้มครองเด็ก จังหวัดละ ๑๐ คน ได้แก่  เจ้าหน้าที่ของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัว บุคลากรจากโรงพยาบาลในระดับอำเภอและระดับจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับอำเภอและระดับจังหวัด  สำนักงานเขตเขตพื้นที่การศึกษา เป็นต้น

พื้นที่เป้าหมาย

ดำเนินการในพื้นที่ ๑๐ จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี พะเยา เชียงใหม่ ระนอง ตรัง ชุมพร  ชลบุรี อุดรธานี  อุบลราชธานี โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดละ ๔ แห่ง

กรณีตัวอย่างการดำเนินงาน

การขยายแนวร่วมผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็กในพื้นที้ องค์การบริหารส่วนตำบลสวนแตง

องค์การบริหารส่วนตำบลสวนแตง อำเภอละแม จังหวัดชุมพร เป็น   1 ใน  40   พื้นที่เป้าหมายตามโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานในการคุ้มครองเด็กระดับตำบล   เมื่อตอนเริ่มต้นโครงการใหม่ ๆ  คณะทำงานคุ้มครองเด็ก อบต.สวนแตงไม่มีประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองเด็กที่ประสบปัญหามากนัก

แต่หลังจาก อบต.สวนแตง เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานในการคุ้มครองเด็กระดับตำบล คณะทำงานคุ้มครองเด็ก อบต.สวนแตงมีความเข้าใจเรื่องกระบวนการคุ้มครองเด็กมากขึ้น   มีการสำรวจคัดกรองเด็กในพื้นที่รายบุคคลโดยได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน (อสม.)    ทำให้ทราบสภาพปัญหาของเด็ก และสามารถให้ความช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก  บางเรื่องที่มีความยุ่งยากซับซ้อน  อบต.สวนแตง แจ้งเหตุให้บ้านพักเด็กและครอบครัว และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดชุมพรช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คณะทำงานได้เรียนรู้เรื่องการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ   การประสานงานและการส่งต่อให้หน่วยงานต่าง ๆ

ในช่วงเริ่มต้นคณะทำงานคุ้มครองเด็กใน อบต.สวนแตงมีประมาณ 20 คน หลังจากดำเนินโครงการแล้วคณะทำงานคุ้มครองเด็กมีความเห็นว่าควรขยายแนวร่วมในการคุ้มครองเด็กในระดับหมู่บ้านเพื่อให้เด็กในแต่ละหมู่บ้านได้รับการส่งเสริมพัฒนาและได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองครองอย่างรวดเร็ว อบต. สวนแตง ขอให้มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กมาอบรมให้ความรู้เรื่องกระบวนการคุ้มครองเด็ก  ในการอบรมครั้งนี้ อบต.สวนแตง ขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดสวนสมบูรณ์ ใช้วัดเป็นสถานที่จัดการอบรม  ส่วนเรื่องอาหารกลางวันไม่ต้องใช้งบประมาณ เพราะผู้เข้าอบรมหิ้วปิ่นโตลดหวานมันเค็มมากันเอง

ในวันอบรมดิฉันรู้สึกประทับใจมาก  เจ้าอาวาสวัดสวนสมบูรณ์เตรียมสถานที่ให้ตั้งแต่เช้า ผู้เข้าอบรมตั้งใจเรียนรู้ แลกเลี่ยนประสบการณ์กัน  เวลาอาหารกลางวันทุกคนนำอาหารที่เตรียมมาทานด้วยกัน การอบรมครั้งนี้นอกจากจะได้ผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองเด็กในระดับหมู่บ้านเพิ่มแล้ว ยังทำให้รู้ว่าการอบรมให้ความรู้ สามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีงบประมาณถ้าเราร่วมแรงร่วมใจกัน

: 285