เด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงของครอบครัวมีอาการที่หลากหลาย ตั้งแต่ หวาดกลัวที่จะถูกทำร้าย เหม่อลอย ซึมเศร้า เก็บกด ขาดความไว้วางใจ เสียสัมพันธภาพกับผู้อื่น มีปัญหาการปรับอารมณ์ มีอาการผิดปกติทางเพศ กระบวนการรู้คิดผิดปกติ ขาดแรงจูงใจพัฒนาชีวิต มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น สิ้นหวัง ทำร้ายตนเอง บางรายอาจรุนแรงถึงฆ่าตัวตาย ที่กล่าวมานี้เป็นผลจากบาดแผลทางใจ เป็นความเสียหายในส่วนของสมอง อาการที่พบบ่อยคือ ไม่สามารถปรับอารมณ์ มีความทนทานต่อความเครียดได้น้อย รู้สึกขาดคุณค่าในตนเอง ขาดความมั่นคงทางใจ เมื่อเผชิญความเครียดเพียงเล็กน้อยจะทำให้พบอาการต่างๆ ตามมา และไม่ใช่แต่เด็กที่ถูกทำร้ายที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น ครอบครัวของเด็กก็ถูกกระทบและมีบาดแผลที่ต้องการเยียวยาเช่นกัน

กระบวนการบำบัดฟื้นฟู เริ่มขึ้นตั้งแต่แรกพบกับผู้ช่วยเหลือ

1.การเตรียมความพร้อม   ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมนี้ การพบทีมผู้ช่วยเหลือ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักศิลปะบำบัด นักบำบัด ทำข้อตกลงในการรับบริการตามความต้องการบริการจำเป็น มีการพัฒนาสัมพันธภาพให้เกิดความไว้วางใจ เพื่อนำไปสู่การประเมินสภาวะและการบำบัด

2.การประเมินสภาวะวางแผนบำบัด ทีมจำเป็นต้องมีหลักวิชาการ มีการสืบค้นข้อเท็จจริง ประเมินสภาวะ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยโรค (Diagnosis) และการวางแนวทางการบำบัด(Treatment Planning) ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้เด็กได้รับบริการตามความต้องการจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมบำบัดฟื้นฟู การให้บริการด้านสังคมสงเคราะห์

3.การบำบัดฟื้นฟู การดูแลผู้ที่ถูกกระทำรุนแรงและครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผู้ช่วยเหลือไม่เพียงแต่จะเป็นผู้รักษาบาดแผล หรือความบาดเจ็บของผู้ถูกกระทำรุนแรงด้วยวิธีต่างๆ เช่น จิตแพทย์ให้การรักษาด้วยยา  นักจิตวิทยาใช้วิธีการให้คำปรึกษาแนะนำ  นักสังคมสงเคราะห์ใช้การฝึกทักษะสังคม การปรับปัจจัยทางสังคม ทั้งหมดนี้มีเป้าหมาย เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัยมั่นคงพอที่จะจัดการความทรงจำ ความรู้สึกที่ไม่ดี เป้าหมายต่อมาคือครอบครัวได้รับการบำบัดผลกระทบและพัฒนาการทำหน้าที่ดูแลเด็กได้ตามศักยภาพ

4.วิธีการบำบัด
4.1 การรักษาด้วยยา ในเด็กที่มีผลกระทบจากการทารุณกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการกับอาการนอนไม่หลับ ฝันร้าย วิตกกังวลจนเกิดอาการทางกาย  อาการสมาธิสั้น  บางรายที่มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ การพยายามฆ่าตัวตาย อาจต้องเข้ารับการนอนพักรักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้จิตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยให้การรักษาด้วยยา รวมถึงจิตบำบัดแนวต่างๆ
4.2 การรักษาด้วยจิตบำบัดแนวต่างๆ  เช่น การให้การประคับประคองจิตใจ ให้กำลังใจ การฝึกทักษะในการจัดการอารมณ์ การจัดการปัญหา การวิเคราะห์ทางเลือก การทำจิตบำบัดแบบซาเทียร์ (Satir Transformational Systemic Therapy) การทำจิตบำบัดแบบ EMDR therapy การใช้จิตบำบัดทางเลือก เช่น ศิลปะบำบัด ละครบำบัด
4.3 การจัดสภาพแวดล้อมทางสังคม  เช่น การรักษาสัมพันธภาพกับครอบครัว การนำครอบครัวเข้ารับการบำบัดทั้งทางกาย ทางจิต ผู้ปกครองบางรายจำเป็นต้องได้รับยาทางจิตเวช มีนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปเยี่ยมบ้านเพื่อฝึกทักษะการดูแลลูก การฝึกการสื่อสาร ฝึกทักษะการเป็นพ่อแม่ การจัดการพฤติกรรมของเด็ก

ทีมผู้บำบัดต้องเข้าใจปัญหาโดยองค์รวมซึ่งมีปัจจัยมากมายที่เป็นองค์ประกอบให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ ปัจจัยด้านตัวเด็ก ปัจจัยของผู้แล และปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ ความเชื่อ วัฒนธรรม ค่านิยม ผู้ให้การช่วยเหลือทุกระดับที่เกี่ยวข้องควรได้รับความรู้ในการเยียวยาผู้มีบาดแผลทางจิตใจจากการถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว เพื่อการเยียวยารักษา และป้องกันผู้ถูกกระทำไปเป็นผู้กระทำรุนแรงเอง และผู้กระทำรุนแรงไปกระทำผิดซํ้าอีก

ดังนั้นในการบำบัดฟื้นฟูจึงไม่ใช่การจัดกิจกรรมบำบัดฟื้นฟูแต่เพียงอย่างเดียว หรือให้การบำบัดรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่การบำบัดฟื้นฟูจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับปัญหา มองปัญหาอย่างเป็นระบบ  เข้าใจที่มาของการเกิดปัญหา และสาเหตุ/มูลเหตุที่แท้จริงของปัญหา หลังจากนั้นจึงนำไปสู่เทคนิคหรือวิธีการที่ช่วยเหลือผู้รับบริการเนื่องจากการใช้เทคนิคใดเทคนิคหนึ่งเป็นแค่เพียงการบรรเทาอาการ ควบคุมไม่ให้อาการกำเริบ แต่ไม่สามารถเยียวยา หรือช่วยให้ผู้รับบริการรู้ถึงความสำคัญของอาการที่ยังคงอยู่ได้

5.การส่งต่อความรับผิดชอบ และการคืนเด็กสู่สังคม

  • การส่งต่อความรับผิดชอบเป็นการให้บริการที่นอกเหนือจากความสามารถของการบำบัด เช่น กรณีที่พบว่ามีความรุนแรงจะทำร้ายตนเองจนถึงแก่ชีวิต เป็นอันตรายต่อผู้อื่น จำเป็นต้องรับบริการในสถานพยาบาล
  • การคืนสู่สังคมนั้นจะต้องมีการเตรียมความพร้อม เช่น ฝึกทักษะการปกป้องตนเอง การจัดการอารมณ์ ทักษะการสื่อสาร การขอความช่วยเหลือ เมื่อเด็กอยู่ในสภาวะที่ใกล้เคียงปกติ สามารถดำเนินชีวิตได้ เหมาะกับพัฒนาการตามวัยของตน เด็กจะได้รับการประเมินโดยทีมสหวิชาชีพ เพื่อพิจารณาคืนสู่สังคม  โดยนักสังคมสงเคราะห์ยังติดตามเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินชีวิต
ความจริงของเด็กที่ถูกทำร้าย
: 285