ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่ครอบครัวหรือผู้ดูแลเด็กควรมีเพื่อดูแลปกป้องคุ้มครองเด็ก ให้เด็กๆเติบโตขึ้นมาอย่างปลอดภัย และมีคุณภาพ คือ ความผูกพันที่มั่นคง (Secure Attachment) ความไว้วางใจ (Trust) และการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น (Empathy) ซึ่งการสร้าง 3 สิ่งนี้พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็ก ต้องมีสิ่งต่อไปนี้ คือ

Basic care : การเลี้ยงดูขั้นพื้นฐาน หรือ การดูแลในชีวิตประจำวัน

คือความจำเป็นขั้นพื้นฐานทางกาย การดูแลทางการแพทย์และสุขอนามัยที่เหมาะสม เช่น จัดให้มีอาหาร น้ำดื่ม ความอบอุ่น ที่อยู่อาศัย ความสะอาดและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งการมีสุขอนามัยที่เหมาะสม เป็นต้น

Ensuring safety : การสร้างหลักประกันว่าเด็กจะปลอดภัย

คือการดูแลให้เด็กมั่นใจว่า จะได้รับการปกป้องจากอันตรายหรือการถูกทำร้าย เช่น ปกป้องเด็กจากอันตรายหรือการถูกทำร้ายที่รุนแรง และการปกป้องเด็กจากการติดต่อผู้ใหญ่หรือเด็กที่ไม่ปลอดภัย ป้องกันไม่ให้เด็กทำร้ายตัวเอง รวมทั้งการรับรู้ถึงสารพิษหรืออันตรายทั้งที่อยู่ภายในบ้านหรือที่อื่นๆ เป็นต้น

Emotional warmth : ความอบอุ่นทางอารมณ์ หรือ การเป็นที่พึ่งทางใจให้เด็ก

ดูแลให้เด็กมั่นใจว่าได้รับการตอบสนองต่อความจำเป็นพื้นฐานทางอารมณ์ ให้เด็กได้รับความรู้สึกถึงคุณค่าพิเศษและความรู้สึกเชิงบวกต่ออัตลักษณ์ทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมของตน เช่น ดูแลเด็กให้มั่นใจ มั่นคง และผูกพันทางใจกับผู้ใหญ่ที่เป็นคนสำคัญในชีวิต โดยผู้ใหญ่นั้นมีความไวทางอารมณ์และการตอบสนองที่เหมาะสมต่อความจำเป็นพื้นฐานของเด็ก มีการสัมผัสทางกาย การปลอบโยนและการกอด อย่างเหมาะสมและพอเพียงที่จะทำให้เด็กรับรู้ถึงความอบอุ่น การชื่นชมและกำลังใจ เป็นต้น

Stimulation : การกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก

ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการทางความคิดของเด็กด้วยการกระตุ้นการคิด ให้กำลังใจและให้โอกาสทางสังคม เช่น เอื้อให้เด็กมีศักยภาพทางความคิด ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ การสื่อสาร พูดคุย และตอบสนองต่อภาษาและคำถามของเด็ก สนับสนุนการเล่นและเล่นกับเด็ก ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา ทำให้เด็กได้มีประสบการณ์ของความสำเร็จ และติดตามให้ได้เข้าโรงเรียนหรือได้รับการเรียนรู้ในระดับที่คล้ายคลึงกัน เอื้อให้เด็กได้พบความท้าทายของชีวิต เป็นต้น

Guidance and Boundaries : การให้คำแนะนำและขอบเขต

พ่อแม่สามารถช่วยให้เด็กสามารถปรับอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้ ซึ่งหน้าที่สำคัญของพ่อแม่คือ การทำให้ดู การเป็นแบบอย่างในการแสดงพฤติกรรม ควบคุมอารมณ์ และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น อย่างเหมาะสม รวมทั้งการให้คำแนะนำในเรื่องการกำหนดขอบเขต เพื่อให้เด็กสามารถพัฒนารูปแบบในใจทั้งในเรื่องของคุณธรรม คุณค่าและการรู้ผิดชอบชั่วดี และพฤติกรรมการแสดงออกที่เหมาะสมกับสังคมที่เด็กเติบโตอยู่ด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าที่ยึดถือในตนเอง และสามารถสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมกับผู้อื่นได้อย่างอัตโนมัติ โดยไม่ต้องพึ่งพากฎภายนอกเพื่อควบคุมตนเอง รวมทั้งการไม่ปกป้องทะนุถนอมเด็กมากเกินไป จนเด็กขาดการสำรวจและประการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น เรื่องของการแก้ปัญหาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การจัดการกับความโกรธ การคำนึงถึงผู้อื่น และการฝึกวินัยที่ได้ผล และการปรับพฤติกรรม เป็นต้น

Stability : ความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ หรือการปฏิบัติต่อเด็กอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

คือการช่วยให้สิ่งแวดล้อมในครอบครัวมั่นคงเพียงพอ ที่เด็กจะสามารถ พัฒนาและดำรงไว้ซึ่งความผูกพันที่มั่นคงต่อผู้ดูแลหลักเพื่อพัฒนาการที่เหมาะสม เช่น ทำให้มั่นใจว่าความผูกพันจะดำรงอยู่ มีการตอบสนองทางอารมณ์ที่อบอุ่นสม่ำเสมอ และตอบสนองด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกันต่อพฤติกรรมแบบเดียวกัน การตอบสนองของพ่อแม่ ต้องเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปตามพัฒนาของเด็ก รวมทั้งจัดให้เด็กได้ติดต่อกับสมาชิกในครอบครัวที่มีความหมายต่อตนเอง หรือคนสำคัญในชีวิต

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ สร้างจิตสำนึกในการปกป้องคุ้มครองเด็ก

ศักยภาพพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก
: 285