เลี้ยงลูกอยู่ดีมีสุข

ตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำในการเลี้ยงดูเด็ก  (1)

เป้าหมายการคุ้มครองเด็ก คือ การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใดให้คํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสําคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และกําหนดบทบาทหน้าที่ ผู้ปกครองให้การอุปการะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น ตลอดจนต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ นอกจากนี้ยัง สอดคล้องกับแนวคิดการคุ้มครองเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก คือ การให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อม ของครอบครัวที่ได้รับการเลี้ยงดู คุ้มครองและพัฒนาที่เหมาะสม

เพื่อจุดมุ่งหมายที่สําคัญคือ การให้เด็กได้เจริญเติบโตสมบูรณ์ ทั้งทางร่างกายและจิตใจให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเองสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ด้านสุขอนามัยและพัฒนาการของเด็ก (ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต)

  • ให้การดูแลด้านสุขภาพและป้องกันโรค ในด้านต่างๆ เช่น ดูแลให้เด็กมีสุขภาพดีมีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยเรื้อรังและไม่มีโรคประจำตัว  เมื่อเด็กเจ็บป่วยจะต้องให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อมีอาการเจ็บป่วยร้ายแรงจะต้องจัดให้เด็กอยู่ในความดูแลของแพทย์ทันที
  • มีเอกลักษณ์แห่งตน ได้แก่ การรับรู้ตนเอง มีความเป็นตัวของตัวเองและมีความภูมิใจในสิ่งที่ตนทำ เช่น รู้จักชื่อและนามสกุล อายุ เพศ ที่อยู่ของตนเอง รู้จักเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ความเป็นมาของครอบครัวตนเอง รู้จักปกป้องสิทธิของตนเคารพสิทธิของผู้อื่น บอกได้ถึงความต้องการของตนเอง ปฏิเสธเมื่อไม่ชอบ ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง มั่นใจในตนเอง ตัดสินใจเองได้ ในเรื่องความรับผิดชอบส่วนตน
  • ได้รับการเรียนรู้ ได้แก่ การเรียนรู้ตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ ด้านจริยธรรม เช่น รับฟังผู้อื่น บอกความต้องการ และตอบคำถามง่ายๆ ได้ มีโอกาสได้ออกไปสังคมนอกบ้านกับผู้ปกครอง รู้หน้าที่ของตนเองและสมาชิกในครอบครัว และปฏิบัติตามหน้าที่เมื่ออยู่กับครอบครัวได้ เรียนหนังสือตามเกณฑ์อายุ ตั้งใจจดจ่อพยายาม ทำสิ่งที่ยากได้จนสำเร็จ รู้ว่าตัวเองทำผิดและขอโทษ ปฏิบัติตนได้เหมาะสมกับ บุคคล กาลเวลา สถานที่ เช่น รู้จักแสดงความเคารพต่อผู้ที่อาวุโส รู้จักทำกิจกรรมช่วยเหลือคนอื่นและสังคม
  • มีอารมณ์และพฤติกรรมปกติ ไม่มีปัญหาทางอารมณ์ และไม่มีปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น เมื่อร้องไห้ เด็กสามารถสงบลงได้เมื่อได้รับคำปลอบโยน กิน นอน เล่น ได้ตามเวลา มีกิจกรรมที่ทำให้อารมณ์ ผ่อนคลาย มีวิธีจัดการกับอารมณ์โกรธหรือคับข้องใจของตนเองอย่างเหมาะสม รอคอยได้  พอใจ มีความสุขในชีวิต
  • มีทักษะในการดูแลตนเอง ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ดูแลตนเองให้ปลอดภัย เช่น ดูแลสุขอนามัยส่วนตัว รู้จักระมัดระวังตนเองให้ปลอดภัย รู้เกี่ยวกับร่างกายในส่วนที่ควรปกป้อง ไม่ให้ใครสัมผัสร่างกายบริเวณส่วนตัว แก้ปัญหาด้วยตนเองได้บ้าง และรู้จักขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ รู้จักหลีกเลี่ยงหรือขอความช่วยเหลือเมื่อถูกรุกเร้า ทางร่างกายหรือทางเพศ รู้จักควบคุมตนเองหรือมีทักษะในการระบายออกทางเพศอย่างเหมาะสม เช่น การออกกำลังกาย เล่นดนตรี ศิลปะ
  • สามารถแสดงออกทางสังคม วางตัวได้เหมาะสม และสามารถปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคม เช่น แสดงความผูกพันหรือรู้สึกผ่อนคลายเมื่ออยู่กับผู้ดูแลหลัก ผู้ใหญ่ที่คุ้นเคย แต่งตัวให้เหมาะสมกับเวลา และสถานที่ พูดคุย และกำหนดขอบเขตความใกล้ชิดต่อคนนอกครอบครัวได้เหมาะกับสถานการณ์

ข้อมูล : แบบประเมินมาตรฐานขั้นต่ำในการเลี้ยงดูเด็ก  (เว็บไซต์ https://www.thaichildrights.org/category/articles/article-standard/ )

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    140