โรงเรียนคุ้มครองเด็ก ตอน การป้องกันอันตรายจากบุคคล1. มีกฎเกณฑ์เรื่องระบบการรับ-ส่งเด็กที่ปลอดภัย

กรณีเด็กเล็ก ( 3-8 ปี )

1. กำหนดให้ผู้ปกครองมาส่งเด็กควรส่งให้ถึงคุณครูเพื่อให้คุณครูรับทราบว่าเด็กได้มาถึงโรงเรียนแล้วและหลังเลิกเรียนคุณครูควรส่งเด็กให้ถึงผู้ปกครองเช่นกัน

2. กรณีที่ผู้ปกครองมาส่งเด็กถึงแค่หน้าประตูโรงเรียน ควรมีคุณครูคอยยืนรับเด็กจากผู้ปกครองในช่วงที่ผู้ปกครองมาส่งเด็ก นอกจากนี้คุณครูควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าบุคคลที่มารับเด็กนั้นเป็นผู้ปกครองของเด็กจริง ซึ่งทางโรงเรียนอาจมีการจัดทำบัตรสำหรับผู้ปกครองเพื่อแสดงตัวในการมารับเด็ก
ทุกครั้ง

กรณีเด็กโต ( 9-13 ปี)

ในกรณีเด็กเดินกลับบ้านเอง ให้มีการจัดกลุ่มเด็กที่อยู่บริเวณบ้านใกล้เคียงให้กลับบ้านพร้อมกัน โดยอาจมีหัวหน้าในแต่ละกลุ่มคอยช่วยกันดูแล ขณะเดินทางกลับบ้าน ให้มีการจัดเด็กนักเรียนที่ต้องกลับบ้านเองให้กลับบ้านพร้อมกับเด็กที่มีผู้ปกครองมารับส่ง ซึ่งอยู่บริเวณบ้านใกล้เคียงกัน

กรณีรถรับส่งนักเรียน

  1. ควรมีคุณครูอย่างน้อย 1 คนอยู่บนรถเพื่อได้ดูแลเด็กที่ถูกส่งเป็นคนสุดท้าย
  2. โรงเรียนควรมีประวัติของคนขับรถ

2. มีการสร้างกฎเกณฑ์ความปลอดภัยจากบุคคล

  1. ไม่ให้เด็กหรือผู้ใหญ่อยู่ตามลำพังสองต่อสอง ในห้องเรียนและในสถานที่ต่าง ๆ ที่ลับตาคนโดย
    • ให้มีคุณครูอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของโรงเรียน เช่น ตามชั้นเรียน บริเวณสนามเด็กเล่น เป็นต้น ในช่วงก่อนเรียน ระหว่างพักและหลังเลิกเรียน
    • ถ้าเด็กนักเรียนต้องอยู่กับผู้ใหญ่ในโรงเรียนหรือนักเรียนด้วยกันเองกำหนดว่าจะต้องมีเพื่อนอยู่ด้วยอย่างน้อย 1 –2 คน
    • จัดระบบไม่ให้ผู้ใหญ่และเด็กอยู่ด้วยกันตามลำพังสองต่อสองในที่ลับตาคน และในเวลาอันไม่เหมาะสม ทั้งในช่วงเวลาเรียนปกติและในช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมภายนอกโรงเรียน เช่น ออกค่าย
  2. จัดระบบไม่ให้เด็กนักเรียนอยู่ในห้องเรียนในช่วงก่อนเข้าเรียน ระหว่างพัก และหลังเลิกเรียนโดยโรงเรียนอาจจัดสถานที่และกิจกรรมที่รองรับเด็กนักเรียนให้ทำกิจกรรมด้านล่างอาคารเรียน อย่างเช่น จัดพื้นที่ในการนั่งอ่านหนังสือ , มีอุปกรณ์กีฬาให้เด็กเล่น ฯลฯ โดยบริเวณที่จัดนั้นควรอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ไม่ควรอยู่ในมุมที่มิดชิด
  3. ห้องน้ำ มักเป็นสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุหรือเป็นแหล่งที่เด็กมักจะนัดเจอกันเพื่อกระทำสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้องเช่น แอบมาสูบบุหรี่ เสพยา ตบตีกัน หรือล่อลวงข่มขืน ล่วงเกินทางเพศต่อเด็ก ดังนั้นตัวอย่างแนวทางการจัดหรือสร้างห้องน้ำให้ปลอดภัยต่อเด็กควรพิจารณาดังต่อไปนี้
    • กำหนดไม่ให้เด็กไปห้องน้ำตามลำพัง ถ้าเป็นเด็กเล็กต้องมีผู้ใหญ่ไปด้วยเสมอเพื่อป้องกันภัยบุคคลกับเด็ก
    • ที่ตั้งของห้องน้ำไม่ควรอยู่ในที่ลับตาคนจนเกินไป เช่น อยู่บริเวณที่เป็นมุมเปลี่ยว หรือหลังตึก
  4. บริเวณโรงเรียนไม่ควรมีสถานที่ปลอดคนหรือลับตาคนถ้ามีสถานที่ดังกล่าวควรมีมาตรการในการเปลี่ยนแปลงแก้ไข
  5. กำหนดให้มีการเปิดประตู หน้าต่างห้องเรียนอยู่เสมอในช่วงเวลากลางวันโดยเฉพาะระหว่างพัก
  6. ไม่ให้เด็กอยู่ในบริเวณโรงเรียนตามลำพังโดยไม่มีคุณครูอยู่ในโรงเรียนโดยให้มีการจัดสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กที่มาถึงโรงเรียนก่อนเป็นคนแรกและเด็กที่ออกจากโรงเรียนเป็นคนสุดท้าย โดยมีคนดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัยยิ่งขึ้น

3. การจัดกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะการดูแลตัวเองให้ปลอดภัย

สอดแทรกกิจกรรมหรือเนื้อหาที่จะช่วยให้เด็กมีทักษะในการป้องกันตัวเอง เช่น กิจกรรมหลักสูตรตัวฉันเป็นของฉัน ( หลักสูตรสร้างทักษะในการป้องกันภัยทางเพศให้เด็กระดับชั้น ป.4 – ป. 6 )

4. มีระบบการป้องกันการรังแกกันระหว่างเด็กด้วยกัน

โรงเรียนต้องทำทั้ง 2  ระดับได้แก่

ระดับโรงเรียน

  1. มีการกำหนดมาตรการ “การไม่ใช้ความรุนแรงในโรงเรียน” ให้เป็นนโยบายของโรงเรียน
  2. โรงเรียนควรมีการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ปกครอง เด็กนักเรียนและคุณครูทุกคนถึงปัญหาการรังแกกันระหว่างเด็กในรูปแบบของการสำรวจความเห็นของนักเรียนโดยใช้แบบสอบถามเรื่องการรังแกกัน , การฝึกอบรมครูและผู้ปกครอง
  3. การสร้างวัฒนธรรมภายในโรงเรียนในเรื่องการต่อต้านการใช้ความรุนแรงระดับห้องเรียน เพื่อป้องกันการรังแกกัน อาจมีการกำหนดระเบียบสำหรับห้องเรียนร่วมกันคือ
    • เราจะไม่รังแกคนอื่น
    • เราจะพยายามช่วยเหลือนักเรียนที่ถูกรังแก
    • เราจะพยายามชักชวนเพื่อนที่โดดเดี่ยวให้มาเข้าร่วมกิจกรรม
    • หากเรารู้ว่ามีใครถูกรังแกเราจะแจ้งให้ครูประจำชั้น ( หรือครูท่านอื่น ๆ ) และผู้ปกครองทราบเสมอ

ระดับบุคคล

จัดฝึกอบรมวิธีการป้องกันการรังแกกันให้แก่เด็กนักเรียนเพื่อให้เด็กมีทักษะในการป้องกันตนเองจากการถูกรังแก อีกทั้งการเคารพสิทธิไม่ให้ไปรังแกคนอื่น

 

: 285