'เข้าใจลูก' ลดความรุนแรงในบ้าน
หลายครั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้าน มักเกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อแม่ลูก ความเข้าใจที่พ่อแม่ควรรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลลูกหนึ่งคน มีหลายมิติ เช่น
- เข้าใจธรรมชาติของลูก ในแต่ละช่วงวัยมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั้งทางร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา เด็กต้องการการตอบสนองและวิธีการดูแลที่แตกต่างกัน พ่อแม่จึงไม่ควรเลี้ยงดูลูกในแบบเดียวกันตั้งแต่เล็กจนโต ควรเข้าใจพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยว่ามีลักษณะแบบไหน และตอบสนองพวกเขาในลักษณะแบบนั้น
- เข้าใจ รับรู้ อารมณ์ และความรู้สึกของลูก พ่อแม่รับฟังใส่ใจทุกคำพูดและอารมณ์ความรู้สึกของลูก สะท้อนความรู้สึก ช่วยให้ลูกเข้าใจ ความรู้สึกขณะนั้นของตนเอง ลูกจะไม่เก็บกด ซึมเศร้า เพราะพ่อแม่ให้คุณค่าความรู้สึก ไม่ได้เพิกเฉย เด็กก็จะมีความรู้สึกมั่นคงทางจิตใจว่าเมื่อไรที่เขารู้สึกไม่ดี รู้สึกแย่ พ่อแม่ก็พร้อมอยู่เคียงข้างเขา และทำให้เด็กๆ สามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเองได้ หรือถามความรู้สึกของลูกอย่างตรงไปตรงมา 'หนูเล่าให้แม่ฟังซิ' 'หนูรู้สึกอย่างไร?' 'แม่ช่วยอะไรได้บ้าง?' เด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่ยอมรับความรู้สึกของตนเอง
- เข้าใจ และรับฟัง เปิดใจรับฟังลูกด้วยหัวใจ เมื่อไรก็ตามที่ลูกจะมาเล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่ต้องหันมาให้ความสนใจด้วยสายตา และตอบสนองด้วยคำพูดและท่าทีโดยทันที แต่ถ้าขณะนั้นพ่อแม่ไม่สะดวกที่จะพูดคุยกับลูก ก็ตอบสนองความรู้สึกของลูก 'ตอนนี้ลูกคงรู้สึกไม่สบายใจ แต่แม่ขอเวลาอีก 5 นาที แล้วแม่จะไปคุยด้วย รอแปบนะคะ' หรือบางครั้ง เรื่องราวหรือสิ่งที่ลูกทำพ่อแม่จะไม่เห็นด้วย อย่าเพิ่งด่วนตัดสิน ด่วนสรุป หรือด่วนขัดจังหวะให้คำแนะนำ เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่เขาสามารถบอกเล่าทุกอย่างให้ฟังได้
- เข้าใจและให้โอกาส ให้อิสระ ให้ลูกคิด และลงมือทำอะไรด้วยตนเองตามสิ่งที่ชอบ หรือสนใจ พ่อแม่คอยสังเกต สนับสนุน และเป็นโค้ชให้คำแนะนำ
- เข้าใจและยอมรับในตัวตน สิ่งที่ลูกเป็น ไม่คาดหวัง หรือนำความฝันของเราไปใส่ที่ตัวลูก ไม่ว่าสุดท้ายลูกจะทำสิ่งใดพ่อแม่พร้อมเป็นกำลังใจอยู่เคียงข้างลูกเสมอ
- เข้าใจความเป็นเด็ก ทั้งอารมณ์และพฤติกรรมจะไม่คงที่ ไม่ได้สงบนิ่งตลอดเวลา เด็กต้องการการดูแล เอาใจใส่ และพัฒนาจากพ่อแม่ด้วยความรักและความเข้าใจ
ดาวน์โหลดเอกสารฟรี
1