โรงเรียนคุ้มครองเด็ก ตอน การคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน1. คุณครูต้องมีข้อมูลพื้นฐานของเด็กนักเรียนทุกคน ทั้งทางด้านสภาพร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรม อีกทั้งรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของเด็กอยู่ตลอดเวลาทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังเด็กนักเรียนที่มีปัญหาและเด็กที่ถูกทำร้าย

วิธีการ

1. คุณครูมีแบบฟอร์มบันทึกข้อมูลของเด็กนักเรียนทุกด้าน ตามข้อเท็จจริงจากการสัมภาษณ์และสังเกต ซึ่งข้อมูลที่บันทึกนั้นควรประกอบด้วยสภาพร่างกาย อารมณ์ จิตใจ พฤติกรรม สังคม และปัญหาการเรียน โดยคุณครูควรบันทึกข้อมูลเด็กในทุก ๆ ภาคการเรียน

2. คุณครูควรนำข้อมูลที่เก็บได้มาประเมินโดยเทียบจากพัฒนาการตามวัยของเด็ก ถ้าพบว่าเด็กมีความผิดปกติ ให้รีบค้นหาสาเหตุของปัญหานั้น ๆจากการสัมภาษณ์ สังเกต และสอบถามบุคคลที่ใกล้ชิดเด็ก
ตัวอย่างการประเมินข้อมูลเด็ก

• ด้านร่างกาย พิจารณาจากน้ำหนักส่วนสูง การเคลื่อนไหว การทรงตัว
• ด้านสติปัญญา พิจารณาจากการอ่าน การเขียน การคิด การใช้เหตุผลของเด็ก
• ด้านอารมณ์จิตใจ พิจารณาจากสภาวะทางอารมณ์ การตอบโต้ ต่อสิ่งเร้าว่ามีสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่ การควบคุมหรือรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเป็นอย่างไร
• ด้านบุคลิกและพฤติกรรม การปรับพฤติกรรม การควบคุม ติดตาม การแสดงความคิดเห็น เช่น ก้าวร้าว เหม่อลอย โกหก เรียบร้อย ลักขโมย
• ด้านสังคม เข้ากลุ่มเพื่อนได้ ทำตามกฎเกณฑ์กติกาได้ ช่วยเหลือผู้อื่น และงานส่วนรวม
• ด้านครอบครัว การแสดงออกของเด็กต่อพ่อแม่และคนในครอบครัว ลักษณะความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

3. คุณครูในโรงเรียนควรมีทักษะในการสังเกตเด็กเมื่อพบว่าเด็กมีความผิดปกติ ให้รีบค้นหาสาเหตุนั้นทันที หรือแจ้งครูประจำชั้นของเด็ก

**ความผิดปกติ หมายถึง ร่องรอย บาดแผลตามร่างกาย หรือ พฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามพัฒนาการตามวัยของเด็ก เช่น ซึมเศร้า แยกตัว ก้าวร้าวต่อต้านสังคม หรือพฤติกรรมที่เกิดจากโรคเช่น สมาธิสั้น ออทิสติก เป็นต้น

4. ให้คุณครูมีระบบการรายงานข้อมูลของเด็กนักเรียนให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ครูพละ ครูลูกเสือ ครูเนตรนารี ฯลฯ เพื่อให้คุณครูเหล่านี้เข้าใจสภาพของเด็ก และจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับเด็กแต่ละคน แต่ละกลุ่ม อีกทั้งข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังครูประจำชั้นคนใหม่กรณีเด็กเลื่อนชั้นใหม่ด้วย

2. มีระบบในการดำเนินงานการคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาและเด็กที่ถูกทำร้ายอย่างเหมาะสม

กรณีเด็กมีปัญหาพฤติกรรม บทบาทของครูคือ

1. ค้นหาสาเหตุของปัญหานั้น ๆ ว่าเหตุใดเด็กถึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ เพื่อให้คุณครูเข้าใจในปัญหาที่เด็กแสดงออกมาและมองเด็กในด้านบวก

2. หาทางเข้าแทรกแซงในปัญหาพฤติกรรมนั้น ๆ เช่น ค้นหาความต้องการที่แท้จริงของเด็ก ส่งเสริมให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนสอนให้เด็กรู้จักกับอารมณ์โกรธและควบคุมอารมณ์ให้ได้

กรณีเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น บทบาทครูคือ

1. การส่งข้อมูลกรณีเด็กเลื่อนชั้น หรือแจ้งให้ครูประจำวิชาอื่น ๆ ทราบเพื่อเข้าใจสภาพของเด็กและปรับวิธีการสอนให้เหมาะสม แต่อย่างไรก็ดีการส่งข้อมูลต้องระวังไม่ให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นตราบาป

2. การจัดสิ่งแวดล้อม ช่วยเรื่องโรคสมาธิสั้น เพราะสมาธิขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมมาก

3. ฝึกสมาธิ ถ้ามีการแข่งขันจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการทำ

กรณีเด็กถูกทำร้ายจากผู้ใหญ่ บทบาทครูคือ

1. เมื่อทราบว่าเด็กถูกทำร้ายไม่ว่าจะรู้จากตัวเด็กมาเล่าเองหรือสังเกตเห็น สิ่งแรกคือครูต้องแสดงให้เด็กรับรู้ว่าผู้ใหญ่เชื่อเด็ก แม้จะยังไม่สามารถสืบค้นว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม และสร้างความมั่นใจให้แก่เด็กว่าจะได้รับความช่วยเหลือให้ปลอดภัย

2. คุณครูควรมีการสืบค้นข้อเท็จจริงในประเด็น

• รายละเอียดของความเสียหายของเด็ก
• พยานหลักฐานที่สามารถบ่งชี้ว่าใครเป็นผู้กระทำ หรือร่วมกันกระทำ
• กระบวนการทารุณกรรมเด็กมีขั้นตอนอย่างไร ถูกกระทำกี่ครั้ง
• ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเด็ก ต่อครอบครัว

3. บันทึกคำพูดที่เด็กพูดเวลาสัมภาษณ์ ข้อมูลที่ควรบันทึก คือ

• วัน เวลา สถานที่ที่สัมภาษณ์เด็ก
• สิ่งที่สังเกตเห็นเช่น ร่องรอยบริเวณร่างกาย พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของเด็ก
• ถ้าสามารถถ่ายภาพได้ควรถ่ายภาพเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐาน โดยเฉพาะบาดแผลตามร่างกาย บางกรณีอาจบันทึกเทปคำพูดของเด็กไว้แต่ต้องขออนุญาตจากเด็กก่อนเพื่อให้เด็กรับรู้ว่าจะนำเอาไปทำอะไร

4. เมื่อโรงเรียนประเมินแล้วว่าบุคลากรภายในโรงเรียนไม่สามารถให้การช่วยเหลือเด็กได้ ควรวางแผนประสานงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกในการช่วยเหลือและคุ้มครองเด็ก โดยแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 หรือหน่วยงานเอกชนที่ทำงานด้านเด็ก โรงพยาบาล หน่วยงานของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้น ๆ

สิ่งที่ต้องรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  คือ

• ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับความเสียหายและตัวเด็กผู้เสียหาย เช่นรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่รับทราบ บาดแผล อาการเจ็บป่วย ความผิดปกติทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคมของเด็ก ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น บิดา มารดา ผู้ปกครอง ที่อยู่ของเด็ก ตามเอกสารราชการ และตามความเป็นจริงที่
เด็กอยู่

• ข้อเท็จจริงที่ทำให้ทราบถึงวิธีเข้าถึงตัวผู้เสียหาย รายละเอียดส่วนตัวของเด็ก เช่น เด็กอาศัยอยู่กับใคร รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ปกครอง ใครเป็นผู้ดูแลเด็กตามกฎหมาย และตามความเป็นจริง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กชื่อโรงเรียน ครูประจำชั้น รายละเอียดด้านการศึกษา รายละเอียดเกี่ยวกับ
กิจวัตรประจำวันของเด็ก

• ข้อเท็จจริงที่ทำให้ทราบถึงแนวทางการดำเนินการ เช่น ผู้รับแจ้งเรื่องรับทราบข้อเท็จจริงมาจากใครและทราบได้อย่างไร รายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ทราบมาเป็นอย่างไรรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัย มีความสัมพันธ์กับเด็กและครอบครัวอย่างไร หลังจากทราบแล้วดำเนินการอะไรมาแล้วบ้าง ความประสงค์ในการแจ้งเรื่อง

• ข้อเท็จจริงที่ทำให้ทราบถึงแหล่งข้อมูล เช่น ผู้แจ้งรับทราบข้อเท็จจริงได้อย่างไรหรือทราบจากใคร และบุคคลนั้นรับทราบเรื่องจากใครมา ใครมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลเด็กรายนี้บ้าง ก่อนแจ้งเรื่องมีใครเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องอะไร

กรณีเกิดการข่มเหงรังแกกันระหว่างเด็ก

เมื่อพบว่าเกิดการข่มเหงรังแกกันระหว่างเด็กด้วยกัน เช่น มีการรังแกกันหรือ การข่มขู่ รีดไถเงิน ฯลฯ

1. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับเด็กที่เป็นผู้ข่มเหงรังแกคนอื่น

ให้ใช้วิธีทางบวกกับเด็กที่เป็นผู้ข่มเหงรังแกคนอื่น ทั้งนี้ต้องแทรกแซงยับยั้งพฤติกรรมดังกล่าวและทำให้เด็กเกิดความตระหนักว่า สิ่งที่ตนกระทำไม่ถูกต้องเกิดความเข้าใจและเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของเด็กที่ถูกกระทำ จัดให้เด็กทำกิจกรรมเยียวยาเด็กผู้ถูกกระทำ โดยอาจให้เด็กอยู่ใกล้ชิดกับครูมากที่สุด เพื่อที่ครูจะได้คอยควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น ให้เด็กเป็นผู้ช่วยครูทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียน โดยครูอาจช่วยกระตุ้น ให้เด็กได้มีความรู้สึกเมตตาหรือเห็นอกเห็นใจเด็กคนอื่นที่อ่อนแอกว่าหรือจัดให้เด็กใช้อำนาจในทางที่สร้างสรรค์ เช่น ให้เด็กเป็นผู้นำในการดูแลเด็กที่อ่อนแอ เป็นต้น

2. การแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับเด็กที่ถูกข่มเหงรังแก

ให้พูดคุยกับเด็กอย่างนุ่มนวล และทำให้เด็กสบายใจและรู้สึกมั่นคงในความปลอดภัย โดยแนะให้เด็กรู้จักวิธีการป้องกันตนเองเบื้องต้น เช่น
• หลีกเลี่ยง
• ปฏิเสธ และวิ่งหนี
• ฝึกให้เด็กร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากครู

3. การแก้ปัญหาระยะยาว

• ให้คุณครูค้นหาข้อเท็จจริงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด เช่นเกิดจากเด็กที่เป็นผู้ข่มเหงรังแก หรือ เกิดจากเด็กที่ถูกข่มเหงรังแก และให้ค้นหาสาเหตุต่อไป ว่าสาเหตุใดเด็กจึงข่มเหงรังแกเด็กคนอื่น หรือมีปัจจัยใดที่กระตุ้นเด็กอื่นๆให้รุมกันข่มเหงรังแกเด็กบางคน
• จัดให้มีการทำ case conference โดยเชิญคุณครูที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบวิชาชีพมาร่วมกันค้นหา วิเคราะห์ และวางแผนแนวทางในการจัดการแก้ไขปัญหาของเด็กต่อไป

3. สร้างระบบให้มีบุคลากรที่ทำหน้าที่ในการรับเรื่องกรณีที่เด็กต้องการความช่วยเหลือ

วิธีการ

1. มีการจัดระบบในโรงเรียนให้มีบุคลากรที่รับผิดชอบในการรับแจ้งเรื่องราวจากเด็ก อย่างเช่น คุณครูแนะแนว

2. ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้เด็กนักเรียนรับรู้ถึงบุคคลที่จะมาทำหน้าที่รับผิดชอบในการรับแจ้งเรื่องจากเด็กถ้าเด็กมีปัญหา และต้องการคำปรึกษา

3. จัดระบบให้มีการบอกเล่าปัญหาของตนเองทั้งการพูด หรือ การเขียน เช่น จัดให้มีกล่องรับปัญหา เพื่อให้เด็กที่ไม่กล้าเล่าเรื่องได้เขียนบอกเล่าปัญหาของตนได้เป็นต้น

** บทบาทของคุณครูที่จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวคือ รับฟัง สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของปัญหานั้น ๆ ค้นหาข้อเท็จจริง และหาแนวทางในการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาและป้องกันต่อไป

: 285