“สุดยอดปัญหาหนักอกของวัยรุ่นทั่วโลก”

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์  ข้อมูล
ดารารัตน์ เพียรกิจ  เรียบเรียง

ปัญหาหนักอกเกี่ยวกับเรื่องวุ่นๆของ “วัยรุ่น” คงหนีไม่พ้น เรื่องเพศ การใช้สารเสพติด และความรุนแรงซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเฉพาะกับวัยรุ่นไทยเท่านั้นแต่เป็นสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นทั่วโลก
นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ กรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติและผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ซึ่งได้รับทราบสถานการณ์ด้านเด็กวัยรุ่นทั่วโลก  พบว่าสถานการณ์ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับกลุ่มเด็กวัยรุ่น มีด้วยกัน 4 เรื่อง คือ เรื่องเพศ ความรุนแรง การใช้สารเสพติด และ ใช้จ่ายเงินเกินตัวหรือใช้ชีวิตโดยปราศจากทิศทาง ทั้งนี้ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหากับวัยรุ่นทั้ง 4 ประเด็น ไว้อย่างน่าสนใจซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางให้พ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่อยู่แวดล้อมเด็ก นำไปปรับใช้ในการดูแลเด็กวัยรุ่นได้

• อนามัยเจริญพันธุ์เรื่องที่วัยรุ่นควรรู้แต่ไม่รู้ เพราะขาดคนชี้แนะ

การพัฒนาตนเองในด้านเพศที่กำลังเป็นปัญหามากสำหรับกลุ่มวัยรุ่นคือ ขาดผู้ชี้แนะหรือแนะนำถึงวิธีการดูแลสุขภาพทางเพศ หรืออนามัยเจริญพันธ์  ทำให้เด็กต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งนี้อนามัยเจริญพันธ์ จะเชื่อมโยงมาถึงปัญหาสำคัญอีกสองปัญหา คือ ปัญหาการเรียนรู้เรื่องเพศได้แก่ การดูแลสุขภาพทางเพศของตนเองและการมีเพศสัมพันธ์   ปัญหาการรู้จักวางตนในด้านเพศกับบุคคลอื่นๆ หากเด็กวัยรุ่นไม่สามารถเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ จะนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หรือมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม
การสื่อสารให้เด็กรู้จักดูแลสุขภาพทางเพศของตนเอง มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเด็กวัยรุ่นเพราะจะทำให้เด็กมีมุมมองเกี่ยวกับเพศที่กว้างออกไปมากกว่าเรื่องการมีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะเมื่อฮอร์โมนเพศเริ่มทำงาน เด็กจะเริ่มตระหนักว่าตนเป็นเพศใด รวมทั้งมีความสนใจในเพศตรงข้ามและเกิดอารมณ์เพศเมื่อคิดเกี่ยวกับเรื่องเพศการแนะนำให้เด็กรู้จักดูแลสุขภาพทางเพศของตนเองจะทำให้เด็กได้รับรู้เกี่ยวกับตนเอง       ในทางที่ดี (sense of self) การเข้าใจตัวเอง รู้จุดอ่อน จุดแข็งของตัวเอง การเห็นความแตกต่างในเรื่องความสวยงาม ความสูง เตี้ย ขาว ดำ แตกต่างจากผู้อื่นให้ถือเป็นเรื่องธรรมดาไม่ใช่เรื่องผิดปกติโดยเฉพาะแรงดึงดูดใจทางเพศไม่ได้มีแต่เรื่องความสวย ความหล่อ การแต่งตัวแต่งหน้าทาปาก

การสอนให้เด็กดูแลสุขภาพทางเพศของตนเอง นอกจากทำให้เด็กมีการรับรู้ที่ดีเกี่ยวกับตัวเองแล้ว ยังทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นคนมีคุณค่า เพราะการที่พ่อแม่พูดกับลูกเรื่องอนามัยเจริญพันธ์ ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าในสายตาของพ่อแม่  แสดงให้เห็นว่า พ่อแม่เห็นความเปลี่ยนแปลง ใส่ใจในตัวเด็ก แม้แต่ในรายละเอียดเรื่องเล็กๆน้อยๆ ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรจะเข้าใจและรู้แต่พ่อแม่กลับเข้าใจและรู้ เช่น การมีประจำเดือนของเด็กผู้หญิง จะรู้ได้อย่างไรว่าประจำเดือนจะมาหรือการมีอสุจิของเด็กชาย ควรจะดูแลทำความสะอาดอวัยวะเพศของแต่ละเพศอย่างไร มีปัจจัยกระตุ้นเร้าอารมณ์เพศทางใดบ้างที่ลูกควรหลีกเลี่ยง เช่น การมอง ผู้ชายจะอ่อนไหวต่อการภาพโป๊เปลือยทำให้เกิดอารมณ์เพศได้  เสียง ผู้หญิงจะอ่อนไหวต่อเสียงหวาน เสียงโรแมนติก การสัมผัส ผู้หญิงจะมีจุดที่อ่อนไหวต่อการสัมผัสมากกว่าผู้ชาย เช่น บริเวณหน้าอก สะโพก ขาอ่อน ปาก อวัยวะเพศ จึงมีคำสอนมาแต่โบราณเมื่อเด็กหญิงเริ่มแตกเนื้อสาวห้ามมิให้ใครจับมือถือแขน ถูกเนื้อต้องตัวหรืออยู่กันตามลำพังสองต่อสองกับเพศตรงข้าม กลิ่นฮอร์โมนเพศของเพศตรงข้ามมีฤทธิ์กระตุ้นอารมณ์เพศได้ การคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องเพศแม้ว่าจะไม่มีเพศตรงข้ามอยู่ใกล้ ก็สามารถกระตุ้นตนเองให้เกิดความต้องการมีเพศสัมพันธ์ได้ง่ายเช่นกันรายละเอียดเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องรู้และสอนเด็ก  ประการสำคัญการสอนเด็กให้ดูแลตัวเองในเรื่องเพศจะทำให้เด็กมี sense of self ในทางที่ดี ทดแทนการคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องเพศ อวัยวะเพศ หรือการมีเพศสัมพันธ์

การสอนให้เด็กรู้จักดูแลสุขภาพทางเพศของตนเอง จะต้องมีทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสังคม รวมทั้งต้องพัฒนาการวางตนที่เหมาะสม โดยรู้จักขอบเขตความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆทางร่างกาย จิตใจและสังคม เช่น ทางร่างกายไม่ควรอยู่ใกล้ชิดกับเพศตรงข้ามจนสามารถสัมผัสร่างกายซึ่งกันและกันหรือได้กลิ่นฮอร์โมนเพศของเพศตรงข้าม ไม่ควรอยู่ในที่ลับสองต่อสองกับเพศตรงข้าม ทางด้านจิตใจไม่ควรมีความรู้สึกรักผูกพันกับใครฉันท์ชู้สาว  หรือไม่ควรพัฒนาความสัมพันธ์ทางใจกับใครฉันท์ชู้สาวเพราะจะทำให้ความสามารถในการควบคุมตนในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เราผูกพันก่อนวัยอันควรจะทำได้ยาก การวางตนทางสังคมไม่ควรให้ความสนิทสนมกับเพศตรงข้ามเช่นเดียวกับคนเพศเดียวกัน ไม่ควรไปเที่ยวดูหนังฟังเพลงกับเพื่อนเพศตรงข้ามตามลำพัง เป็นต้น
การพาเด็กไปร่วมกิจกรรมทางสังคม กิจกรรมทางศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี เช่น พบญาติ กิจกรรมของชุมชน งานแต่งงาน หรืองานบุญต่างๆ นอกจากจะทำให้เด็กสนุกแล้วยังทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการสร้างสัมพันธภาพกับคนในสังคม ที่มีเพศต่างกัน มีบทบาทและสถานภาพแตกต่างกัน(Gender) ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องถ่ายทอดให้แก่ลูกผ่านการปฏิบัติไม่ใช่การอ่านจากหนังสือ เนื่องจากวัยรุ่นสมัยนี้ไม่สามารถจำแนกวิธีการปฏิบัติตัวกับเพศตรงข้ามที่มีสถานะแตกต่างกันได้ เช่น ปฏิบัติตัวกับเพื่อนต่างเพศเช่นเดียวกับปฏิบัติตัวกับคู่รักของตน จับมือ โอบกอด  และมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อนจนตั้งครรภ์

นอกจากนี้การเปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือคนที่อยู่ในความทุกข์ร้อน จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น (Empathy)จะทำให้เด็กไม่คิดถึงเกี่ยวกับตัวเอง (ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นอารมณ์เพศ) และจะมีความระมัดระวังไม่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายจากการกระทำของตนเอง เช่น ลูกจะไม่กล้าไปมีเพศสัมพันธ์กับใคร  เพราะกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เหล่านี้จะทำให้เด็กได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ที่ได้เห็นความทุกข์ร้อนของผู้อื่น เข้าใจและนึกถึงผู้อื่นมากขึ้น

• ขาดทักษะจัดการปัญหา ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ สังคมรุนแรง

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้วัยรุ่นใช้ความรุนแรง คือ ขาดทักษะในการจัดการปัญหา ขาดทักษะในการควบคุมอารมณ์ตนเอง  ซึ่งวัยรุ่นจะมีน้อย เนื่องจากในช่วงวัยนี้ สมองส่วนกลางซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์พัฒนาเต็มที่ ขณะที่สมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดไตร่ตรองใคร่ครวญเพิ่งเริ่มพัฒนาแบบก้าวกระโดด สาเหตุที่สอง สภาพแวดล้อมทางสังคมที่แก้ไขปัญหาหรือมีสัมพันธภาพกันบนพื้นฐานของการใช้ความรุนแรง  ไม่จำกัดเฉพาะการใช้กำลังทำร้าย รวมถึงคำพูด กิริยา ที่แสดงออกถึงการใช้ความรุนแรง  อีกสาเหตุที่สำคัญคือ มีปัญหาเรื่อง มองตนเองไม่มีคุณค่า ต้องการการยอมรับ จึงพยายามแสดงออกให้คนยอมรับ  การขาดทักษะการจัดการปัญหาและทักษะสังคม ทำให้ยึดถือการใช้ความรุนแรงเป็นตัวสร้างการยอมรับจากเพื่อน จากสังคม ดังจะเห็นได้จากวัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มเพื่อนต้องทำตัวเองให้เป็น ฮีโร่  เก่ง ในการหาเรื่องคน ทำร้าย ข่มเหงรังแกคนอื่น
พ่อแม่สามารถช่วยลูกได้ ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกได้คิดรู้จักตั้งคำถาม รู้จักตั้งข้อสังเกต ข้อสงสัยกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวไม่ว่าจะเป็นสังคมหรือธรรมชาติทั้งนี้เป็นกระบวนการสำคัญในการฝึกระบบคิดและพัฒนาสมองส่วนหน้า ให้ทำงานมากขึ้น  เพราะก่อนที่เด็กจะทำอะไร หรือมีสิ่งเร้ามากระตุ้น จะไม่ด่วนสรุป ใช้แต่อารมณ์ หากมีการฝึกคิดบ่อยๆ เขาจะรู้จักยับยั้งอารมณ์ตนเอง   ซึ่งการพัฒนากระบวนการรู้คิด (Cognitive Development) สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน และเริ่มทำได้ตั้งแต่เด็กอายุ 7 ปี  โดยกระตุ้นให้เด็กรู้จักตั้งคำถามตั้งข้อสังเกต ข้อสงสัยในทุกๆ เรื่อง  เด็กจะได้คิด วิเคราะห์และหาเหตุผล ได้ด้วยตนเอง

• เด็กเสพติด เพราะขาดที่ยึดเหนี่ยวทางใจ ไร้ความสุข 

ปัญหาเด็กวัยรุ่น ใช้ยาเสพติด ดื่มเหล้าสุรา ใช้สารเสพติด รวมทั้งติดเกม ติดการchat เล่นfacebookสาเหตุหลักๆมาจาก ขาดที่พึ่งพา หรือที่ยึดเหนี่ยวทางใจ  ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ความสุขในการดำรงชีวิต    ขาดความสุขในครอบครัว รวมทั้งเด็กไม่มีภูมิต้านทานแรงกดดันจากเพื่อน ซึ่งทั้งหมดมีทางออก หากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการสื่อสาร มีความเข้าใจอันดีต่อกัน รู้สึกเห็นอกเห็นใจเอื้ออาทรต่อผู้อื่น  และมีความรัก ความเข้าใจต่อกัน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขร่วมกัน เช่น ทำอาหารมื้อพิเศษร่วมกัน ไปเที่ยวด้วยกัน ไปออกกำลังกายเล่นกีฬาด้วยกัน ก็จะก่อให้เกิดความสุขขึ้นภายในครอบครัว วัยรุ่นไม่ต้องไปแสวงหาความสุขจากที่อื่น นอกจากนี้การกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็กอย่างสม่ำเสมอ และถูกต้องจะทำให้เด็กไม่อยากรู้อยากลองในทางที่ผิด เช่น กระตุ้นด้วยการอ่านหนังสือ ทำให้เด็กเกิดความสุขจากการอ่าน  ความสุขจากการได้รับฟังดนตรี ชื่นชมงานศิลปะ เป็นต้น

อีกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่น คือ การใช้จ่ายเงินเกินตัว รวมทั้งดำเนินชีวิตโดยปราศจากทิศทาง ไม่เคยทบทวน เมื่อไม่มีเงินจะกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายตามที่ต้องการ แม้จะมีความผิดทางอาญาก็ตาม การที่จะทำให้วัยรุ่นไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัว  มีสองหลักคือ ให้รู้จักประเมินประโยชน์และต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้ประโยชน์คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายออกไป  วางแผนการใช้จ่ายเงินและการดำเนินชีวิตควบคู่กันไปย่อมสามารถยับยั้งอารมณ์อยากได้ที่เกินตัวหรือเกินจำเป็น

วัยรุ่น เป็นช่วงวัยที่กำลังพัฒนาตนเองทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ เพื่อให้ตนเองพร้อมสู่การเป็นผู้ใหญ่ในภายหน้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีผู้ใหญ่คอยชี้แนะและแนะนำแนวทางการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ไม่ปล่อยให้เขาดำเนินชีวิตตามลำพัง เพื่อให้เขาเติบโตและพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์

: 285