สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์  ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก   ผู้เขียน

ในระยะไม่กี่วันมานี้มีข่าวที่พ่อเลี้ยงฆ่าลูกเลี้ยง อายุ ๒ ขวบบ้าง อายุ ๖ เดือนบ้าง หรือพ่อฝรั่งที่ขู่จะโยนลูกจากที่สูงเพื่อบีบให้แม่เด็กซึ่งเป็นฝรั่งด้วยกันมาเจรจา อีกรายหนึ่งพ่อเลี้ยงข่มขืนกระทำชำเราลูกเลี้ยงตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี จนถึง อายุ ๑๙ ปี จนมีลูกกับพ่อเลี้ยงถึงสองคน โดยที่แม่เป็นผู้บังคับข่มขืนใจลูกสาว จำยอมให้พ่อเลี้ยงกระทำชำเราลูกสาวด้วยเหตุผลเพื่อดึงไม่ให้พ่อเลี้ยงทอดทิ้งตน
เหตุใดเล่าที่แม่นอกจากจะไม่สามารถปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของแม่ กล่าวคือ การดูแลเด็กในชีวิตประจำวัน (Basic care)การสร้างหลักประกันให้เด็กปลอดภัย (Ensuring safety) การเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ (Emotional warmth) การกระตุ้นพัฒนาการตามวัย (Stimulation) การชี้แนะแนวทางชีวิต ให้เด็กสามารถกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมด้านร่างกาย จิตใจ สังคมกับผู้อื่น (Guidance & Boundaries) สร้างเงื่อนไขเอื้อให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดี ต้องการกระทำดีด้วยตนเอง ผ่านการถ่ายทอดแบบอย่างในการดำเนินชีวิต (External control & Internal control, Role Model) มีความเสมอต้นเสมอปลายสามารถสร้างความหนักแน่นมั่นคงทางจิตใจให้แก่ลูก(Stability) แต่ทำไมกลับไปช่วยเหลือหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำร้ายลูกของตน

คำอธิบายง่ายๆสั้นๆก็คือ แม่กับลูกขาดความผูกพันทางจิตใจที่มั่นคงระหว่างกัน (insecure attachment) ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการที่แม่และลูก ไม่สนใจหรือไม่มีความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับจิตใจหรืออารมณ์ซึ่งกันและกัน (empathy) การที่แม่ไม่อาจพัฒนาความผูกพันและการตระหนักถึงจิตใจหรืออารมณ์ซึ่งกันและกัน หรือไม่คิดถึงใจเขาใจเรานั้น เกิดจากชีวิตวัยเด็กของแม่ก็ไม่เคยอยู่ในสภาพครอบครัวที่ตายายสามารถปฏิบัติหน้าที่พ่อแม่ได้ดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นแม่ผู้ไม่สามารถปกป้องลูกยังเกิดจากปัญหาด้านพัฒนาการและปัญหาทางจิตใจดังต่อไปนี้

แม่กลุ่มนี้มักมีปัญหาด้านการพัฒนากระบวนการรู้จักคิด (Cognitive Development) ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการที่ตายายไม่สามารถกระตุ้นพัฒนาการตามวัย (Stimulation) ไม่สามารถชี้แนะแนวทางชีวิต ให้แม่สามารถกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมด้านร่างกายจิตใจสังคมกับผู้อื่น (Guidance & Boundaries) ไม่อาจสร้างเงื่อนไขเอื้อให้แม่มีพฤติกรรมที่ดี ต้องการกระทำดีด้วยตนเอง โดยผ่านการถ่ายทอดแบบอย่างในการดำเนินชีวิต (External control & Internal control, Role Model)จากการใช้ชีวิตประจำวันด้วยกัน การพัฒนากระบวนการรู้จักคิดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แม่ไม่อาจจำแนกผิดถูกชั่วดีได้ชัดเจน ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร จึงไม่รู้สึกว่าการกระทำของสามีของตนเป็นอาชญากรรมร้ายแรงต่อลูก

หากเราย้อนกลับไปเริ่มต้นที่ตายายว่าเมื่อปฏิบัติหน้าที่ที่ควรแล้วจะเกิดผลต่อแม่ในเรื่องนี้อย่างไร คือการกระตุ้นการพัฒนากระบวนการรู้จักคิดของแม่ ย่อมทำให้สมองส่วนหน้าของแม่เกิดความสามารถในการพินิจพิจารณาข้อมูล (Information Processing) เกิดความสามารถในการพินิจพิเคราะห์ (Critical Thinking: hypothetical – deductive reasoning) จึงจะทำให้เกิดวิจารณญาณและสามารถวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆได้อย่างถูกต้องสมเหตุสมผล โดยประมวลเอาประสบการณ์และการคิดวิเคราะห์มาใช้สรุป (Decision making is influenced by analytical and experiential systems)จึงสามารถจำแนกผิดถูกชั่วดีด้วยตนเอง สามารถยับยั้งควบคุมพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วยตนเอง

ดังนั้นการชี้แนะแนวทางชีวิตให้ลูกไม่ใช่การสั่งสอนอบรม แต่จะต้องผ่านการถ่ายทอดแบบอย่างในการดำเนินชีวิตจากการใช้ชีวิตประจำวันด้วยกัน พร้อมๆกับกระตุ้นให้ลูกหัดตั้งข้อสังเกต ตั้งข้อสงสัยและตั้งคำถามไปพร้อมๆกัน เช่น เหตุไรพ่อแม่จึงปฏิบัติต่อปู่ย่าตายายแตกต่างจากลุงป้าน้าอาหรือแตกต่างจากลูกหลาน การบริหารจัดการเวลาว่างว่าเมื่อใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปในเรื่องการเล่นเกม อาจทำให้เสียโอกาสในการเล่นกีฬาออกกำลังกาย ไม่มีเวลาอ่านวรรณกรรม ไม่มีเวลาเล่นหรือพูดคุยกับเพื่อนๆ ไม่มีเวลาดูโทรทัศน์ วาดภาพ ฟังดนตรี ฯลฯ  ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ลูกได้ใช้เวลาว่างในการพัฒนาตนเองให้ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นจะได้ไม่หมกมุ่นกับเรื่องเพศเพราะไม่มีเวลาอยู่กับตนเองตามลำพัง

แม่กลุ่มนี้มักมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเช่นอาการขาดรัก (Inadequacy) เพราะตายายไม่สามารถเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ (Emotional warmth) ให้แก่แม่ ดังนั้นเมื่อแม่มีสามีจึงยึดถือสามีเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของตน จนกระทั่งสามารถกระทำการใดๆเพื่อสามีของตน

จากเหตุผลข้างต้น กรณีที่ลูกยังไม่ถึงแก่ความตายและสามารถดำเนินคดีอาญากับสามีของแม่ก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกจะอยู่อาศัยกับแม่ได้อย่างปลอดภัย โดยเราต้องตั้งคำถามก่อนว่าเหตุไรแม่จึงไม่สามารถปกป้องลูกให้ปลอดภัย แล้วแก้ไขเหตุนั้นไปก่อนพร้อมๆกับการสร้างความไว้วางใจของลูกที่มีต่อแม่ ว่าแม่จะสามารถเป็นที่พึ่งและที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของลูกได้ แม่พร้อมที่จะปกป้องคุ้มครองลูกเสมอ สร้างการตระหนักถึงจิตใจหรืออารมณ์ซึ่งกันและกันหรือการคิดถึงใจเขาใจเรา(empathy)ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่าไม่มีฝ่ายใดจะกระทำการใดๆที่ส่งผลร้ายต่ออารมณ์จิตใจของผู้อื่น

: 285