กรณีละเมิดทางเพศนักเรียนที่มุกดาหาร

ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา

มูลนิธิศานติวัฒนธรรม เชียงใหม่

27 พฤษภาคม 2563

เหตุการณ์การละเมิดทางเพศต่อนักเรียนที่มุกดาหาร มีคนส่งทั้งภาพและวิดีโอคลิปมาให้ผมดู โดยเป็นภาพนักเรียนหญิงวัยรุ่นสามสี่คน แต่งกายวาบหวิว และวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนหญิงมีส่วนร่วมในการมีเพศสัมพันธ์อย่างชัดเจน นัยยะของการสื่อสารก็คือ ต้องการบอกว่า นักเรียนไม่ดีเอง นักเรียนเป็นฝ่ายเสนอตัวหรือมีความเต็มใจที่จะให้ครูกระทำต่อตนเอง

ปัญหาของการมองเฉพาะจุดแบบนี้ก็คือ การไม่เห็นบริบทหรือภาพที่กว้างออกไป ว่ากว่าที่นักเรียนจะมาถึงจุดนี้ได้ จะต้องผ่านอะไรมาบ้าง เริ่มตั้งแต่วัยอนุบาล ประถม จนถึงมัธยม เด็กถูกกล่อมเกลา ปลูกฝังค่านิยมอย่างไร เด็กหญิงถูกปลูกฝังให้ชื่นชมและให้คุณค่ากับความงามภายนอกด้วยการให้แต่งตัว แต่งหน้า ทำผม ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เพื่อขึ้นแสดงบนเวทีและได้รับความชื่นชมจากผู้ใหญ่รอบตัว เด็กอนุบาลหลายคนต้องฝึกเต้นเชียร์กีฬาด้วยการนุ่งน้อยห่มน้อยแล้วทำท่าเต้นแบบหญิงสาว ในงานประจำปีของโรงเรียนครูจะฝึกให้เด็กแต่ละระดับชั้นเต้นรำเข้ากับเพลงชุดต่าง ๆ บนเวทีชุดแล้วชุดเล่าตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 ผมเคยถาม ผอ. โรงเรียนหนึ่งว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้และไม่มีการแสดงแบบอื่น ๆ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ต่างออกไปจากนี้บ้างเลยหรือ ผอ.ตอบว่าแบบนี้ง่ายดี ทุกคนมีส่วนร่วม แต่ในขณะเดียวกัน ผอ. ครู และผู้ปกครอง ไม่ได้ตระหนักเลยว่ากำลังปลูกฝังอะไรให้กับนักเรียน ในช่วงเวลาหลายปีที่เด็กเติบโตขึ้น เมื่อนักเรียนเริ่มเสพสื่อต่าง ๆ ได้ ทั้งทางโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต มือถือ สื่อเหล่านี้ก็นำเสนอค่านิยมแบบเดียวกันตลอดเวลา ถ้าผู้ปกครองและครูก็ไม่ตระหนักถึงอิทธิพลของสื่อ ปล่อยให้เด็กซึมซับข้อมูลเข้าไปปีแล้วปีเล่า กว่าจะโตเป็นสาวสิ่งเหล่านี้ก็ฝังเข้าไปในจิตสำนึกโดยที่เด็กไม่รู้ตัวแล้ว และมองเห็นว่าการนำเสนอตัวเองในลักษณะที่เป็นวัตถุทางเพศ วาบหวิว ยั่วยวน เป็นสิ่งที่ปกติและควรทำ โดยไม่ตระหนักว่าการทำเช่นนั้นจะส่งผลร้ายต่อชีวิตอย่างไร

ในขณะเดียวกันเด็กผู้ชาย (ซึ่งจะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้กระทำความรุนแรง) ก็ได้รับการปลูกฝังเรื่อง “ความเป็นชาย” ที่เป็นพิษตั้งแต่เริ่มรู้ความ เช่น ผู้ชายต้องไม่อ่อนแอ ต้องไม่ร้องไห้ ไม่แสดงอารมณ์ที่อ่อนโยน ต้องแข่งขันเอาชนะ ของเล่นต้องเป็นปืน ดาบ หรืออาวุธอื่น ๆ การใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ (โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่และครูลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงติดต่อกันหลายปี ในที่สุดเด็กจะเริ่มยอมรับว่าการทำร้ายผู้อื่นเป็นเรื่องปกติธรรมดาหรือจำเป็น จากการสำรวจล่าสุดในปลายปี 2562 กับนักเรียนทั่วประเทศกว่าสองหมื่นคน พบว่า 27% เชื่อว่าการเฆี่ยนตีเป็นเรื่องจำเป็นและควรทำ) ในการศึกษาเรื่องการรังแกกันจะพบว่าเด็กชายจะรังแกเพื่อนด้วยการใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย มากกว่าเด็กหญิง อาชญากรส่วนใหญ่เป็นชาย เมื่อเด็กเริ่มเสพสื่อได้ สื่อก็จะเน้นย้ำสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลาหลายปีที่เด็กกำลังเติบโต ถ้าพ่อแม่ก็เสพสื่อเช่นนี้ด้วย เช่น ละคร “ตบจูบ” ที่ส่งเสริมการใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิง นำเสนอฉากการตบตี ข่มขืน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และชี้นำว่าในที่สุดผู้หญิงก็จะยอมและเต็มใจ สื่อโฆษณาที่เพศหญิงแสดงตัวว่าเป็นวัตถุทางเพศ สื่อลามกที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเต็มใจตอบสนองผู้ชายโดยไม่มีศักดิ์ศรีหรือความอายใด ๆ ทั้งสิ้น (ทำได้หรือยอมให้ทำได้ทุกอย่าง) เด็กผู้ชายที่เริ่มมีความสัมพันธ์กับเพศหญิงก็จะมีทัศนคติเช่นนี้อยู่ในใจตลอดเวลา และถือว่าการ “ได้” หรือการ “เป็นเจ้าของ” ผู้หญิง หรือทำร้ายผู้หญิงเมื่อไม่พอใจเป็นความชอบธรรมและไม่มีอะไรน่าละอาย

ในกระบวนการที่จะนำไปสู่การลงเอยด้วยการละเมิดทางเพศต่อเด็ก ซึ่งไม่ใช่การ “ข่มขืน” ตามความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน (คือต้องใช้กำลังบังคับหรือทุบตีให้ยอมโดยไม่เต็มใจ) แต่เป็นการทำให้เด็กต้องยอมตามโดยไม่ต้องทำร้ายร่างกาย จนถึงทำให้ดูเหมือนว่าเด็กเต็มใจหรือมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ต้องผ่านกระบวนการเตรียมเด็ก (grooming) ที่ยาวนาน บางครั้งอาจใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี เริ่มจากการสร้างความไว้วางใจ ให้ความสนใจเป็นพิเศษ สร้างบุญคุณด้วยการช่วยเหลือหรือให้เงิน สิ่งของ สิทธิพิเศษ และในขณะเดียวกันก็เริ่มแสดงออกทางร่างกาย ตั้งแต่การสัมผัสที่ดูเหมือนว่าเป็นความเอ็นดูอย่างบริสุทธิ์ใจ จนเด็กเคยชินแล้วจึงลุกลามเป็นการแสดงออกทางเพศที่ชัดเจนขึ้นตามลำดับ หากเป็นเด็กที่ขาดแคลนทั้งความรักความเอาใจใส่ ขาดแคลนเงินและวัตถุ และในขณะเดียวกันก็มีทัศนคติที่ถูกปลูกฝังมาว่าคุณค่าของผู้หญิงอยู่ที่การทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ เด็กก็จะเคลิบเคลิ้มไปกับความรู้สึกเหล่านี้ ผู้กระทำซึ่งเป็นผู้ใหญ่ สามารถสร้างสถานการณ์ที่เปิดโอกาสให้ล่วงละเมิดทางเพศได้ ก็จะเริ่มหาวิธีที่จะได้อยู่กับเด็กตามลำพัง จนเมื่อได้มีเพศสัมพันธ์กับเด็กแล้ว หลังจากนั้นก็จะปรนเปรอด้วยเงินทอง สิ่งของต่าง ๆ ที่ทำให้เด็กปฏิเสธไม่ได้ แต่เมื่อเด็กเริ่มรู้สึกไม่ดี ไม่อยากทำตามก็จะใช้วิธีกดดัน ข่มขู่ ให้ยอมอีกอยู่เรื่อย ๆ แม้กระทั่งการบันทึกวิดีโอการร่วมเพศเพื่อเอาไว้ขู่ว่าจะเผยแพร่ประจานหากไม่ยินยอม ด้วยการขาดวุฒิภาวะของเด็ก และความขาดแคลนในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการเอาใจใส่ ติดตามดูแลปกป้องคุ้มครองของผู้ปกครอง และการละเลยของผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ในโรงเรียน เด็กจึงต้องตกอยู่ในวังวนของการแสวงประโยชน์ของครูเป็นเวลาต่อเนื่องนับปี จนกระทั่งทนไม่ไหวแล้วจริง ๆ จึงได้ออกมาบอกเล่าปัญหาให้คนอื่น ๆ ฟังหรือร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือ

การนำภาพเด็กที่แต่งตัววาบหวิว และวิดีโอการร่วมเพศมาเสนอเพื่อชี้นำว่าผู้ใหญ่ไม่ผิด เด็กเป็นฝ่ายเต็มใจทำ จึงเป็นการแสดงเจตนาบิดเบือนความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด แม้ยังไม่ต้องพูดถึงแง่กฎหมายที่ถือว่าเด็กยังใช้วิจารณญาณตัดสินใจในเรื่องนี้ไม่ได้ ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนผิดฝ่ายเดียวเท่านั้น

แนวทางการป้องกัน

หากจะให้เป็นการป้องกันปัญหาแบบยั่งยืนและระยะยาว ไม่เป็นแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือเฉพาะรายเป็นครั้งคราวไปเท่านั้น จะต้องทำแบบองค์รวม โดยอิงทฤษฎีสาธารณสุข ซึ่งเสนอว่าปัญหาทุกอย่างจะมีองค์ประกอบสามด้าน คือ ตัวคน (host) ซึ่งตกเป็นเหยื่อหรือได้รับผลกระทบ ตัวโรค (agent) ซึ่งทำให้เกิดความเจ็บป่วย สภาพแวดล้อม (environment) ที่เอื้ออำนวยให้โรคแพร่กระจาย เช่น คนป่วยเป็นไข้เลือดออกเพราะร่างกายอ่อนแอ เมื่อรับเชื้อไข้เลือดออกเข้ามาก็ไม่มีภูมิต้านทานที่จะกำจัดออกจากร่างกายได้ และขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมที่ขาดสุขาภิบาลที่ดี เช่น มีน้ำขัง สกปรก ทำให้พาหะนำโรคคือยุงเพิ่มจำนวนมากขึ้น บ้านหรือห้องนอนไม่มีมุ้ง การจะแก้ปัญหาโดยเอาคนที่เป็นไข้เลือดออกมารักษาทีละคน โดยไม่ทำอย่างอื่นเลยย่อมไม่มีประสิทธิภาพ จึงต้องปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงเพิ่มจำนวนหรือป้องกันไม่ให้ยุงเข้าถึงคนได้ (environment) กำจัดยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรค (agent) และสร้างภูมิต้านทานให้คน (host) เช่นฉีดวัคซีนหรือบำรุงสุขภาพให้แข็งแรงมีภูมิต้านทาน จึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

การลงโทษคนที่ละเมิดทางเพศเด็กเพียงอย่างเดียวโดยไม่แก้ปัญหาด้านอื่น ๆ ไปด้วย จึงเป็นวิธีที่ขาดประสิทธิภาพ เพราะน่าจะยังมีครูหรือผู้ใหญ่อีกจำนวนมาก ที่ยังมีทัศนคติหรือพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การกระทำผิดอีกมาก และมีสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมที่ส่งเสริมหรือเอื้ออำนวยให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว การป้องกันและแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องทำให้ครบทั้งสามด้าน คือ

  • ด้านคน (host) ที่จะได้รับอันตรายหรือตกเป็นเหยื่อ คือเด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง จะต้องได้รับความรู้และทักษะเพื่อให้รู้เท่าทันพฤติกรรมและวิธีการของผู้กระทำ สามารถหลบหลีกหรือขอความช่วยเหลือได้ทันก่อนถูกกระทำ ขณะนี้มีหลักสูตรอบรมนักเรียนอยู่แล้ว ที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที เช่น
  • ระดับอนุบาล หลักสูตรรู้ทันภัยทางเพศ ซึ่งผมนำมาจากเยอรมนี ขณะนี้ได้แปลเป็นภาษาไทย ภาษาพม่า และภาษาเขมร และนำออกทดลองใช้แล้ว เหมาะสำหรับให้ครูและผู้ปกครองอบรมเด็ก แต่ละครั้งใช้เวลาเพียงไม่เกินหนึ่งชั่วโมง
  • ระดับประถมและมัธยมต้น หลักสูตรตัวฉันเป็นของฉัน (My Body, My Self) ซึ่งมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก นำมาจากประเทศแคนาดา ได้จัดทำเป็นภาษาไทยและทำการเผยแพร่มาหลายปีแล้ว
  • ระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย หลักสูตรรักปลอดภัย (Safe Dates) ซึ่งเป็นหลักสูตรป้องกันความรุนแรงในความสัมพันธ์ระหว่างวัยรุ่น เป็นหลักสูตรที่มีงานวิจัยรองรับและแพร่หลายในสหรัฐอเมริกา ผมได้เรียบเรียงเป็นภาษาไทยให้กับ สพฐ. ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.​ 2554 มีคู่มือครูและคู่มือวิทยากรครบถ้วน แต่ยังไม่มีการนำมาใช้หรือเผยแพร่แต่ประการใด
  • ด้านผู้กระทำ (agent) หรือผู้มีความเสี่ยงที่จะกระทำความรุนแรงทางเพศ มีองค์ความรู้และหลักสูตรการอบรม ฝึกทักษะต่าง ๆ ที่สามารถนำมาปฏิบัติได้ เช่น
  • การให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากการถูกข่มขืนหรือความรุนแรงทางเพศ (Trauma-informed Education on Gender-based Violence) จะทำให้เข้าใจถึงผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำว่าความรุนแรงทางเพศส่งผลกว้างไกลต่อชีวิต สุขภาพจิตและสุขภาพกายมากเพียงใด เรื่องบาดแผลทางใจ (trauma) จากการถูกกระทำความรุนแรง เป็นหัวข้อที่วงการสุขภาพจิตกำลังตื่นตัวสนใจกันมากทั้งในด้านการบำบัดรักษาและการป้องกัน แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้
  • การให้ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ที่เหมาะสม (healthy relationship) จะช่วยให้เยาวชนแยกแยะได้ว่าความสัมพันธ์ที่ดีควรมีลักษณะอย่างไรและจะพัฒนาได้อย่างไร ความสัมพันธ์ที่ส่งผลร้ายเป็นอย่างไรและจะหลีกเลี่ยง ป้องกันไม่ให้เข้าไปในความสัมพันธ์เช่นนั้นได้อย่างไร และทัศนคติต่อความเป็นชายที่เป็นพิษ (toxic masculinity) ซึ่งก็มีหลักสูตรแพร่หลายในต่างประเทศเช่นเดียวกัน แต่ในประเทศไทยยังไม่มีใครพูดถึง หลักสูตรนี้จะช่วยให้ผู้ชายหรือเยาวชนชายเข้าใจทัศนคติด้านความเป็นชายที่เป็นภัย และสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้
  • ด้านสิ่งแวดล้อม (environment) สามารถทำได้จากหลายมิติ เช่น
  • การกำหนดนโยบาย ระเบียบ และแนวปฏิบัติในโรงเรียน ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดทางเพศแก่นักเรียนได้ เช่น ห้ามครูอยู่กับนักเรียนสองต่อสองตามลำพังในที่รโหฐานและในเวลาวิกาลหรือนอกเวลาเรียน แนวปฏิบัติเมื่อนำนักเรียนไปนอกสถานศึกษาเช่นไปเข้าค่าย กำหนดแนวปฏิบัติในการร้องเรียนและสืบค้นข้อเท็จจริงเมื่อเกิดเหตุการณ์ กำหนดตัวบุคคลให้เป็นคณะทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อริเริ่มกิจกรรมด้านการป้องกันและติดตามความคืบหน้าและประเมินผล
  • การให้ความรู้และแนวปฏิบัติสำหรับผู้เห็นเหตุการณ์ (Bystanders Education) ให้มองเห็นกระบวนการแฝงตัวเข้าใกล้เด็กและเตรียมเด็ก (grooming) ของผู้กระทำ และแนวทางในการแทรกแซง ขัดขวาง ก่อนเกิดเหตุการณ์ละเมิด ตลอดจนถึงการแจ้งเรื่องกับบุคคลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในหลายกรณีที่ผู้กระทำการละเมิดทางเพศต่อเด็ก ดังที่ปรากฏในต่างประเทศ เช่น Larry Nassar หมอประจำทีมยิมนาสติกแห่งชาติ ได้ละเมิดทางเพศเด็กหญิงนักกีฬา มากกว่า 250 รายในช่วงเวลายี่สิบปี และ Jerry Sandusky โคชฟุตบอลดีเด่น ที่ละเมิดทางเพศและข่มขืนเด็กชายถึง 52 คนในช่วงเวลากว่าสิบปี ทั้งสองกรณีนี้ และอีกหลายกรณีในประเทศไทยเอง มักพบว่ามีผู้รู้เห็นเหตุการณ์หลายคนเสมอ แต่ไม่มีใครขัดขวาง ตักเตือน หรือแจ้งผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ผู้เห็นเหตุการณ์การละเมิดทางเพศส่วนใหญ่จะอึดอัดใจ แต่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร จึงมักจะเมินเฉย ปฏิเสธ สร้างเหตุผลมาแก้ต่างสิ่งที่เห็น หรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ ส่งผลให้การละเมิดดำเนินต่อไปเป็นเวลานานและเด็กถูกกระทำหลายคน การให้ความรู้และแนวทางการปฏิบัติแก่ครู ผู้ปกครอง นักเรียน และประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้เห็นเหตุการณ์ หรือแม้กระทั่งการออกกฎหมายบังคับให้แจ้งเหตุ (mandatory reporting law) สำหรับครูเช่นเดียวกับที่ใช้กับบุคลากรทางการแพทย์หรือทางสุขภาพจิตในหลายประเทศ โดยมีบทลงโทษว่าหากรู้เห็นแล้วไม่แจ้งเหตุจะถูกยึดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
  • ในมุมมองที่กว้างออกไปอีก ได้แก่วัฒนธรรมความเชื่อต่าง ๆ ที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อกัน ดังที่ปรากฏในคำกล่าว “รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี สตรีคือช้างเท้าหลัง ผัวเมียตีกันชาวบ้านไม่เกี่ยว บุญคุณต้องทดแทน ความแค้นต้องชำระ” การส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงและทำให้อับอาย ด้อยค่า หรือละเมิดสิทธิ (เช่น การกล้อนผม) ประเพณีการรับน้อง ซึ่งเน้นที่การข่มขู่บังคับ กดดัน และแฝงด้วยพฤติกรรมทางเพศ เช่น ให้จูบกัน ให้ทำท่าร่วมเพศ ร้องเพลงและเต้นทำท่าประกอบบรรยายการข่มขืน (เช่น เพลงมัดหมี่) อย่างสนุกสนาน ขณะนี้ระบาดจากมหาวิทยาลัยลงไปถึงชั้นมัธยมแล้ว เด็กทำตาม ๆ กันไปโดยไม่ตระหนักถึงความรุนแรงที่กำลังซึมซับเข้าไปตลอดเวลา ครูก็นั่งมองเฉยโดยไม่ทำอะไรหรือสนับสนุนอยู่เงียบ ๆ การให้การศึกษาแก่คนที่เกี่ยวข้องว่าเป็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้อื่น เป็นการข่มเหงทำร้ายจิตใจ และยุติการสนับสนุนทุกรูปแบบ แต่ส่งเสริมวัฒนธรรมที่เป็นการเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ ร่วมมือซึ่งกันและกันมากกว่า จึงสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการกำหนด “บรรทัดฐานสังคม (social norm)” ว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ

การแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหาความรุนแรงบนฐานของเพศและความรุนแรงทุกรูปแบบอย่างยั่งยืน จึงต้องทำอย่างเป็นระบบ รอบด้าน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และมีการประเมินติดตามผล วัดการเปลี่ยนแปลงให้เห็นได้เป็นเชิงประจักษ์​ มีหลักฐานจากการวิจัย มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ ไม่ใช่เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นรายกรณี แล้วปล่อยให้ทุกอย่างกลับเป็นเหมือนเดิมต่อไปจนกว่าจะเกิดกรณีใหม่ขึ้นมาอีกเท่านั้น

: 285