ความปลอดภัยของนักเรียน…เรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย

ผู้เขียน : นางทองไพรำ ปุ้ยตระกูล   หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเด็กและครอบครัว

จากข่าวคราวที่โรงเรียนแห่งหนึ่งจัดค่ายลูกเสือ และมีการจัดฐานหนึ่งที่ต้องให้นักเรียนลงน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำนี้มีความลึกของระดับน้ำ 3 เมตร โดยมีนักเรียนคนหนึ่งว่ายน้ำไม่เป็น และได้หายไปในช่วงที่อยู่ในค่าย จนกระทั่งเมื่อผู้ปกครองไม่พบลูกหลังจบค่ายจึงออกตามหา สุดท้ายพบว่าเด็กจมน้ำเสียชีวิตในแหล่งน้ำตรงบริเวณนี้

กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงคงกำลังดำเนินไป แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร เราทุกคนควรจะเรียนรู้จากเรื่องราวนี้ โดยเฉพาะโรงเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์สลดใจกับนักเรียนคนไหนอีก

ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนทั้งในและนอกโรงเรียนจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงในเรื่องภัยอันตรายต่างๆที่จะเกิดกับนักเรียนให้รอบคอบ เพราะนักเรียนอยู่ในความดูแลของโรงเรียน อันตรายใดๆที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนย่อมเป็นความรับผิดชอบของโรงเรียนทั้งสิ้น การพิจารณาเรื่องความเสี่ยงต่างๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่โรงเรียนต้องมีการดำเนินการก่อนจัดกิจกรรม ดังนี้

  1. สถานที่จัดกิจกรรม โรงเรียนต้องมีการประเมินว่าสถานที่จัดกิจกรรมมีจุดเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บหรือบุคคลอันตรายเข้าถึงเด็กได้หรือไม่
    • อาคารที่พัก/ห้องน้ำ มีความปลอดภัยหรือไม่เพียงใด เช่น มีการแยกโซนที่พัก และ ห้องน้ำตามเพศและวัยที่เหมาะสมหรือไม่ อาคารที่พักและห้องน้ำมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุใดๆกับนักเรียนบ้างหรือไม่ เช่น พื้น หลังคา ประตู หน้าต่าง ระบบไฟฟ้า ฯลฯ
    • บริเวณโดยรอบมีจุดอับจุดเสี่ยงใดๆห รือไม่
    • สถานที่จัดกิจกรรมมีรั้วรอบขอบชิดหรือไม่ บุคคลภายนอกสามารถเข้าออกได้หรือไม่
    • สถานที่จัดกิจกรรมมีแหล่งน้ำหรือไม่ ความลึกของแหล่งน้ำลึกเพียงใด ลักษณะของการลาดเอียงของแหล่งน้ำเป็นอย่างไร แหล่งน้ำมีรั้วรอบขอบชิดที่ป้องกันไม่ให้เด็กลงไปในแหล่งน้ำได้หรือไม่
    • อื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ หรือบุคคลอันตรายที่จะเข้าถึงเด็กได้

หากพบว่ามีจุดเสี่ยงที่ส่งผลต่อชีวิตนักเรียน โรงเรียนควรจะหลีกเลี่ยงการใช้สถานที่ดังกล่าว หรือหากจะใช้สถานที่นั้นๆ ควรจะต้องมีการจัดการกับจุดเสี่ยงนั้นๆให้ปลอดภัยก่อน และมีการวางระบบกฎเกณฑ์ให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายใดๆกับนักเรียน

  1. ลักษณะกิจกรรม โรงเรียนต้องวางแผนกิจกรรมการเรียนการสอนที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เช่น
    • กิจกรรมนั้นๆ มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุกับนักเรียนหรือไม่ อย่างไรบ้าง
    • กิจกรรมนั้นๆ มีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงต่อนักเรียนหรือไม่ อย่างไรบ้าง

เช่น ฐานกิจกรรมที่ให้เด็กลงน้ำ โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ คือ เด็กอาจจะจมน้ำ ดังนั้นควรมีการพิจารณาความลึกของน้ำว่าไม่ควรลึกเกินกว่ากี่เมตร พื้นของแหล่งน้ำนั้นมีความลาดเอียงเพียงใด มีนักเรียนที่ว่ายน้ำไม่เป็นหรือไม่ หรือมีนักเรียนที่มีปัญหาส่วนตัวที่ส่งผลต่อการลงน้ำหรือไม่ หากพบว่าความลึกไม่เหมาะสม ความลาดเอียงไม่เหมาะสม หรือมีนักเรียนที่มีอุปสรรคที่ส่งผลต่อการลงน้ำ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ให้นักเรียนลงน้ำ และควรมั่นใจว่าแหล่งน้ำดังกล่าวมีการกั้นรั้วไม่ให้นักเรียนสามารถเข้าไปในแหล่งน้ำได้ตลอดช่วงเวลาที่ทำกิจกรรม

  1. การเดินทาง หากกิจกรรมการเรียนการสอนมีการเดินทางออกนอกโรงเรียน โรงเรียนต้องพิจารณาความปลอดภัยในการเดินทาง โดยพิจารณา 3 ส่วนหลัก คือ
    • ยานพาหนะในการเดินทางมีความปลอดภัยหรือไม่ เช่น ระบบเบรคของรถอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน สภาพยางไม่เก่า มีดอกยางเหมาะสม มีการติดตั้งอุปกรณ์นิรภัยบนรถ ฯลฯ
    • คนขับรถอยู่ในสภาพที่พร้อมหรือไม่ เช่น ไม่ง่วง ไม่เมา มีความคุ้นเคยกับเส้นทาง ไม่มีพฤติกรรมขับรถด้วยความประมาทและไม่ขับรถเร็ว ฯลฯ
    • เส้นทางในการเดินทางมีความปลอดภัยหรือไม่ เช่น เส้นทางลาดชัน เส้นทางมีความโค้ง ฯลฯ
  2. ตัวนักเรียน เช่น มีนักเรียนที่มีลักษณะพิเศษที่ส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่นหรือไม่ อย่างไร เช่น นักเรียนมีลักษณะสมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง นักเรียนที่มีปัญหาสุขภาพร่างกาย เช่น มีโรคประจำตัวต่างๆ , นักเรียนที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น มีอาการเครียด หรือซึมเศร้า , นักเรียนที่มีปัญหาพฤติกรรม เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว มีการทะเลาะวิวาทหรือมีคู่กรณีอยู่ก่อนแล้ว เป็นต้น นักเรียนกลุ่มดังกล่าวนี้โรงเรียนจะต้องมีการดูแลเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็กเอง หรือต่อเด็กคนอื่นๆ เช่น มีการให้เพื่อนดูแลเพื่อน และ มีการวางตัวครูที่จะเป็นคนดูแลนักเรียน เป็นต้น
  3. มาตรการ / กฎกติกาต่างๆ โรงเรียนควรมีการกำหนดกฎกติกาและมาตรการความปลอดภัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพานักเรียนออกไปทำกิจกรรมการเรียนการสอนนอกสถานที่ อาทิเช่น กำหนดให้มีการเช็คชื่อทุกช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมเพื่อดูว่านักเรียนอยู่ครบหรือไม่ , การกำหนดให้มีครูทำหน้าที่ดูแลทุกช่วงเวลาของนักเรียน , การกำหนดให้มีครูเวรในการดูแลบริเวณที่ทำกิจกรรมตามจุดต่างๆตลอดทุกช่วงเวลา , การวางแผนรับมือกรณีฉุกเฉินต่างๆ , การมีอุปกรณ์สำหรับช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉินต่างๆ เป็นต้น

เหตุการณ์สลดใจต่างๆย่อมไม่มีคนอยากให้เกิดขึ้นกับบุตรหลานของตนหรือนักเรียนในความดูแลของตนเอง การป้องกันโดยการประเมินความเสี่ยงต่างๆจะช่วยลดการสูญเสีย หรืออาจช่วยบรรเทาความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น โรงเรียนจึงไม่ควรละเลยเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนโดยเด็ดขาด

: 285