บทเรียนจากเหตุการณ์ครู 5 คนที่ล่วงเกินทางเพศเด็กนักเรียน

            นางทองไพรำ ปุ้ยตระกูล หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเด็กและครอบครัว :ผู้เขียน

จากเหตุการณ์ครู 5 คน ล่วงเกินทางเพศเด็กนักเรียนในโรงเรียนของตนเอง เรา…ได้บทเรียนอะไรบ้างจากเหตุการณ์นี้ ?

  1. เกิดอะไรขึ้นกับโรงเรียน ที่เด็กนักเรียนถูกล่วงเกินทางเพศมาเป็นปี แต่ไม่มีการช่วยเหลือ ?
  2. เกิดอะไรขึ้นกับโรงเรียน ที่ปล่อยให้ครูที่เคยมีประวัติการล่วงเกินทางเพศนักเรียนมาแล้ว มีโอกาสมาล่วงเกินทางเพศเด็กคนอื่นซ้ำอีก และทำมาเป็นปี?
  3. เกิดอะไรขึ้นกับครู ที่ยอมรับและสนับสนุนการกระทำความผิดเหล่านั้น และโยนความผิดให้เด็กที่ตกเป็นเหยื่อ

มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กเคยช่วยเหลือเด็กหลายคนที่ถูกล่วงเกินทางเพศ โดยผู้กระทำเป็นคนที่สังคมให้ความเคารพเชื่อถือ แน่นอนว่าการทำงานของเรา ผู้กระทำความผิด ก็คือ ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใคร เคยสอนหนังสือ เคยทำความดี  เคยเข้าวัดทำบุญ หรือเป็นเพื่อนที่ดี ลูกที่ดี หรือเป็นพระอาจารย์ชื่อดัง หรือผู้ทรงคุณวุฒิในสังคมก็ตาม  สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ทำให้ใครก็ตาม มีสิทธิมากระทำการล่วงละเมิดทางเพศคนอื่นๆได้ หรือแม้ว่าคนที่ถูกกระทำไม่ได้ปฏิเสธ พวกเขาก็ไม่มีสิทธิมากระทำคนเหล่านั้น

จากเหตุการณ์ครู 5 คนล่วงเกินทางเพศเด็กนักเรียน และมีข่าวออกมาว่า ได้ให้เด็กนักเรียนไปชวนเด็กนักเรียนคนอื่นมาด้วยนั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ครูกลุ่มนี้มีความผิดปกติอย่างมาก อาจมาจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม หรืออาจจะถูกกระทำความรุนแรงในวัยเด็ก

และใครก็ตาม ที่ยอมรับว่าการกระทำความผิดนั้นเป็นเรื่องที่ชอบธรรม หรือยอมรับได้ สมควรได้รับการปกป้อง และให้กำลังใจ  เพียงเพราะคนเหล่านั้นเคยสอนหนังสือ เคยทำความดี เคยเข้าวัดทำบุญ หรือเพราะเป็นเพื่อนที่ดี เป็นลูกที่ดี หรืออื่นๆ คนเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาและปรับแก้ไขวิธีคิดเสียใหม่ ให้มีวิธีคิดที่ถูกต้อง

ระบบโรงเรียนควรจะปรับอย่างไร ?

โรงเรียนควรนำเรื่องราวนี้มาเป็นบทเรียนและป้องกันแก้ไข เพื่อไม่ให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับนักเรียนอีกแม้แต่คนเดียว

  1. หากพบเด็กนักเรียนมีความผิดปกติ ต้องหาสาเหตุ

โรงเรียนควรมีระบบหรือมาตรการในการติดตาม รับรู้ข้อมูลความเป็นไปของเด็กนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในช่วงเปิดภาคเรียนและปิดภาคเรียน หากพบว่าเด็กมีความผิดปกติ เช่น เด็กมีอาการซึม หรือมีผลการเรียนต่ำจากที่เคยเป็น มีลักษณะหรือพฤติกรรมที่ผิดไปจากปกติ หรือเด็กมาบอกข้อมูลกับครูถึงความผิดปกติต่างๆ ครูควรหาสาเหตุของความผิดปกตินั้นๆ หรือขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว , ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. , มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

  1. หากพบสัญญาณความเสี่ยง ต้องป้องกัน

หากโรงเรียนพบสัญญาณความเสี่ยง เช่น มีบุคคลที่น่าจะเป็นอันตรายต่อเด็กอยู่ในโรงเรียนหรือในชุมชน โรงเรียนจะต้องไม่ให้บุคคลเหล่านั้นอยู่ใกล้กับเด็กโดยเด็ดขาด และไม่ควรให้คนแบบนี้มีโอกาสได้อยู่ตามลำพังกับเด็กเลยไม่ว่ากรณีใดๆ เช่น บุคคลที่เคยมีประวัติการกระทำความผิดในเรื่องเพศ หรือเคยถูกกล่าวหาหรือร้องเรียนในเรื่องการทำผิดทางเพศ หรือ เรื่องที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ฯลฯ โรงเรียนจะต้องไม่ปล่อยให้บุคคลอันตรายอยู่ในโรงเรียนโดยไม่ได้ทำอะไรอย่างเด็ดขาด

  1. หากเด็กถูกคุกคาม ต้องตอบสนองอย่างเหมาะสม

หากเด็กบอกเล่าเรื่องราวการถูกบุคคลอันตรายมาคุกคามให้ครูฟัง ควรจะรับฟังเด็ก แม้ว่าเรื่องนั้นอาจจะดูไม่น่าเชื่อในสายตาของครู แต่ขอให้รับฟังเด็กอย่างตั้งใจและหาข้อมูลเพื่อแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้นมาทำหน้าที่ค้นหาข้อเท็จจริงให้อีกที ข้อมูลเบื้องต้นที่ควรจะทราบเพื่อแจ้งขอความช่วยเหลือ คือ เด็กถูกใคร ทำอะไร เมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร เมื่อได้ข้อมูลแล้วให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทันที เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว , ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. , มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก และควรพาเด็กไปตรวจร่างกายโดยเร็ว โดยแจ้งให้แพทย์ทราบถึงข้อมูลการถูกกระทำ

  1. จัดสภาพแวดล้อมและจัดระบบในโรงเรียนให้ปลอดภัย

โรงเรียนควรจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้ปลอดภัย ไม่มีจุดอับ จุดเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณห้องน้ำ ที่ควรมีการแยกเพศ แยกวัยให้เหมาะสม , บริเวณหลังโรงเรียน ควรทำให้ไม่มีจุดลับตา , ห้องเรียน ควรจัดระบบความปลอดภัยโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่มีการเรียนการสอน เช่น ช่วงก่อนเข้าเรียน พักเที่ยง และหลังเลิกเรียน , ห้องพักครู/บ้านพักครู ควรจัดระบบไม่ให้มีครูและนักเรียนอยู่ในพื้นที่นี้ตามทลำพัง และไม่ให้เป็นที่ลับตา ฯลฯ และควรวางมาตรการความปลอดภัยในช่วงโรงเรียนปิดทำการเรียนการสอนด้วย

 

เราจะสอนเด็กอย่างไรให้เด็กไม่ตกเป็นเหยื่อทางเพศ

การสอนให้เด็กมีทักษะนั้น โรงเรียนและผู้ปกครองควรจะให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเด็กและมีการฝึกการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาอย่างสม่ำเสมอ

  1. ฝึกให้เด็กรู้จักประเมินสถานการณ์หรือบุคคลรอบตัว (ทั้งคนใกล้ชิด และคนแปลกหน้า)(ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่)

โรงเรียนและผู้ปกครองควรฝึกให้เด็กรู้จักประเมินสถานการณ์หรือบุคคลรอบตัวทั้งด้านที่ดี และ ไม่ดี ทั้งในโลกความเป็นจริงและโลกออนไลน์ ควรให้เด็กรู้จักสังเกตและประเมินสิ่งที่ไม่ดีหรือไม่ปลอดภัย โดยหมั่นนำเรื่องราวมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่เสมอ

  1. ฝึกให้เด็กตอบสนองอย่างเหมาะสมเมื่อพบเจอกับบุคคลที่เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย

โรงเรียนและผู้ปกครองควรฝึกให้เด็กเรียนรู้การตอบสนองกับบุคคลรอบตัวอย่างเหมาะสม ทั้งในโลกความจริงและโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเมื่อเด็กเผชิญกับบุคคลหรือสถานการณ์ที่เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย โดยหากเด็กพบเจอบุคคลที่เด็กรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยหรือไม่น่าไว้วางใจ เด็กควรจะ

1) ปฏิเสธการพูดคุยหรือชักชวนของคนๆนั้นทันที เช่น พูดว่า 'ไม่เอา' หรือ 'หยุดนะ' หรืออื่นๆ

2) หลีกเลี่ยงออกมาจากคนๆนั้น/สถานที่นั้นโดยเร็วที่สุด

3) รีบมาบอกเล่าให้ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองฟัง (เด็กหลายคนไม่กล้าบอกเล่า ทำให้เกิดอันตรายขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก)

  1. ฝึกให้เด็กรู้จักตัดสินใจ

ในชีวิตประจำวัน เด็กจะต้องมีการตัดสินใจในหลายๆเรื่อง และบางครั้งเด็กอาจจะมีคนมาชักชวนให้ไปทำอะไร ทั้งในโลกความจริงและโลกออนไลน์ โรงเรียนและผู้ปกครองควรฝึกให้เด็กรู้จักตัดสินใจโดยใช้คำถาม 3 ข้อถามตัวเอง เมื่อมีใครมาชวนให้เราไปไหน หรือไปทำอะไร ได้แก่

  • ฉันรู้สึกดีหรือไม่ดี
  • ถ้าฉันทำตามที่คนๆนั้นขอหรือชวน ผู้ปกครองจะรู้หรือไม่ว่าฉันทำสิ่งนั้นหรือไปไหน
  • ถ้าฉันทำตามที่คนๆนั้นขอหรือชวน แน่ใจมั๊ยว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น จะมีคนมาช่วยเราในทันที

หากมีคำตอบข้อใดข้อหนึ่งตอบว่า 'ไม่' ให้ปฏิเสธคำชวนนั้นทันที และมาเล่าให้ผู้ปกครองฟัง

หากผู้ใหญ่ช่วยกันวางระบบ มาตรการ และจัดการสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย รวมถึงสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กอย่างเหมาะสม ก็จะไม่มีเด็กนักเรียนคนไหนถูกล่วงเกินทางเพศในโรงเรียนอีกอย่างแน่นอน และที่สำคัญ คือ เมื่อมีการกระทำการล่วงเกินทางเพศเด็ก เด็กที่เป็นเหยื่อไม่สมควรที่จะถูกตำหนิไม่ว่าเด็กคนนั้นจะขัดขืนหรือไม่ก็ตาม และโรงเรียนควรจะมีระบบในการปกป้องคุ้มครองเด็กที่ตกเป็นเหยื่อไม่ให้ถูกผู้กระทำมาคุกคาม รวมถึงไม่ให้ถูกครูหรือนักเรียนในโรงเรียนมาคุกคามด้วยเช่นกัน ทั้งนี้โรงเรียนควรทำงานควบคู่ไปกับหน่วยงานด้านการคุ้มครองเด็กอย่างต่อเนื่อง

*****

หน่วยงานที่โรงเรียนสามารถขอความช่วยเหลือได้

บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด หรือ ติดต่อ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร.1300

ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ

มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร.02412 0739

 

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 285