“..มีเพื่อนบางคนถามฉันว่าถ้ามีงบประมาณไม่เพียงพอแล้วทำไมต้องดิ้นรนหาเงินมาทำงานนี้ต่อไปอีก ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐซึ่งมีเงินภาษีให้ทำงานเหล่านี้อยู่แล้ว ………..  เพราะกว่า 22 ปีที่ฉันทำงานที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ฉันรู้ดีว่าเราทำงานเพื่อให้เด็กรับการช่วยเหลืออย่างรอบด้านและมีหลักประกันว่าสิ่งที่เราดำเนินการนั้นเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กโดยการทำงานมีการประสานความร่วมมือกับทีมสหวิชาชีพ มีการทำงานหลายอย่างที่เราต่างจากรัฐ  เราจึงจำเป็นต้องทำงานต่อไปเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับเด็กที่ถูกกระทำทารุณ เมื่อเราขาดงบประมาณเราพยายามทำกิจกรรมหลายอย่างเพื่อระดมทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเงิน สิ่งของ หรืออาสาสมัคร  ทุกวันนี้เราได้รับความเมตตาจากวัดให้การอุปการะมูลนิธิฯ โดยมอบเครื่องอุปโภคบริโภคให้บ้านพักเด็กซึ่งมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่ง เราขอรับบริจาคสิ่งของจากคนทั่วไปในการบริจาคสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วหรือสิ่งของใช้แล้วแต่ยังอยู่ในสภาพดี เพื่อที่มูลนิธิฯ จะนำของเหล่านั้นมาปันให้ผู้ที่ต้องการใช้และบริจาคเงินกลับมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กในบ้านพักเด็ก ฉันคิดว่าเมื่อเราเกิดปัญหาเราควรส่งสัญญาณให้คนในสังคมได้รับรู้ เมื่อประชาชนเข้าใจการทำงานและสภาพปัญหาของมูลนิธิฯ ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนเพื่อให้มูลนิธิฯ สามารถดำเนินงานช่วยเหลือคุ้มครองเด็กต่อไป..”

มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ดำเนินการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองเด็กที่ถูกทารุณกรรมและถูกแสวงประโยชน์ตั้งแต่ปี 2524 โดยเฉลี่ยให้การช่วยเหลือเด็กปีละ 400 คน ซึ่งเป็นเด็กที่รับแจ้งให้ช่วยเหลือในปัจจุบันและเด็กที่จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือต่อเนื่อง  หลังจากมูลนิธิฯ รับแจ้งเหตุแล้วพนักงานของมูลนิธิฯ ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักกฎหมาย จะลงพื้นที่เพื่อสืบค้นข้อเท็จจริงและดำเนินการช่วยเหลือเด็กให้ได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ ได้รับการพัฒนาฟื้นฟู ให้การช่วยเหลือทางกฎหมายโดยเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา  และดำเนินการเพื่อให้เด็กได้รับการเยียวยาความเสียหาย หลังจากเด็กได้รับการฟื้นฟูเยียวยาและครอบครัวมีความพร้อม มูลนิธิฯจะส่งเด็กกลับคืนสู่ครอบครัว แต่หากครอบครัวไม่สามารถให้การดูแลเด็กได้ มูลนิธิฯ รับอุปการะดูแลเด็กโดยการจัดหาครอบครัวทดแทน หรือการดูแลทดแทนในรูปแบบอื่นจนกว่าเด็กจะสามารถพึ่งตนเองหรือสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในครอบครัวหรือในสังคมได้

การดำเนินการตามภารกิจดังกล่าวต้องทุ่มเททั้งกำลังคน ทรัพยากร เวลา และงบประมาณจำนวนมาก ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนมากจากองค์กรที่ให้การสนับสนุนการทำงานด้านเด็กจากต่างประเทศ แต่หลังจากที่เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการสนับสนุนจากต่างประเทศลดลง หลายปีที่ผ่านมามูลนิธิฯ พยายามระดมการสนับสนุนจากหน่วยงานภายในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองเด็ก แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน ในปีนี้มูลนิธิฯ จึงจัดงานทอดผ้าป่า “ช่วยหนูด้วย” ขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 กันยายน  2556 ณ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เวลา 13.00 – 15.00 น. เพื่อนำมาเป็นทุนในการดำเนินงานช่วยเหลือเด็กๆเหล่านี้ให้มีชีวิตที่ปลอดภัยมีความสุขและกลับไปมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อีกครั้ง

ทุกวันนี้หากใครถามฉันว่ามูลนิธิฯได้รับสนับสนุนงบประมาณจากใคร ฉันตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า

“มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก สังคมไทยอุปถัมภ์ ”

กำลังใจสำคัญ คือ เด็ก ๆ ที่เราให้ความช่วยเหลือ  ฉันเคยฟังเด็ก ๆ ร้องเพลง “เด็กดั่งดวงดาว”     เพลงของพี่ศุ บุญเลี้ยง ซึ่งหลายคนคงเคยได้ฟัง

“ เมื่อดาวหนึ่งดวง ร่วงลงจากฟ้า จะมีดวงตาเกิดขึ้นมาบนโลกนี้แทน
เป็นเด็กผู้หญิงเป็นเด็กผู้ชาย ส่องแววประกาย
เด็กมีความหมายเช่นดาว
พวกเราจะโตไม่นานหรอกหนา เราจะอาสาเติบโตมาดูแลโลกแทน
ปกป้องป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ
ไม่มีสงครามหากทำตามความฝันของเด็ก
ยังมีพรุ่งนี้  ย่อมมีความหวัง
เด็กคือพลัง เป็นความหวังแห่งวัน
อย่าทำลายฝัน อย่าปิดกั้นไฟ เด็กมีหัวใจ ผู้ใหญ่ช่วยระวัง ”

เมื่อใดที่ฉันรู้สึกท้อใจ นึกถึงวันที่เด็ก ๆ ร้องเพลงนี้ฉันจะมีกำลังใจที่จะพยายามทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ต่อไป และขอบคุณเด็ก ๆ ที่พวกเขามีน้ำใจ   มีความตั้งใจที่จะดูแลโลกนี้ต่อจากเราซึ่งผู้ใหญ่ควรให้การสนับสนุน แต่เด็ก ๆ ที่มูลนิธิฯ ให้ความช่วยเหลือเขาผ่านประสบการณ์ที่เลวร้าย   ได้รับผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจเราต้องช่วยให้พวกเขาสามารถอยู่รอดปลอดภัย ได้รับการฟื้นฟูเยียวยา สามารถพึ่งตนเองและรู้จักที่จะแบ่งปันเพื่อผู้อื่น และสังคมต่อไป

ท่านสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กโดยร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่า “ช่วยหนูด้วย” ในครั้งนี้ และขอความกรุณท่านส่งเรื่องต่อไปยังเครือข่ายชีวิตของท่านซึ่งอาจจะเป็นบุคคล หน่วยงาน องค์กรภาคธุรกิจ เพื่อให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กต่อไป

ศรัทธาและเชื่อมั่น
นางสาววาสนา เก้านพรัตน์
ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ร่วมบริจาค โดยการโอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

  • ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาท่าพระ  เลขที่บัญชี  017 – 2 – 35098 – 3
  • ธนาคารกสิกรไทย สาขาโพธิ์สามต้น  เลขที่บัญชี  067 – 2 – 51383 – 9
  • ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางกอกน้อย เลขที่บัญชี  119 – 0 – 63365 – 9
  • ธนาคารกรุงไทย สาขาสำนักนานาเหนือ  เลขที่บัญชี  000 – 1 – 89258 – 4

(เมื่อโอนเงินแล้ว  กรุณาแฟกซ์สำเนาใบโอนเงิน  พร้อมชื่อและเบอร์โทรติดต่อของผู้โอนเงินมาที่โทรสารหมายเลข 0-2412-9833 หรืออีเมล์ cpcrdonation@gmail.com)

มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เป็นองค์กรสาธารณกุศลลำดับที่ 570
เงินบริจาคให้แก่มูลนิธิฯสามารถนำ ใบเสร็จรับเงินไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีตามที่กฎหมายกำหนด

: 285