หากเราตั้งคำถามว่าเด็กต้องการอะไรจากพ่อแม่? คงจะต้องแบ่งตามอายุหรือตามพัฒนาการของเด็ก สำหรับเด็กเล็กสิ่งที่ต้องการ คือ ความรัก ความอบอุ่น ความใกล้ชิด เมื่อโตขึ้นเด็กยังต้องการสิ่งเหล่านี้อยู่ แต่สิ่งที่ต้องการมากกว่านั้น คือ อยากได้รับการยอมรับ การให้ความยุติธรรม อยากให้พ่อแม่ปกป้องคุ้มครอง เมื่อเป็นเช่นนี้พ่อแม่จึงต้องรู้บทบาทของตนเองเพื่อจะได้เลี้ยงดูลูกอย่างมีคุณภาพ แน่นอนที่สุดพ่อแม่ทุกคนรักลูก และพร้อมที่จะสนองความต้องการของลูกเสมอ แต่จะต้องเป็นไปในขอบเขตที่เหมาะสม และบทบาทที่ถูกต้อง

พระพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ว่า 'พ่อแม่เป็นพรหมของลูก' ซึ่งเป็นความเหมาะสมและครอบคลุมที่สุด สมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าได้ให้หลักพรหมวิหาร 4 ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่พ่อแม่สามารถนำไปปรับใช้ในการเลี้ยงดูลูกให้มีคุณภาพและมีความสุขได้ ดังนี้

  •            เมตตา กรุณา การเลี้ยงดูลูกให้ดีและมีความสุขได้นั้น ต้องเริ่มต้นด้วยความเมตตาต่อลูก ปรารถนาให้ลูกมีความสุข เป็นคนดี ประสบความสำเร็จ และเกิดสิ่งดีๆกับลูกทุกอย่าง เพราะฉะนั้น หากพ่อแม่มีเมตตาเป็นพื้นฐาน พ่อแม่จะไม่ทำร้ายลูก และความรุนแรงในครอบครัวก็จะไม่เกิดขึ้น การทำร้ายการทารุณกรรมทั้งหลายจะไม่มีให้เห็นอย่างแน่นอน ด้วยความเมตตากรุณานี้เอง พ่อแม่ก็จะรู้ว่าตนเองมีหน้าที่จัดหาสิ่งที่จำเป็นพื้นฐานในชีวิตให้แก่ลูกโดยไม่ขาดตกบกพร่อง
  •            มุทิตา เมื่อโตขึ้นเด็กต้องการรู้ว่าเวลาทำอะไรประสพความสำเร็จ หรือทำอะไรได้ด้วยตนเอง เมื่อเขาวิ่งไปหาพ่อแม่ พ่อแม่จะชื่นชม พ่อแม่จะต้องแสดงความชื่นชมยินดีกับลูกทุกครั้ง ทุกขั้นตอนที่ลูกมีความก้าวหน้า มีความสำเร็จ มีความพยายามในสิ่งที่เป็นคุณสมบัติที่ดีทั้งหลายของลูก เช่น ความอดทน ความมีน้ำใจ การช่วยเหลือผู้อื่น พ่อแม่ต้องแสดงออกให้ลูกเห็น และพ่อแม่ก็ต้องทำให้เป็น  เพราะฉะนั้นการที่เราชื่นชมยินดีกับผู้อื่นเมื่อเขาได้ดี หรือประสพความสำเร็จ หากทำให้ลูกเห็นและสอนลูกรู้จักชื่นชมยินดีกับผู้อื่นจะเป็นสิ่งที่ป้องกันความรู้สึกอิจฉาริษยาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างมุทิตาให้เกิดภายในครอบครัวระหว่างพี่น้อง พี่ยินดีกับน้อง น้องยินดีกับพี่ จะนำมาสู่การปลูกฝังความสามัคคีภายในบ้าน ซึ่งพ่อแม่ต้องสามัคคีกันก่อน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันให้ลูกเห็น หรือหากมีการเถียงกันบ้าง ไม่ลงรอยกันบ้าง ในที่สุดก็อภัยกัน ยกโทษให้กัน และลงเอยด้วยการแก้ปัญหาไปได้ด้วยดี ลูกจะได้เห็นว่าการไม่ลงรอยกันเกิดขึ้นในสังคมได้แต่หากฟังเหตุผลกัน ประณีประนอมและให้อภัยกันจะนำมาซึ่งความสงบสุขสมานฉันท์
  •          อุเบกขา พ่อแม่ต้องรู้จักวางอุเบกขาเมื่อลูกทำอะไรได้แล้ว เราเพียงแต่เฝ้าระวังอยู่ห่าง ๆ และเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเขาร้องขอหรือต้องการ เมื่อเขาพลาดพลั้งนั่นก็คือจังหวะที่เราจะก้าวเข้าไปหาและปลอบเขาหรือเป็นกำลังใจให้ลูก หรือในช่วงแรก ๆ ที่เขายังทำอะไรไม่ได้พ่อแม่มีหน้าที่ฝึกหัดให้เขาทำโดยช่วยเขาก่อน หลังจากนั้นจึงให้เขาลองผิดลองถูกตามความเหมาะสม เมื่อเขาทำได้แล้วจึงถอยห่างออกมาดูเขาเท่านั้นและคอยชื่นชม แต่หากเขายังทำไม่ได้พ่อแม่อาจจะค่อย ๆ เข้าไปช่วยเหลือพอให้เขาตั้งหลักได้จึงปล่อยให้เขาทำด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นอุเบกขาเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องเข้าใจ เพื่อพ่อแม่จะได้ไม่เข้าไปโอบอุ้มลูกมากเกินไป จนกระทั่งเด็กขาดความมั่นใจ ขณะเดียวกันลูกก็มีความรับผิดชอบต่อตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่อยู่ตามลำพังเขาก็มีจิตใจเข้มแข็งและมีความมั่นคงในตนเอง อย่างไรก็ตาม การวางอุเบกขา มิได้หมายถึงความไม่สนใจหรือความรักแบบตามใจ เพราะความรักลูกนั้นไม่มีขอบเขตก็จริงแต่การปฏิบัติต่อกันต้องมีขอบเขต และต้องให้การอบรมสั่งสอนคุณธรรม กิริยามารยาท เพราะการอบรมสั่งสอนเป็นเรื่องสำคัญ หากเด็ก ๆ ได้รับการอบรมสั่งสอนน้อยไปและได้เห็นตัวอย่างที่ผิด ๆ ตัวอย่างที่ไม่มีคุณธรรม จะทำให้เด็กไม่รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี และจะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงเมื่อเขาเติบโตขึ้น

นอกจากนิ้สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ หากพ่อแม่ไม่เข้มงวดกับลูกตั้งแต่เล็ก ควบคุมลูกไม่ได้ หากเด็กมีอายุเกิน 5 ปี ไปแล้ว จะมีปัญหาคุณธรรมในอนาคต เป็นผู้ใหญ่ที่เห็นแก่ตัวและประพฤติผิดศีลธรรม จนอาจกลายเป็นพิษภัยต่อสังคม ดังนั้น ควรสอนคุณธรรม จริยธรรม ตั้งแต่ลูกยังเล็กและการให้ความรักอย่างเดียวไม่พอ ต้องอบรมวินัยศีลธรรมให้เกิดภายในตน ควบคู่กันไปและสมดุล การให้เด็กเชื่อฟัง มีสัมมาคารวะ กาลเทศะ หรือ มี'หิริโอตัปปะ' นั่นเอง

และพ่อแม่ยังสามารถใช้หลัก อิทธิบาทสี่ ในการเลี้ยงลูกได้ ซึ่งจะหล่อหลอมลูกให้เติบโตขึ้นและประสบความสำเร็จในชีวิต เกิดความภาคภูมิใจและนับถือตนเอง อันประกอบด้วย คือ

  • ฉันทะ รักพอใจในงาน มีแรงจูงใจ   อยากทำสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์
  • วิริยะ สู้งาน อดทน ไม่ท้อถอย
  • จิตตะ ใส่ใจกับการเรียน การงาน จดจ่อ อุทิศตนให้ลูกเห็นความสำคัญของสิ่งที่กระทำ
  • วิมังสา ทำด้วยปัญญา รู้จักคิดทบทวนปรับปรุง พิจารณาหาเหตุผล

หากนำมาประกอบกับหลักสังคหวัตถุสี่ ซึ่งเป็นธรรมที่ยึดเหนี่ยวใจคน และประสานหมู่ชนไว้ด้วยสามัคคี ครอบครัวจะเป็นแหล่งสำคัญยิ่งในการสร้างความสมานสามัคคีและปรองดองให้เกิดความผาสุก ร่มเย็น ในสังคมได้ ธรรมะข้อนี้ประกอบด้วย

  • ทาน การให้สิ่งของเงินทอง
  • ปิยวาจา ให้คำพูดที่ดี ไพเราะ ด้วยใจรัก
  • อัตตจริยา  ช่วยบำเพ็ญประโยชน์ ใช้แรงกาย การกระทำ
  • สมานัตตตา เข้าไปสมานสัมพันธ์ โดยไม่ถือตัว ไม่ดูหมิ่น ดูถูก ไม่ลำเอียง ร่วมทุกข์ร่วมสุข

การอบรมสั่งสอน จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม พร้อมระเบียบวินัยด้วยหลักธรรมคำสอนตามแนวทงพุทธศาสนานี้ จะปกป้องลูกจากภัยอันตรายทั้งปวง โดยไม่ปิดกั้นกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ ทำให้ลูก….เห็นคุณค่าของตนเอง รักตนเองเป็น ไม่หลงตน คิดเป็น คิดถูก รู้ดีรู้ชั่ว แยกแยะได้  มองโลกในแง่ดี แก้ปัญหาเป็นอย่างสร้างสรรค์ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข  ทำประโยชน์ให้สังคมและประเทศชาติ และยังทำให้รู้จักตน พอใจสิ่งที่ตนมี (สันโดษ)  ควบคู่ไปกับความอดทน พากเพียร (วิริยะ) และมีความก้าวหน้าพัฒนาอยู่เสมอ ดังนั้น เด็กๆ จะเติบโตอย่างมีคุณภาพไม่ได้เลยหากพ่อแม่ และผู้ใหญ่ ไม่ตระหนัก ปรับตัวเองและพัฒนาตัวเองให้เป็นแบบอย่างและมีแนวทางการเลี้ยงดูลูกที่ดีและมีคุณภาพ

 

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 285