ช่วงนี้ผู้ปกครองต้องทำงานจากบ้าน เด็กๆปิดเทอม ไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เพราะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด 19 พ่อแม่ควรถือโอกาสช่วงนี้เติมเต็มทักษะที่จำเป็นต่างๆให้กับเด็ก โดยเฉพาะทักษะความปลอดภัยทางเพศ ที่ควรเสริมสร้างเป็นวัคซีนชีวิตให้กับเด็กอยู่รอดปลอดภัย

เริ่มต้นจากพ่อแม่ผู้ปกครอง

1.พ่อแม่ควรทำให้ลูกรู้ว่าตัวเขาเป็นคนที่มีคุณค่า  จากการศึกษากรณีเด็กที่ถูกล่วงเกินทางเพศพบว่า เด็กส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าหรือมีคุณค่าน้อย ขาดความมั่นใจ  ขาดความรู้สึกอยากจะปกป้องตัวเอง เมื่อถูกล่วงเกินทางเพศจึงไม่คิดทำอะไรเพื่อปกป้องตัวเอง ซึ่งผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดมีส่วนอย่างมากที่จะช่วยให้เด็กรู้สึกดีกับตัวเอง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

(1) ให้เวลากับลูก  แสดงให้ลูกเห็นว่าเราห่วงใยเขาสม่ำเสมอ พร้อมที่จะรับฟังทุกเรื่องที่ลูกเล่า หมั่นพูดคุยชวนให้ลูกเล่าเรื่องต่างๆ หรือมาปรึกษาปัญหากับพ่อแม่

(2) เมื่อลูกมีปัญหาไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ให้ช่วยลูกค้นหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร แล้วช่วยเหลือให้ลูกทำได้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ บางเรื่องที่เกินความสามารถของลูก ก็ต้องยอมรับ ทำความเข้าใจกับลูกด้วยว่าไม่มีใครมีความรู้ความสามารถทุกเรื่อง การที่เราทำบางสิ่งไม่ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร หลีกเลี่ยงการตำหนิหรือโยนความผิดให้เด็ก และต้องไม่ซ้ำเติมเมื่อเขาผิดพลาด

(3) ชมเชย  ให้กำลังใจลูกเมื่อเขาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ตามระดับที่ควรจะเป็น เช่น ช่วยดูแลน้อง ช่วยงานบ้าน หรือสอบผ่าน การชมจะทำให้ลูกรู้สึกว่าตนมีความดี มีความสามารถ ทั้งนี้ต้องชมอย่างจริงใจ ไม่ยกย่องจนเกินไป และให้ชมที่การกระทำและผลที่เกิดขึ้น เช่น 'เย็นนี้หนูกวาดบ้านได้สะอาดดีมาก'  'หนูรินน้ำให้แม่ดื่มช่วยให้แม่หายเหนื่อยได้มากเลยจ้ะ' และไม่ควรอายที่จะต้องขอบคุณเด็ก

2.สอนทักษะสำคัญที่ลูกต้องรู้เมื่อรู้สึกไม่สบายใจ คือ

No = ต้องรู้จักปฏิเสธ เพราะเด็กๆมักไม่ค่อยปฏิเสธผู้ใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นคนที่เด็กรู้จักหรือเคารพนับถือ เด็กก็จะยิ่งไม่ค่อยกล้าปฏิเสธ จึงเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เด็กถูกล่วงเกินทางเพศได้ ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเด็กต้องสอนเด็กว่า เราสามารถปฏิเสธผู้อื่นในสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่ดี หรือเป็นสิ่งที่รู้สึกไม่ชอบมาพากล

G0=  ออกจากสถานการณ์ตรงนั้นทันที

Tell = ต้องกล้าบอกทันที (เรื่องนี้เป็นอุปสรรคสำหรับเด็ก) เพราะบางทีเด็กถูกสอนมาว่า เรื่องเพศไม่ควรพูดออกมา และสังคมไทยมักสอนว่าการกล่าวโทษผู้ใหญ่เป็นสิ่งที่ไม่ดี ความคิดแบบนี้ทำให้เด็กไม่กล้าบอกเรื่องเหล่านี้กับใคร

 3.สอนให้เด็กรู้จักคิดประเมินสถานการณ์เสี่ยง เช่น  เวลามีคนชวนไปไหนหรือให้ทำอะไร ให้เด็กคิดว่า

1.รู้สึกดีที่จะทำสิ่งนั้นหรือไม่

2.ผู้ปกครองจะรู้ไหมว่าเขาทำอะไรและอยู่ที่ไหนกับใคร และ

3.ถ้าเกิดอันตรายหรือคนที่พาเขาไปนั้นหันมาทำร้ายเขา จะมีใครช่วยเขาได้ทันทีหรือไม่

ถ้ามีคำตอบว่า 'ไม่' เพียงข้อเดียว ก็ให้เด็กปฏิเสธ หลีกออกจากสถานการณ์นั้นโดยเร็ว

4.พ่อแม่ควรจะรู้ว่าขณะนี้ ลูกอยู่กับใคร ที่ไหนและทำอะไร

5.สอนเรื่องอวัยวะปกปิด  คือ อวัยวะที่อยู่ใต้ร่มผ้า เช่น หน้าอก ก้น อวัยวะเพศ  ต้นขา  เป็นอวัยวะที่ควรปกปิดและห้ามใครมาสัมผัส หรือขอดู หากมีอะไรเกิดขึ้นให้เด็กรีบบอกพ่อแม่ทันที

6.สอนเด็กให้ระวังภัยร้ายที่แฝงมากับโลกออนไลน์ เช่น  ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนสื่อออนไลน์ทุกประเภท  ไม่ตอบรับคำขอเป็นเพื่อนจากคนที่ไม่รู้จัก  ไม่นัดพบกับบุคคลที่ติดต่อผ่านทางโลกออนไลน์  หากรู้สึกถูกคุกคามหรือร้องขอให้ทำในสิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ ไม่แน่ใจ ให้รีบบอกหรือปรึกษาผู้ปกครองทันที

7.พ่อแม่ควรมีทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดี ตั้งใจฟัง ให้ความสนใจในสิ่งที่ลูกบอกเล่า ไม่ด่วนตัดสินใจว่าเรื่องที่ลูกเล่าถูกหรือผิด  บอกลูกว่าพ่อแม่ชอบฟังเรื่องที่ลูกเล่า จะทำให้ลูกอยากเล่าเรื่องราวต่างๆที่พบเจอให้พ่อแม่ฟัง และควรฝึกให้เด็กเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นประจำวันให้ฟังเสมอ

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 285