บทบาทครู กับการช่วยเหลือเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง
- เมื่อทราบว่าเด็กถูกทำร้ายไม่ว่าตัวเด็กมาเล่าเองหรือครูสังเกตเห็นความผิดปกติ สิ่งแรกคือครูต้องแสดงให้เด็กรับรู้ว่าครูเชื่อเด็ก แม้จะยังไม่สามารถสืบค้นว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม และสร้างความมั่นใจให้แก่เด็กว่าจะได้รับความช่วยเหลือให้ปลอดภัย
- สืบค้นข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็น
- รายละเอียดของความเสียหายของเด็ก
- พยานหลักฐานที่สามารถบ่งชี้ว่าใครเป็นผู้กระทำ หรือร่วมกันกระทำ
- กระบวนการทารุณกรรมเด็กมีขั้นตอนอย่างไร ถูกกระทำกี่ครั้ง
- ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเด็ก ต่อครอบครัว
- บันทึกคำพูดที่เด็กพูดเวลาสัมภาษณ์ ข้อมูลที่ควรบันทึก คือ
- วัน เวลา สถานที่ที่สัมภาษณ์เด็ก
- สิ่งที่สังเกตเห็น เช่น ร่องรอยบริเวณร่างกาย พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของเด็ก
- ถ้าสามารถถ่ายภาพได้ควรถ่ายภาพเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐาน โดยเฉพาะบาดแผลตามร่างกาย บางกรณีอาจบันทึกเทปคำพูดของเด็กไว้แต่ต้องขออนุญาตจากเด็กก่อนเพื่อให้เด็กรับรู้ว่าจะนำไปทำอะไร
- ประสานงานกับหน่วยงานภายนอกในการช่วยเหลือและคุ้มครองเด็ก โดยแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 หรือหน่วยงานเอกชนที่ทำงานด้านเด็ก โรงพยาบาล หน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้น ๆ
สิ่งที่ครูต้องรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คือ
- ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับตัวเด็กผู้เสียหาย ได้แก่ ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น วันเดือนปีเกิด ข้อมูลบิดา/มารดา/ผู้ปกครอง ที่อยู่ของเด็ก การศึกษาของเด็ก ครูประจำชั้น โรงเรียน และอื่นๆ
- ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเสียหาย ได้แก่ เด็กถูกทำอะไร เริ่มถูกกระทำตั้งแต่เมื่อไหร่ สถานที่เกิดเหตุ สภาพร่างกายเด็กเป็นอย่างไร (เช่น มีบาดแผลหรือไม่อย่างไร หรือมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่อย่างไร) สภาพจิตใจของเด็กเป็นอย่างไร และอื่นๆ
- ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัย ได้แก่ ชื่อ นามสกุล ความสัมพันธ์กับเด็กและครอบครัว และอื่นๆ
- ข้อเท็จจริงอื่นๆ ได้แก่ ครูทราบเรื่องได้อย่างไร ทราบเมื่อไร หลังจากทราบเรื่องครูดำเนินการอะไรบ้าง ความต้องการของผู้แจ้งในการแจ้งเรื่อง และอื่นๆ
หน่วยงานที่รับแจ้งเหตุ
1.ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สายด่วน โทร. 1300
2.หากพบปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน สามารถติดต่อร้องเรียนและร้องทุกข์ได้ที่ ศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ กระทรวงศึกษาธิการ โทร. 02-007-0001 หรือสายด่วนการศึกษา 1579
3.มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร.02-412-0739
ดาวน์โหลดเอกสารฟรี
1,007