ทุกๆครั้งในช่วงเทศกาลมักมีข่าวเด็กๆสูญหาย หรือได้รับความไม่ปลอดภัยในชีวิตอยู่บ่อยครั้ง อย่างล่าสุดกรณีเด็กหญิงในวัยหกปีซึ่งหายไปช่วงวันสิ้นปี และพบเป็นศพอยู่ในคลองนั้น เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สะเทือนใจและกระตุกเตือนให้ผู้ใหญ่ที่อยู่แวดล้อมเด็กๆ ควรตระหนักและหันมาใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของเด็กให้มากขึ้น

เนื่องในโอกาสวันเด็กที่จะมาถึงนี้ คุณสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก แนะนำให้ผู้ใหญ่ช่วยกันคุ้มครองป้องกันภัยให้เด็กๆ ด้วยกฎทอง 4 ข้อที่ผู้ใหญ่ต้องคำนึงถึง  คือ

กฎทองข้อที่ 1 Safety Zone : เขตปลอดภัยสำหรับเด็ก

หมายถึงการกำหนดเขตที่อยู่สำหรับเด็กที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย ในระยะที่ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กให้ปลอดภัย การพิจารณาระยะที่เหมาะสมนี้ ขึ้นอยู่กับวัยของเด็กนั้นเอง เช่น

• เด็กในวัยแรกเกิด ถึง ไม่เกิน 3 ปี  : เอื้อมถึงตัวเด็กตลอดเวลา
ด้วยยังอ่อนวัยไร้เดียงสาที่สุด และอยู่ในวัยเริ่มฝึกหัดการใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ยังเดิน วิ่ง หรือเคลื่อนไหวได้ไม่ดี ดังนั้น อุบัติเหตุก็อาจเกิดขึ้นได้มาก เด็กในวัยนี้จึงจะต้องอยู่ในระยะที่ผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเอื้อมถึงตัวตลอดเวลา

• เด็กวัย 3 ปีขึ้นไปจนถึง ไม่เกิน 6 ปี : อยู่ในสายตา
วัยเตาะแตะจนถึงก่อนเข้าโรงเรียน เริ่มสนใจใคร่รู้และพร้อมจะเรียนรู้จักโลกตลอดเวลา ด้วยผัสสะต่างๆ จึงมีโอกาสสูงที่เด็กวัยนี้จะ หยิบ ดม ชิม ฯลฯ วัตถุต่างๆ โดยไม่รู้ว่าเป็นอันตรายได้ ดังนั้น เด็กควรอยู่ในระยะที่ผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของเด็กตลอดเวลา  เรียกว่าอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ตลอดเวลานั่นเอง

• เด็กวัย 6 ปีขึ้นไป จนถึง ไม่เกิน 9 ปี : กำหนดบริเวณ
เด็กๆ ในช่วงวัยนี้ เป็นวัยซนและอยากรู้อยากเห็น ที่สำคัญคือ เขาโตพอที่จะออกไปแสวงหาคำตอบที่สงสัยนั้นเองได้ในระดับหนึ่ง สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว ล้วนเป็นสิ่งที่เร้าความสนใจให้เอาตัวเข้าไปเรียนรู้โดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 และพลังกายที่มีเหลือล้นนั้นก็ขับดันให้เขาออกไปปลดปล่อยด้วยการเล่นหรือออกกำลังกายอย่างอิสระ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครองควรกำหนดบริเวณให้พวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่เราสามารถได้ยินเสียงของเด็กตลอดเวลา รวมทั้งต้องคอยหมั่นเดินไปตรวจสอบดูเป็นระยะๆด้วยว่าเด็กยังอยู่ในเขตปลอดภัยและไม่มีปัญหาอะไร เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกแยะจินตนาการออกจากความจริง จึงอาจเล่นอะไรตามจินตนาการแล้วเกิดอันตรายได้ เช่น เด็กชายคนหนึ่งเล่นสมมติให้ตัวเองเป็นไอ้แมงมุม แล้วพลาดพลั้งทำให้เชือกแขวนรัดคอตนเองจนเสียชีวิต หากเสียงเด็กเงียบไปมักจะมีอยู่สองกรณี คือ  เด็กนอนหลับหรือออกไปนอกเขตกำหนดซึ่งจะก่อภยันตรายที่ใหญ่หลวงแก่เด็กได้

• เด็กวัย 9 ปีขึ้นไปจนถึง ไม่เกิน 12 ปี : คอยสังเกต
เด็กๆ ในช่วงวัยนี้ จัดว่าอยู่ในช่วงวัยเด็กโต แข็งแรง และดูแลตัวเองได้มากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นว่าเขาจะไม่ได้รับการเอาใจใส่จากพ่อแม่ผู้ปกครอง แม้ว่าเขาเริ่มมีความสามารถแยกแยะจินตนาการออกจากความจริง เขาก็ยังต้องอยู่ในที่ที่ผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครองกำหนดให้ และต้องคอยสังเกตเสียงของเด็กเป็นระยะๆ เพราะเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถจำแนกว่าอะไรจะสามารถก่ออันตรายให้แก่ตนเองได้ เช่นอาจแอบหนีไปเล่นน้ำทั้งที่ว่ายน้ำไม่เป็น เล่นจุดไฟ เล่นประทัด เล่นอาวุธหรืออันตรายอื่นๆ รวมทั้งเกิดภัยจากบุคคลอันตรายต่างๆ เมื่ออยู่ลับตาผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครอง

• เด็กวัย 12 ปี จนถึง ไม่เกิน 15 ปี  : ติดตามตัวได้
ช่วงวัยรุ่นตอนต้นที่ยังไม่พ้นอกพ่อแม่ สมองส่วนหน้าจะเริ่มพัฒนาในอัตราก้าวกระโดด ทำให้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เริ่มโต้แย้งพ่อแม่ผู้ปกครองและพวกเขาต้องการอิสระในการดำเนินชีวิต เช่นไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องไปกับพ่อแม่ คือ สามารถเดินทางตามลำพังได้ แต่ผู้ใหญ่ต้องดูแลให้พวกเขาเดินทางไปในสถานที่ที่ผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครองกำหนดหรืออนุญาตให้ไป รวมทั้งให้เดินทางไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้
เด็กในวัยนี้เริ่มมีภาวะเสี่ยงภัยทางเพศมากขึ้น และเป็นเป้าหมายที่สำคัญของคนร้าย เพราะเด็กเริ่มมีฮอร์โมนเพศทำงาน เริ่มสนใจเรื่องเพศ มีอารมณ์เพศ แต่ยังไม่เข้าใจในเรื่องเพศ ไม่รู้เท่าทันการกระตุ้นเร่งเร้าอารมณ์เพศ และสามารถควบคุมตนเองเรื่องเพศได้น้อยมาก พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องรู้ว่าเขาไปทำอะไรกับใคร อยู่ที่ไหน และจะติตามตัวได้อย่างไร

• เด็กวัย 15 ปีขึ้นไปจนถึง 18 ปี : บอกให้รู้ ติดตามตัวได้ ช่วยพ้นภัยทางเพศ
วัยรุ่นวัยแรงที่ดูแลตัวเองได้ดีแล้ว เด็กสามารถไปไหนมาไหนตามลำพังในพื้นที่กว้างขึ้น เช่น ในเมืองของตนเองในช่วงเวลากลางวัน และผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องกำหนดเส้นทางให้ แต่มีข้อแม้ประการหนึ่งก็คือ เด็กต้องบอกให้ผู้ใหญ่รู้ว่าจะไปไหน กับใคร ถ้ามีปัญหาจะติดตามตัวได้อย่างไร ถ้าจะไปนอกเขตเมืองในเวลากลางวัน หรือจะไปไหนเวลากลางคืน แม้ว่าจะยังอยู่ในเขตเมือง จะต้องมีผู้ใหญ่ไปดูแลเสมอ เพราะเด็กในวัยนี้จะมีภยันตรายจากบุคคลเพิ่มขึ้น ทั้งด้านเพศ ด้านการถูกทำร้ายร่างกาย และเรื่องประทุษร้ายต่อทรัพย์ เด็กจะมีรูปร่างกิริยาอาการทางเพศเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ถูกกระตุ้นอารมณ์เพศได้ง่ายกว่าและควบคุมตนเองเรื่องเพศได้น้อยกว่าผู้ใหญ่นอกจากนั้นเมื่อฮอร์โมนเพศที่เริ่มทำงานมากขึ้นจะทำให้เด็กวัยนี้มักทำอะไรหุนหันพลันแล่น ขาดการยั้งคิด อารมณ์แปรปรวน ขุ่นเคืองง่ายจนเกิดการทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันง่าย การเจริญเติบโตที่เกือบเทียบเท่าผู้ใหญ่ มีเรื่องต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้น ทำให้เขาพกเงินหรือทรัพย์สินมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ความสามารถในการระมัดระวังภัยจากการประทุษร้ายต่อทรัพย์ยังมีน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก

กฎทองข้อที่ 2 Safety Rule : “กฎ กติกา มารยาท” เพื่อความปลอดภัย

ถ้าสังเกตให้ดี ในชีวิตปกติของเรา มักแวดล้อมไปด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ อยู่เสมอ แม้ในบริบทที่อิสระที่สุด ที่ที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเอง ทำอะไรได้ตามสบายอย่างเช่นที่บ้าน ก็ยังต้องมีกฎของบ้าน ที่โรงเรียนก็มีกฎของโรงเรียน และเมื่อต้องการป้องกันภัยให้เด็กๆ ก็ต้องตั้งกฎขึ้นมาเช่นกัน

พ่อแม่ผู้ปกครองมีหน้าที่สำคัญในการวางกฎเกณฑ์เพื่อความปลอดภัยให้ลูกหลาน และเด็กๆ มีหน้าที่ต้องเรียนรู้ถึงกฎ กติกา มารยาทเหล่านั้น และปฏิบัติตาม ตัวอย่างของกฎเกณฑ์ดังว่านั้นก็เช่น
กฎเกณฑ์ความปลอดภัยจากบุคคล   มีคำถามง่ายมาก 3 ข้อที่คุณควรบอกให้เด็กๆ ยึดไว้เป็นเกณฑ์ในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับคนอื่น ไม่ใช่เพียงกฎพื้นๆ อย่างเช่น “ แม่ไม่ให้พูดกับคนแปลกหน้า” เท่านั้น แต่เด็กๆ ควรรู้จักใช้วิจารณญาณเพื่อป้องกันภัยให้ตัวเองเมื่อมีใครมาขอให้ทำอะไร ก็ให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า
1.รู้สึกดีหรือไม่ที่จะทำเช่นนั้น หรือไปที่นั้นๆกับผู้ที่มาชักชวน
2.ถ้าไปกับคนนั้นหรือทำสิ่งนั้นแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลจะรู้หรือไม่ว่าเรากำลังทำอะไรหรือไปอยู่ที่ไหน
3.ถ้าไปกับคนนั้นหรือทำสิ่งนั้นแล้ว  หากเกิดอันตรายขึ้นแน่ใจหรือไม่ว่า จะมีใครช่วยเหลือคุ้มครองได้
ถ้าหากมีคำตอบข้อใดข้อหนึ่งว่า “ไม่” แล้วล่ะก็ ไม่ควรไปกับคนนั้นหรือทำสิ่งนั้น ต้องรู้จักการปฎิเสธ

กฎเกณฑ์ความปลอดภัยทั่วไป    ในยามที่อยู่ห่างจากสายตาพ่อแม่ผู้ปกครอง เมื่อมีใครมาทำให้รู้สึกไม่ดี หรือไม่ปลอดภัย เด็กจะต้องรู้จัก
1.บอกคนๆนั้นอย่างชัดเจนและจริงจังว่า “ไม่ชอบ”  “ไม่เอา” หรือ “อย่านะ”
2.หลีกเลี่ยงออกมาจากคนๆนั้น หรือ สถานการณ์นั้นๆโดยเร็ว
3.รีบไปหาผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ และบอกเล่าเรื่องราวให้ฟัง พร้อมกับขอให้ช่วยเหลือคุ้มครอง

กฎเกณฑ์ความปลอดภัยจากการเดินทาง เช่น กฎเกณฑ์ความปลอดภัยในการเดินทาง เช่น วิธีการข้ามถนนอย่างปลอดภัย การขึ้นรถโดยสารให้ปลอดภัย เช่นสอนให้เด็กขึ้น-ลงรถเมื่อรถจอดสนิท หรือ ให้เด็กนั่งบริเวณตอนหน้าของรถหรือหลังคนขับ เป็นต้น

กฎเกณฑ์ความปลอดภัยในการเล่นกีฬาประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาที่ค่อนข้างใช้ความรุนแรงหรือเสี่ยงต่ออันตราย เช่น การว่ายน้ำ การเล่นฟุตบอล เป็นต้น เด็กๆ ควรได้รับรู้ถึงกฎ กติกา และมารยาทในการเล่นกีฬาประเภทนั้นและรู้ว่า ควร หรือไม่ควรทำสิ่งใดบ้างในยามเล่น เช่น ไม่ควรไปว่ายน้ำคนเดียวโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล หรือไม่ควรเตะลูกบอลอัดตัวเพื่อน เป็นต้น

กฎทองข้อที่ 3 การจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย

การจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นที่ๆ ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ คือปัจจัยหนุนที่สำคัญสำหรับการดูแลเด็ก ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือที่โรงเรียน หรือในชุมชนที่มีอาณาเขตกว้างขึ้น เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะจัดปรับแต่งสถานที่ต่างๆ ให้ปลอดภัยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นภัยจากอุบัติเหตุที่พบว่าเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ภัยจากโรค และภัยจากคน

หากจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็เช่น การจัดหาของเล่นและเครื่องเล่นที่ปลอดภัย การวางระบบไฟฟ้าที่ปลอดภัย เช่น มีการติดตั้งสายดิน ติดตั้งอุปกรณ์ตัดไฟฉุกเฉิน ฯลฯ การมีมาตรการตรวจตราระบบไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ การติดตั้งระบบควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต การสร้างห้องน้ำให้อยู่ในที่เปิดเผยและปลอดภัย ฯลฯ

นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ควรมีการกำหนดหรือแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ของเด็ก เช่น อาคารเรียน ห้องน้ำสำหรับเด็ก ฯลฯ เนื่องจากการปล่อยให้ผู้ใหญ่ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาใช้พื้นที่ของเด็ก หรือมาอยู่ใกล้ชิดตามลำพังสองต่อสองกับเด็ก อาจเกิดอันตรายที่คาดไม่ถึงต่อเด็กได้

กฎทองข้อที่ 4 Empathy : สร้างความไว้วางใจ เป็นเกราะกันภัยให้ลูกน้อย

ในทุกกฎทองที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเรื่องทางกายภาพ ที่คุณมองเห็นและจัดการได้ไม่ยากเย็นนัก ทว่ากฎทองข้อที่ 4 นี้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่งกว่า เพราะคือกฎที่ว่าด้วยเรื่องของจิตใจ นั่นก็คือการที่เรา ผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ดูแลเด็กๆ  จะทำให้เด็กๆ ได้รับการยอมรับว่าเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่ม เช่น เป็นสมาชิกของครอบครัว สมาชิกของโรงเรียน สมาชิกของชุมชน หรือสมาชิกของกลุ่มต่างๆ ให้เขารับรู้ว่า เขาไม่ได้เติบโตขึ้นอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีตัวตน หรือไม่มีความสำคัญ แต่ควรทำให้เขาตระหนักว่า เขาคือสมาชิกคนหนึ่งของสังคมในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน

เราจะต้องทำให้เด็กๆ รู้สึกว่า เขาได้รับการสอดส่องดูแลจากพี่ป้าน้าอา ฯลฯ บรรดาเพื่อนบ้าน เขาอยู่ในสายตาขงคุณครู อยู่ในความเอาใจใส่ของพ่อแม่และญาติพี่น้อง การรับรู้ว่าเขามีตัวตนและเป็นพวกเป็นพ้องคนหนึ่งของสังคมนี้จะทำให้ได้รับความอุ่นใจ มีความไว้วางใจกัน เอื้ออาทรต่อกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่ม และไม่ใช้การทะเลาะวิวาทหรือกลั่นแกล้งรังแกกันเป็นการแก้ไขปัญหา

กฎทองทั้ง 4 ข้อนี้ นับว่าเป็นหลักสำคัญให้ผู้ใหญ่ทุกคนยึดถือ เพื่อเป็นของขวัญแสนวิเศษให้กับเด็กๆในทุกๆวัน

61