มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มีคำแนะนำดีๆให้กับเด็กๆ ได้รู้จักการประเมินสถานการณ์และปกป้องตนเองจากสถานการณ์อันตรายต่างๆ เพื่อดูแลปกป้องตนเองให้ปลอดภัย โดยเฉพาะภัยที่มาจากบุคคล ที่เกิดขึ้นได้ทั้งจากคนใกล้ตัว และคนแปลกหน้า ดังนี้

1.สัมผัสที่ดี /สัมผัสไม่ดี (Safe Touch / Unsafe Touch)

  • สัมผัสที่ดีและปลอดภัย คือ สัมผัสที่ทำให้เรารู้สึกดี รู้สึกชอบ อบอุ่นและปลอดภัย เช่น พ่อแม่โอบกอด ผู้ใหญ่จูงมือข้ามถนน  ลูบหัวปลอบเวลาเศร้า คุณหมอจับตัวตรวจรักษาเวลาเจ็บป่วย
  • สัมผัสที่ไม่ดีและไม่ปลอดภัย คือ สัมผัสในพื้นที่ร่างกายส่วนตัวของเรา เช่น บริเวณก้น อวัยวะเพศ หน้าอก ริมฝีปาก ใบหน้า เป็นพื้นที่ที่ห้ามใครมาสัมผัส หรือขอดู และการสัมผัสที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดี รุนแรง ทำให้เรารู้สึกกลัว รู้สึกแปลกๆ ไม่อบอุ่น และไม่ปลอดภัย
  • ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อน เพื่อนผู้ปกครอง เพื่อนบ้าน ฯลฯ ไม่ควรมาจับหรือสัมผัสในพื้นที่ร่างกายส่วนตัวของเราเป็นอันขาด
  • หากเราได้รับการสัมผัสที่ไม่ดีและไม่ปลอดภัยจากใครก็ตาม ไม่ควรปกปิด เป็นความลับ ควรบอกกับพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้รู้และช่วยเหลือทันที

2.คนแปลกหน้าไม่ใช่มิตร

  • ไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้า ถ้าพ่อแม่ไม่อยู่ด้วย
  • ไม่รับสิ่งของใดๆจากคนแปลกหน้า
  • ไม่ไปไหนกับคนแปลกหน้า
  • ไม่กระทำตามที่คนแปลกหน้าร้องขอ

3.คำถาม 3 ข้อก่อนตัดสินใจ

เมื่อมีคนที่เรารู้จัก คนใกล้ตัว หรือคนแปลกหน้า มาชวนให้เราไปไหน หรือไปทำอะไร เด็กๆควรตัดสินใจโดยใช้คำถาม 3 ข้อ ถามตัวเอง ได้แก่

  • หนูรู้สึกดีหรือไม่ดี
  • ถ้าหนูทำตามที่คนๆนั้นขอหรือชวน ผู้ปกครองจะรู้หรือไม่ว่าเราทำสิ่งนั้นหรือไปไหน
  • ถ้าหนูทำตามที่คนๆนั้นขอหรือชวน แน่ใจมั๊ยว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น จะมีคนมาช่วยเราในทันที

หากมีคำตอบข้อใดข้อหนึ่งตอบว่า 'ไม่' ให้ปฏิเสธคำชวนนั้นทันที และมาเล่าให้ผู้ปกครองฟัง

4.ร้องตะโกน / วิ่งหนี /บอกเล่า

– ตะโกนดังๆ : เมื่อมีคนมาปฏิสัมพันธ์กับเรา มาพูดคุย หรือกระทำอะไรบางอย่าง แล้วทำให้เรารู้สึกไม่ดี หรือไม่ปลอดภัย ให้ร้องตะโกนดังๆ อย่างชัดเจน ว่า 'ไม่' 'หยุดนะ' หรือ 'ช่วยด้วย' เพื่อหยุดการกระทำของผู้กระทำ

-วิ่งหนี : หลังจากตะโกนดังๆแล้ว ให้รีบหนีออกจากสถานการณ์เสี่ยง  หรือ หนีออกจากคนๆนั้นโดยเร็ว

-บอกเล่า : ให้รีบมาบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ผู้ใหญ่หรือคนที่คิดว่าจะช่วยเราได้ทันที

5.เล่าเรื่องราว

– เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นกับเรา เราจะต้องรีบบอกให้ผู้ใหญ่ที่เราไว้ใจรับรู้ โดยให้เล่าเหตุการณ์ว่ามีใคร มาทำอะไรเรา เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน และเมื่อไหร่ เรารู้สึกอย่างไร  สิ่งสำคัญ คือ เราต้องสังเกตว่าคนที่เราเล่าให้ฟังนั้นเขาเชื่อ และจะช่วยเหลือเราหรือไม่  หากไม่ ให้เราหาผู้ใหญ่คนอื่นแล้วเล่าให้เขาฟังจนกว่าจะมั่นใจว่าจะมีผู้ใหญ่มาช่วยเหลือ  หรือโทรศัพท์ขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน เช่น ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร. 1300

อินโฟกราฟิกโดย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to DearFlip WordPress Flipbook Plugin Help documentation.

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 285