ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เด็กๆคงอยู่บ้านกันเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ละแวกบ้านอาจมีคนที่เด็กคุ้นเคย หรือไม่คุ้นเคย มาอยู่ละแวกบ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองอย่าได้ละเลยเรื่องความปลอดภัยของเด็กๆนะคะ เราจะดูแลให้เด็กๆปลอดจากโรคไวรัสโควิด-19 ไปพร้อมๆกับปลอดภัยจากบุคคลอันตราย มาดูกันว่าเราจะดูแลเด็กๆให้ปลอดภัยจากบุคคลอันตรายกันได้อย่างไร

  1. ฝึกให้เด็กรู้จักประเมินสถานการณ์หรือบุคคลรอบตัว (ทั้งคนใกล้ชิด และคนแปลกหน้า)(ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่)

ผู้ปกครองควรฝึกให้เด็กรู้จักประเมินสถานการณ์หรือบุคคลรอบตัวทั้งในด้านที่ดี และ ด้านที่ไม่ดี  เช่น บุคคลที่เด็กเห็นในแต่ละวันเป็นอย่างไร เด็กรู้สึกอย่างไรกับคนๆนี้ หรือ สถานการณ์นี้ทั้งในโลกความเป็นจริงและโลกออนไลน์ เช่น รู้สึกชอบ ไม่ชอบ รู้สึกกลัว ไม่กลัว รู้สึกกังวล รู้สึกมีความสุข หรืออื่นๆ เช่น หนูรู้สึกไม่สบายใจที่จะอยู่ใกล้คนนี้เลย เพราะเค้ามีกลิ่นที่หนูไม่ชอบ หรือ หนูรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่เล่นกับพี่คนนี้ เพราะพี่เค้าใจดีและชอบช่วยเหลือหนู ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ควรให้เด็กรู้จักสังเกต ประเมิน แล้วมาพูดคุยกันในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ

  1. ฝึกให้เด็กตอบสนองอย่างเหมาะสมเมื่อพบเจอกับบุคคลที่เด็กรู้สึกไม่ไว้วางใจ

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นอกจากเด็กๆจะต้องเรียนรู้เรื่องระยะห่างที่ปลอดภัยแล้ว เด็กยังต้องเรียนรู้การตอบสนองกับบุคคลรอบตัวอย่างเหมาะสม ทั้งในโลกความจริงและโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเมื่อเด็กเผชิญกับบุคคลหรือสถานการณ์ที่เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย โดยผู้ปกครองควรบอกเด็กว่าหากเด็กพบเจอบุคคลที่เด็กรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยหรือไม่น่าไว้วางใจ เด็กควรจะ

1) ปฏิเสธการพูดคุยหรือชักชวนของคนๆนั้นทันที เช่น พูดว่า 'ไม่เอา' หรือ 'หยุดนะ' หรืออื่นๆ

2) หลีกเลี่ยงออกมาจากคนๆนั้นโดยเร็วที่สุด

3) รีบมาบอกเล่าให้ผู้ปกครองฟัง

  1. ฝึกให้เด็กรู้จักตัดสินใจ

ในชีวิตประจำวัน เด็กจะต้องมีการตัดสินใจในหลายๆเรื่อง และบางครั้งเด็กอาจจะมีคนมาชักชวนให้ไปทำอะไร ทั้งในโลกความจริงและโลกออนไลน์ ผู้ปกครองควรฝึกให้เด็กรู้จักตัดสินใจโดยใช้คำถาม 3 ข้อถามตัวเอง เมื่อมีใครมาชวนให้เราไปไหน หรือไปทำอะไร ได้แก่

  • หนูรู้สึกดีหรือไม่ดี
  • ถ้าหนูทำตามที่คนๆนั้นขอหรือชวน ผู้ปกครองจะรู้หรือไม่ว่าเราทำสิ่งนั้นหรือไปไหน
  • ถ้าหนูทำตามที่คนๆนั้นขอหรือชวน แน่ใจมั๊ยว่าถ้าเกิดอะไรขึ้น จะมีคนมาช่วยเราในทันที

หากมีคำตอบข้อใดข้อหนึ่งตอบว่า 'ไม่' ให้ปฏิเสธคำชวนนั้นทันที และมาเล่าให้ผู้ปกครองฟัง

  1. พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลเด็กให้เหมาะสมตามแต่ละวัย

ในช่วงนี้ นอกจากผู้ใหญ่จะสนใจเรื่องโควิด-19 แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองอย่าลืมที่จะดูแลเด็กให้ปลอดภัยในแต่ละวัยดังนี้

**เด็กอายุ แรกเกิด- 3 ปี  ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กโดยให้เด็กอยู่ในสายตาผู้ดูแลตลอดเวลาและอยู่ในระยะมือเอื้อมถึง

**เด็กอายุ 4-6 ปี  ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กให้อยู่ในระยะสายตาผู้ใหญ่ตลอดเวลา  อยู่ในระยะห่างที่สามารถได้ยินเสียงและตอบสนองเสียงเรียกได้ทันที

**เด็กอายุ 7-9 ปี  ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กให้อยู่ในสายตาผู้ดูแล  เรียกหาและตอบสนองกันและกันได้

**เด็กอายุ 10-12 ปี  ผู้ปกครองรู้เสมอว่าเด็กอยู่ในที่ๆปลอดภัย อยู่กับคนที่ปลอดภัย และติดตามเด็กได้ตลอดเวลา

**เด็กอายุ 13-15 ปี ผู้ปกครองฝึกให้เด็กเดินทางเอง โดยผู้ปกครองให้คำปรึกษา ให้เด็กมีเครื่องมือสื่อสารที่สามารถรู้ได้ว่าเด็กอยู่ที่ไหน และผู้ปกครองต้องรู้เสมอว่าเด็กอยู่ที่ไหน กับใคร และมั่นใจว่าเด็กอยู่ในที่ๆปลอดภัย กับคนที่ปลอดภัย

**เด็กอายุ 15-18 ปี ฝึกให้เด็กบริหารจัดการการเดินทางด้วยตัวเอง โดยผู้ปกครองติดตามดูแลเด็กอยู่ห่างๆ คอยให้คำแนะนำเมื่อพบอะไรที่ไม่เหมาะสม หรือมีความเสี่ยง และรู้เสมอว่าเด็กอยู่ในที่ที่ปลอดภัย กับคนที่ปลอดภัย

ข้อสำคัญ คือ หากพบว่ามีบุคคลอันตรายอยู่ละแวกบ้าน หรือมีโอกาสเข้ามาใกล้ตัวเด็ก ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่นอกสายตาเป็นอันขาด และไม่ควรให้บุคคลอันตรายอยู่ใกล้ตัวเด็กเป็นอันขาด ควรจะประสานงานไปยังผู้เกี่ยวข้องให้มาช่วยดูแลต่อไป

  1. รับฟังและตอบสนองเด็กอย่างเหมาะสม

เมื่อใดก็ตามที่เด็กบอกเล่าเรื่องราวใดๆให้ฟัง ควรจะรับฟังเด็ก แม้ว่าเรื่องนั้นอาจจะดูไม่น่าเชื่อ หรือ เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญในสายตาผู้ใหญ่ แต่ขอให้รับฟังเด็กอย่างตั้งใจ เพราะเมื่อเด็กมีปัญหาอะไร เด็กจะนึกถึงเรา และจะมาบอกเล่าเรื่องราวให้เราฟัง และเราจะสามารถช่วยเหลือเด็กได้ทันท่วงที

สิ่งสำคัญ คือ เมื่อเด็กมาบอกเล่าเรื่องราวให้ฟัง ไม่ควรจะรีบสั่งสอน หรือ ขัดแย้ง เช่น ไม่น่าเชื่อนะ จริงเหรอ ฯลฯ ให้รับฟัง แล้วค่อยหาข้อมูลความจริงต่อไป และหากพบว่าเด็กกำลังถูกบุคคลอันตรายคุกคาม ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทันที  เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด  ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร. 1300 หรือ Facebook : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 285