คุณเคยสงสัยหรือไม่ ทำไมเด็กๆถึงไม่ยอมบอกว่าตนเองถูกล่วงละเมิดทางเพศ

นั่นก็เพราะเด็กส่วนใหญ่จะถูกละเมิดทางเพศหลายครั้ง และกว่าที่เด็กจะกล้าบอกให้คนอื่นรับรู้เรื่องราว  มีหลายเหตุผล เช่น

  • กลัวว่าจะไม่มีใครเชื่อ
  • กลัวว่าจะถูกลงโทษ เพราะรู้สึกว่าเป็นความผิดของตนเอง หรือตนเองเป็นตัวต้นเหตุให้เกิดการละเมิดทางเพศขึ้น
  • กลัวคำขู่จากผู้กระทำ เช่น ผู้กระทำอาจบอกว่าครอบครัวจะแตกแยก ถ้าเรื่องนี้แพร่งพรายออกไป พ่ออาจต้องติดคุก กลัวการถูกปฏิเสธจากผู้กระทำ จากครอบครัว กลัวถูกแก้แค้น
  • เด็กอาจพยายามปกป้องผู้กระทำ เพราะอาจรรักผู้กระทำ แต่ไม่ชอบที่จะถูกละเมิด
  • หากเป็นเด็กเล็กมาก เด็กอาจไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไร อาจไม่รู้ว่าจะใช้คำอะไรหรืออาจบอกได้แต่เพียงคลุมเครือ เช่น คุณลุงใส่กางเกงในสีแปลกๆ
  • เด็กอาจไม่รู้ว่าการมีพฤติกรรมทางเพศเป็นสิ่งผิด หรือไม่คิดว่าน่าจะมีใครต้องการรู้
  • เด็กบางคนกลัวปฏิกิริยาจากเพื่อน กลัวเป็นเป้าสายตา ถูกล้อเลียน หรือเสียความนิยมนับถือจากเพื่อนๆ
  • หากผู้กระทำเป็นเพศเดียวกับเด็ก โดยเฉพาะในเด็กชาย เด็กจะกลัวถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกรักร่วมเพศ
  • เด็กโตบางคนจะรู้สึกอับอายเกินไปที่จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ โดยเฉพาะการบอกผู้มีอำนาจหน้าที่ เช่น ครู ตำรวจ
  • เด็กบางคนไม่รู้ว่าจะไปบอกใคร
  • เด็กหาโอกาสหรือเวลาที่เหมาะสมที่จะบอกไม่ได้
  • เด็กไม่อยากถูกตีตราว่า เป็น 'คนช่างฟ้อง'
  • เด็กเคยถูกบอกว่าเด็กที่เรียบร้อยจะไม่ควรใช้คำพูดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ

ทำไมเด็กจึงต้องบอกในที่สุดว่าถูกละเมิดหรือทารุณกรรมทางเพศ?

  • เพราะการทารุณนั้นถี่มากขึ้นเรื่อยๆ หรือผู้กระทำมีพฤติกรรมแปลกๆหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เด็กเกิดความกลัว
  • เด็กได้รับรู้ข้อมูลมา เช่น จากการอ่าน การฟังการบรรยาย อบรม เรื่องการป้องกันภัยทางเพศที่โรงเรียน ว่าสิ่งที่เด็กถูกกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ผิด (ผู้กระทำเป็นฝ่ายทำผิด) และเกิดความตระหนักรู้ขึ้นมาว่าต้องบอกใครบางคนแล้ว
  • บางครั้งถ้าผู้กระทำกำชับให้เด็กเก็บเรื่องไว้เป็นความลับ เด็กอาจนำไปโอ้อวดกับเพื่อน หรือแอบไปบอกกับเพื่อนสนิท แล้วเพื่อนก็ไปบอกครูหรือผู้ใหญ่คนอื่นอีกที
  • น้องของเด็กผู้ถูกละเมิดโตขึ้นถึงวัยเดียวกันกับตอนที่เด็กถูกทารุณครั้งแรก แล้วเด็กกลัวว่าเรื่องนี้จะเกิดขันกับน้องของตนเองอีก
  • เด็กโตขึ้น เข้าสู่วัยรุ่น และกลัวว่าจะท้องหรือไม่พอใจที่ผู้กระทำพยายามควบคุมชีวิตไม่ให้มีแฟน ฯลฯ
  • เด็กได้พบกับผู้ใหญ่ที่อบอุ่น ไว้ใจ และรู้สึกมั่นใจที่จะเปิดเผยเรื่องให้ทราบ
  • เด็กมีปัญหาทางกาย เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือติดโรค ทำให้ต้องไปหาหมอเพื่อรักษา

พบเห็นหรือสงสัยว่าเด็กถูกทารุณกรรมทางเพศ

แจ้งได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร 1300 หรือ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด

ข้อมูล : คู่มือปฏิบัติงานของทีมสหวิชาชีพในกระบวนการคุ้มครองเด็ก มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

อินโฟกราฟิก :  มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to DearFlip WordPress Flipbook Plugin Help documentation.

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 285