"คุณเป็นพ่อแม่แบบไหน …แล้วจะได้ลูกแบบไหน"เราจะเห็นรูปแบบของพ่อแม่หลากหลายสไตล์ แต่ที่พบบ่อยๆ มีอยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ

พ่อแม่ที่ชอบบงการลูก :

ไม่ใช้เหตุผล ทำให้เด็กขาดไร้ซึ่งอิสรภาพ

ถ้าคุณเป็นแบบนี้ คุณมักจะเข้มงวดกับลูก ยึดแน่นกับกฎระเบียบจนขาดความยืดหยุ่น เพื่อให้ลูกเชื่อฟังคำสั่งคุณอยู่ตลอดเวลา หากลูกคนไหนเชื่อฟังโดยทำตามที่พ่อแม่บอกก็จะได้รางวัล แต่ถ้าคนไหนไม่ทำตามก็จะถูกลงโทษ ลูกบางคนก็อาจเติบโตมาด้วยการปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ทำตัวเป็นเด็กดี เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ หรือ อาจกลายเป็นคนที่กลัวพ่อแม่และผู้ใหญ่ ไม่เรียนรู้ที่จะคิดเอง คอยเฝ้าขอคำแนะนำจากคนอื่นๆอยู่ตลอดเวลา

แต่เด็กบางคนอาจถูกลงโทษอยู่ตลอดเวลา เพราะพ่อแม่มักเข้มงวดเรื่องกฎระเบียบ หรือบางครั้งก็ใช้อารมณ์โกรธ ว่ากล่าวรุนแรง เมื่อเด็กไม่เชื่อฟัง ทำให้เด็กรู้สึกไม่พอใจพ่อแม่ บ่อยครั้งที่หาทางเอาคืน เลียนแบบความรุนแรง ต่อต้านพ่อแม่ที่เข้มงวดตั้งแต่อายุยังน้อย หรือต่อต้านเมื่อตอนโตขึ้น
หากคุณเผลอที่เป็นพ่อแม่แบบนี้ สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ

• เด็กๆจำเป็นที่ต้องมีความไว้วางใจ และไม่กลัวพ่อแม่
• เด็กๆจำเป็นต้องมีโอกาสเลือก เพื่อเรียนรู้ข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ และมีความรับผิดชอบ

พ่อแม่ที่มักตามใจลูก :

ให้อิสระลูกแบบไม่มีขอบเขต ปฏิเสธลูกไม่เป็น ยอมทุกอย่างเพื่อลูก

ถ้าคุณเป็นแบบนี้ คุณมักจะให้อิสระกับลูกหลานจนไร้ขอบเขต บางทีก็เปลี่ยนแปลงข้อตกลงที่ได้ตกลงกันไว้ ทำให้เด็กไม่เรียนรู้ว่าสิ่งที่ควรทำนั้นมีขอบเขตอยู่ตรงไหน ทำให้เด็กไม่ถูกฝึกให้รับผิดชอบในการกระทำของตนเอง คิดว่าทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น
หากคุณเผลอที่เป็นพ่อแม่แบบนี้ สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ

• เด็กๆจำเป็นต้องมีขีดจำกัด เพื่อเรียนรู้ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม
• เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ว่า คนอื่นๆก็มีความสำคัญ ด้วยเหมือนกัน (ลูกไม่ใช่ศูนย์กลางของทุกสิ่ง)
• หากอยากให้ลูกโตเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบ ก็ต้องให้เด็กรับผิดชอบต่อตนเองเสียก่อน

พ่อแม่ที่ให้ทางเลือก :

มีอิสระและขีดจำกัดที่มีขอบเขตพอเหมาะ พอควร และพอดี

หลายคนคงเคยได้ยินว่า การเลี้ยงดูลูกแบบประชาธิปไตย จะทำให้เด็กเป็นคนรับผิดชอบ ซึ่งไม่ได้หมายถึงให้เด็กต้องยอมตาม แต่เป็นความสมดุลระหว่าง “สิทธิหรืออิสระ” กับ “ขอบเขตหรือความรับผิดชอบ”

พ่อแม่แบบนี้จะปฏิบัติ 2 แบบด้วยกัน คือ กำหนดขอบเขตความพอดีให้เด็ก และ ให้เด็กมีทางเลือกภายในขอบเขตนั้น เช่น “ลูกสามารถเลือกซื้อของเล่นอันไหนก็ได้นะ ที่ราคาต่ำกว่า 100 บ.” “ลูกมีการบ้าน 3 วิชา ลูกจะทำวิชาไหนก่อนดี”

สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้กับวิธีการที่พ่อแม่ให้ทางเลือก

• เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ(ฝึกให้เด็กมีส่วนร่วมตามความเหมาะสม ไม่ใช่ทุกครั้งไป)
• ทางเลือกของเขามีความสำคัญ
• ทางเลือกบางอย่างมาพร้อมกับความรับผิดชอบ

ลองถามตนเองนะคะว่า “ส่วนใหญ่คุณเป็นพ่อแม่แบบไหน / แล้วจะเปลี่ยนอะไร เพื่อเป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้นบ้าง / จะให้อิสระลูกได้แค่ไหน และวางขีดจำกัดแค่ไหนถึงจะเหมาะสม”

ข้อมูลอ้างอิง : คู่มือ การอบรมพ่อแม่ไทยในวิถีแอดเลอร์
เรียบเรียงโดย : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

 

: 1,524