'สอนลูกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น'

ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ  รับรู้ถึงความรู้สึกที่คนอื่นเป็นอยู่ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ภาษาอังกฤษเรียกว่า Empathy ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ

1) สร้างพื้นฐานจิตใจที่มั่นคงและปลอดภัยให้เด็ก ถ้าเด็กรู้สึกหวาดกลัวไม่มั่นคง เด็กคงไม่พร้อมที่จะไปเห็นใจใคร

2) พ่อแม่ต้องให้ความรักความอบอุ่น มีเวลาที่จะรับฟังความรู้สึก ให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีที่พึ่งและพ่อแม่ควรเป็นที่ไว้วางใจได้ จะเป็นการปลูกฝังจิตใจที่พร้อมที่จะเห็นอกเห็นใจคนอื่นต่อไป

3) ให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง เพราะเด็กจำเป็นจะต้องรับรู้ความรู้สึกของตัวเองก่อนที่จะไปเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น เริ่มแรกที่ผู้ใหญ่ต้องทำเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็น เช่น เวลาที่ผู้ใหญ่มีความรู้สึกต่างๆ เช่น เศร้า เสียใจ ดีใจ มีความสุข

4) ผู้ใหญ่ต้องทำเป็นตัวอย่างในการบอกความรู้สึกตัวเองเป็นคำพูดง่ายๆ เช่น 'แม่ดีใจที่ลูกฟังแม่ เล่นกับน้องดีๆไม่ทะเลาะกัน' หรือ “ที่แม่โกรธเพราะว่าหนูดื้อ และไม่ฟังที่แม่บอกเลย” หรือ “พ่อเหนื่อยจัง วันนี้งานของพ่อที่ทำงานเยอะมากเลย”

5) เวลาที่เด็กมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ ผู้ใหญ่ควรสะท้อนความรู้สึกเด็กเป็นคำพูด เพื่อให้เด็กเห็นว่า เวลาที่เขาเกิดความรู้สึกอะไรบางอย่างขึ้นมา มีคนรับรู้และเข้าใจเขา คือรับรู้ว่า เขารู้สึกอย่างไร  เช่น เด็กคนหนึ่งมีการบ้านเยอะมากจากที่โรงเรียน แม่สังเกตว่าเด็กมีสีหน้าไม่พ่อใจ หน้าเบ้ แม่ก็อาจจะพูดกับเด็กว่า “แม่รู้สึกว่าลูกดูหงุดหงิด คงเพราะการบ้านวันนี้เยอะมาก” เด็กก็จะเข้าใจความรู้สึกตัวเองที่เป็นอยู่ ว่า ใช่แล้ว ตอนนี้เรากำลังหงุดหงิด ไม่พอใจที่การบ้านเยอะ ที่สำคัญรับรู้ว่าแม่เข้าใจความรู้สึกของเขา ตรงนั้นจะช่วยให้เด็กหงุดหงิดลดลง

6) บางครั้งผู้ใหญ่มักจะรู้สึกว่า ไม่อยากให้เด็กมีอารมณ์ด้านลบ แต่จริงๆ คนทุกคนก็ต้องมีทั้งอารมณ์ดีและไม่ดีเป็นธรรมชาติ สำคัญกว่าคือการจัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสม ผู้ใหญ่ควรยอมรับความรู้สึกของเด็กก่อน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกดี หรือไม่ดี ว่าความรู้สึกทุกแบบนั้นเป็นธรรมดา บางครั้งเราอาจจะดีใจ บางครั้งเราอาจเศร้า เสียใจ

7 ) ถ้าเด็กรู้สึกว่ามีคนที่ยอมรับในความรู้สึกของเขา เขาก็จะค่อยๆยอมรับความรู้สึกคนอื่น นำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจ

8) ฝึกให้เด็กคิดในมุมมองของคนอื่น เช่น ถ้าเด็กไปตีน้อง น้องเจ็บ ร้องไห้ ลองถามเค้าว่า “หนูคิดว่าตอนนี้น้องรู้สึกยังไง” “สมมติว่ามีคนมีตีหนูแบบนี้ หนูจะรู้สึกอย่างไร แล้วหนูจะทำแบบไหนคราวหน้า”

9) พ่อแม่ควรให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบในสิ่งที่ทำด้วย เขาจะได้เรียนรู้จักรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง

10) ฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตนเอง รอคอยได้เมื่อมีความต้องการต่างๆ เช่น อยากได้ของเล่น พ่อแม่ก็ไม่ควรตามใจซื้อให้ทุกครั้ง แต่ควรให้เด็กเรียนรู้ว่าเขาจะได้เมื่อถึงเวลาที่สมควร เมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะควบคุมตนเองได้ ถ้าเป็นเรื่องที่อาจทำให้เกิดผลเสียกับตัวเอง และคนอื่น เขาก็จะไม่ทำ

11) ตรงนี้ควรเริ่มตั้งแต่เด็กยังเล็ก และทำสม่ำเสมอจนเด็กโตขึ้นมา เพราะหากครอบครัวปลูกฝังพื้นฐานที่ดีให้เด็กตั้งแต่เล็กๆแล้ว ถึงแม้ว่าจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย เต็มไปด้วยสิ่งล่อใจ เช่น สื่อต่างๆ ที่มักทำให้เด็กหมกมุ่นอยู่กับตัวเองเป็นส่วนใหญ่ เด็กก็จะเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น (รวมถึงเห็นอกเห็นใจตัวเองด้วย)

นอกจากความเห็นอกเห็นใจจะช่วยสร้างสัมพันธภาพระหว่างกัน ป้องกันไม่ให้เกิดการรังแกกัน และเมื่อเด็กเติบโตไป เวลาไปทำงานร่วมกับผู้อื่นก็มีความราบรื่น เกิดความสามัคคี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการใช้ชีวิต

ข้อมูล :   เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา  #หมอมินบานเย็น

อินโฟกราฟิก : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to DearFlip WordPress Flipbook Plugin Help documentation.

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 285