#เสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจให้ลูก ช่วยลูกอยู่รอดในสังคม

ความเข้มแข็งทางจิตใจ เป็นพื้นฐานสำคัญ เหมือนเสาเข็มของบ้าน ที่จะทำให้มนุษย์มีความเชื่อมั่น กล้าหาญ มุ่งมั่นที่จะฝ่าฟันปัญหา หรืออุปสรรคต่างๆ ที่เปรียบเหมือนพายุฝน หรือแผ่นดินไหวไปได้ ซึ่งสร้างและปลูกฝังได้โดย

1.1 ความรักความเอาใจใส่ที่ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดมีให้เด็ก ให้เด็กรู้สึกว่าเขามีคุณค่า เป็นที่รัก

1.2 บ้านที่มีบรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัย จิตใจที่เข้มแข็งต้องมีพื้นฐานจากจิตใจที่รู้สึกได้ถึงความปลอดภัยเป็นพื้นฐาน พ่อแม่ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทะเลาะและขัดแย้งกันได้แต่ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันทั้งทางคำพูดและทางกาย

1.3 การมีเวลาคุณภาพที่มีให้กันและกัน เวลาคุณภาพ คือเวลาที่พร้อมจะรับฟังเด็กและรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกเด็ก เด็กเข้าใจว่าผู้ใหญ่พร้อมจะรับฟังและอยู่ตรงนี้เพื่อเขา ทำให้เด็กมีความรู้สึกไว้วางใจ เสริมสร้างความรู้สึกอบอุ่นมั่นคง

1.4 ปลูกฝังในเรื่องระเบียบวินัย ให้เด็กรู้จักควบคุมความต้องการของตัวเอง ไม่ใช่ตามใจเด็กไปทุกเรื่อง

1.5 ให้รู้จักที่จะอดทนและรอคอยให้เป็น เด็กที่อยากได้ก็ได้มาตลอด ไม่เคยต้องรอคอยอะไร เด็กจะมีความอดทนทางอารมณ์ต่ำ ถ้ามีอะไรที่ขัดใจหรือไม่เป็นไปอย่างที่คิด เด็กจะหงุดหงิดไม่พอใจมาก บางคนก็ติดไปจนเป็นผู้ใหญ่ที่เอาแต่ใจ มีปัญหาเวลาอยู่กับคนรอบข้าง

1.6 ชมเชยให้กำลังใจอย่างเหมาะสม เวลาที่เด็กทำอะไรได้ การที่มีคนบอกว่าสิ่งที่เขาทำทำให้เกิดอะไรดีๆ เช่น “แม่ชื่นใจจังที่ลูกช่วยแม่เช็ดโต๊ะทำให้แม่เหนื่อยน้อยลง” จะทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจ มีกำลังใจ และรู้สึกคุณค่าของตัวเอง

1.7 สอนให้เด็กรู้ว่าอารมณ์ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆนั้น เป็นเรื่องธรรมดา การรู้จักและรับรู้อารมณ์ความรู้สึกตัวเองเป็นเรื่องจำเป็น และเด็กควรต้องยอมรับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ว่าเป็นธรรมดาและเป็นธรรมชาติ ที่คนปกติอาจจะมีได้ ทั้งดีใจ โกรธ เสียใจ ผิดหวัง ฯลฯ เพราะเมื่อยอมรับได้ การจัดการอารมณ์ก็จะเป็นไปอย่างเหมาะสมมากขึ้น

1.8 การจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกให้เหมาะสม เช่น เมื่อโกรธรับรู้ว่าตัวเองโกรธ โกรธมากเลยแต่ก็ไม่อาละวาด ก็ไปทำอะไรให้รู้สึกสบายใจขึ้น เช่น บ่นระบายให้แม่ฟัง เขียนลงสมุด วาดรูป ฟังเพลง ออกกำลังกาย หรืออยากจะชกใครสักคน แต่ไม่ไปชกคน ไปชกกระสอบทรายแทน

1.9 ผู้ใหญ่ควรให้เด็กรู้จักความผิดหวังบ้าง เช่น เวลาที่อยากได้ของเล่น แต่พ่อแม่ไม่ซื้อให้เพราะไม่มีเหตุผลสมควร และควรให้เขาเรียนรู้ที่จะยอมรับความผิดหวัง บางทีเด็กอาจจะมีน้ำตา ร้องไห้ พ่อแม่บางคนทนไม่ได้กับน้ำตาของเด็ก จึงไม่ยอมให้เด็กต้องผิดหวัง ทำให้ยอมไปหมด ทีหลังเด็กโตขึ้นต้องผิดหวังเรื่องอื่นๆ ก็อาจจะรับได้ยาก

1.10 ให้เด็กเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบผลจากการกระทำ บางทีผู้ใหญ่เห็นเด็กทำผิดแต่ไม่ได้ว่ากล่าวตักเตือน เพราะเห็นใจและสงสาร จริงๆ แล้ว การให้อภัยสามารถทำควบคู่ไปกับการสอนให้เด็กได้เรียนรู้ได้ เช่น สมมติว่าเด็กคนหนึ่งโกรธพ่อและขว้างของเล่นพัง เด็กเข้ามาขอโทษ พ่อก็ควรชมเชยที่เด็กสำนึกผิด แต่หลังจากนั้น เด็กควรรับผิดชอบ ด้วยการเก็บกวาด และอาจจะต้องหักค่าขนมสมทบเป็นราคาของที่เสียหาย หรือทำงานบ้านชดเชย

1.11 ยอมรับในตัวตนและให้โอกาสเด็ก ตามข้อที่ผ่านมา เมื่อทำผิดก็ต้องให้เด็กได้เรียนรู้ แต่ผู้ใหญ่ก็ควรให้โอกาสเด็กแก้ตัว ปรับปรุง เด็กจะเข้าใจได้ว่า ทุกปัญหามีโอกาสและทางออก เช่นเดียวกับอุปสรรคที่เขาเจอในชีวิต

1.12 ผู้ใหญ่ต้องไม่ใช้คำพูดหรือการกระทำที่ทำลายคุณค่าในตัวตนของเด็ก เช่น คำพูดรุนแรงที่มาจากอารมณ์ เช่น ตีตรา ประชด เปรียบเทียบ ดูถูก การกระทำที่รุนแรง เช่น การทำโทษรุนแรง เช่น การตบตี หากทำต่อเนื่องนานๆ ไปเด็กจะรู้สึกสูญเสียคุณค่า รู้สึกแย่กับตัวเอง ไม่ภาคภูมิใจในตัวเองได้

ผู้ใหญ่และพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กเรียนรู้ด้วย เพราะเด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการกระทำของผู้ใหญ่ที่เขารักและเคารพ ไม่ใช่จากคำพูดสอนว่าเขาต้องเป็นแบบไหนอย่างไร

หากพ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นคนที่มีจิตใจที่เข้มแข็ง พ่อแม่ก็ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งเป็นตัวอย่าง นั่นก็คือ เมื่อมีอุปสรรคต่างๆเข้ามาในชีวิต พ่อแม่สามารถจัดการได้อย่างเหมาะสม บางทีผลที่ออกมาอาจจะดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่พ่อแม่ก็ผ่านพ้นไปได้

ลูกก็จะเห็นและเรียนรู้ ในเวลาที่เขาต้องเจอกับเรื่องราวยากลำบาก เขาก็จะสามารถมีสติที่จะจัดการและพร้อมยอมรับผลที่ออกมา ไม่ว่าจะดีหรือร้าย แต่เขาก็จะเข้าใจและยอมรับมันได้

ขอบคุณข้อมูล :  เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา หมอมินบานเย็น

อินโฟกราฟิก โดย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 285