กรณีข่าวเด็กเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เพราะคลาดสายตาจากผู้ปกครองเพียงเสี้ยววินาที แต่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ปกครองเกินจะกล่าว ไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นเป็นแน่ เรื่องเหล่านี้สามารถป้องกันได้ หากพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก เข้าใจวัย พัฒนาการของเด็กและมีการกำหนดพื้นที่หรือระยะในการดูแลที่เหมาะสม หรือที่เรียกว่า “เขตพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ (Safety Zone)” หมายถึง การกำหนดเขตที่อยู่สำหรับเด็กที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย ในระยะที่ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กให้ปลอดภัย การพิจารณาระยะที่เหมาะสมนี้ ขึ้นอยู่กับวัยของเด็กนั่นเอง เช่น

  • เด็กในวัยแรกเกิด ถึง ไม่เกิน 3 ปี

ด้วยยังอ่อนวัยไร้เดียงสาที่สุด และอยู่ในวัยเริ่มฝึกหัดการใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ยังเดิน วิ่ง หรือเคลื่อนไหวได้ไม่ดี ดังนั้นอุบัติเหตุก็อาจเกิดขึ้นได้มาก เด็กในวัยนี้จึงจะต้องอยู่ในระยะที่ผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเอื้อมถึงตัวตลอดเวลา

  • เด็กวัย 3 ปีขึ้นไปจนถึง ไม่เกิน 6 ปี

วัยเตาะแตะจนถึงก่อนเข้าโรงเรียน เริ่มสนใจใคร่รู้และพร้อมจะเรียนรู้จักโลกตลอดเวลา ด้วยผัสสะต่าง ๆ จึงมีโอกาสสูงที่เด็กวัยนี้จะ หยิบ ดม ชิม ฯลฯ วัตถุต่าง ๆ  โดยไม่รู้ว่าเป็นอันตรายได้ ดังนั้น เด็กควรอยู่ในระยะที่ผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถมองเห็นการเคลื่อนไหวของเด็กตลอดเวลา เรียกว่าอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ตลอดเวลานั่นเอง

  • เด็กวัย 6 ปีขึ้นไป จนถึงไม่เกิน 9 ปี

เด็ก ๆ ในช่วงวัยนี้ เป็นวัยซนและอยากรู้อยากเห็น ที่สำคัญ คือ เขาโตพอที่จะออกไปแสวงหาคำตอบที่สงสัยนั้นเองได้ในระดับหนึ่ง สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัว ล้วนเป็นสิ่งที่เร้าความสนใจให้เอาตัวเข้าไปเรียนรู้โดยประสาทสัมผัสทั้ง 5 และพลังกายที่มีเหลือล้นนั้นก็ขับดันให้เขาออกไปปลดปล่อยด้วยการเล่นหรือออกกำลังกายอย่างอิสระ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครองควรกำหนดบริเวณให้พวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่เราสามารถได้ยินเสียงของเด็กตลอดเวลา รวมทั้งต้องคอยหมั่นเดินไปตรวจสอบดูเป็นระยะ ๆ ด้วยว่าเด็กยังอยู่ในเขตปลอดภัยและไม่มีปัญหาอะไร เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกแยะจินตนาการออกจากความจริง จึงอาจเล่นอะไรตามจินตนาการแล้วเกิดอันตรายได้ เช่น เด็กชายคนหนึ่งเล่นสมมติให้ตัวเองเป็นไอ้แมงมุม แล้วพลาดพลั้งทำให้เชือกแขวนรัดคอตนเองจนเสียชีวิต หากเสียงเด็กเงียบไปมักจะมีอยู่สองกรณีคือ เด็กนอนหลับหรือออกไปนอกเขตกำหนด ซึ่งจะก่อภัยอันตรายที่ใหญ่หลวงแก่เด็กได้

  • เด็กวัย 9 ปีขึ้นไปจนถึง ไม่เกิน 12 ปี

เด็ก ๆ ในช่วงวัยนี้ จัดว่าอยู่ในช่วงวัยเด็กโต แข็งแรงและดูแลตัวเองได้มากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นว่าเขาจะไม่ได้รับการเอาใจใส่จากพ่อแม่ผู้ปกครอง แม้ว่าเขาเริ่มมีความสามารถแยกแยะจินตนาการออกจากความจริง เขาก็ยังต้องอยู่ในที่ที่ผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครองกำหนดให้ และต้องคอยสังเกตเสียงของเด็ก ๆ เป็นระยะ เพราะเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถจำแนกว่าอะไรจะสามารถก่ออันตรายให้แก่ตนเองได้ เช่น อาจแอบหนีไปเล่นน้ำทั้งที่ว่ายน้ำไม่เป็น เล่นจุดไฟ เล่นประทัด เล่นอาวุธหรือวัตถุอันตรายอื่น ๆ รวมทั้งเกิดภัยจากบุคคลอันตรายต่าง ๆ  เมื่ออยู่ลับตาผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครอง

  • เด็กวัย 12 ปี จนถึงไม่เกิน 15 ปี

ช่วงวัยรุ่นตอนต้นที่ยังไม่พ้นอกพ่อแม่ สมองส่วนหน้าจะเริ่มพัฒนาในอัตราก้าวกระโดด ทำให้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เริ่มโต้แย้งพ่อแม่ผู้ปกครองและพวกเขาต้องการอิสระในการดำเนินชีวิต เช่น ไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องไปกับพ่อแม่ คือ สามารถเดินทางตามลำพังได้ แต่ผู้ใหญ่ต้องดูแลให้พวกเขาเดินทางไปในสถานที่ที่ผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครองกำหนดหรืออนุญาตให้ไป รวมทั้งให้เดินทางไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้

เด็กในวัยนี้เริ่มมีภาวะเสี่ยงภัยทางเพศมากขึ้น และเป็นเป้าหมายที่สำคัญของคนร้าย เพราะเด็กเริ่มมีฮอร์โมนเพศทำงาน เริ่มสนใจเรื่องเพศ มีอารมณ์เพศ และสามารถควบคุมตนเองเรื่องเพศได้น้อยมาก พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องรู้ว่าเขาไปทำอะไรกับใคร อยู่ที่ไหนและจะติดตามตัวได้อย่างไร

  • เด็กวัย 15 ปีขึ้นไปจนถึง 18 ปี

วัยรุ่นวัยแรงที่ดูแลตัวเองได้ดีแล้ว เด็กสามารถไปไหนมาไหนตามลำพังในพื้นที่กว้างขึ้น เช่น ในเมืองของตัวเองในช่วงเวลากลางวัน และผู้ดูแลหรือพ่อแม่ผู้ปกครองไม่จำเป็นต้องกำหนดเส้นทางให้ แต่มีข้อแม้ประการหนึ่งก็คือ เด็กต้องบอกให้รู้ว่าจะไปนอกเขตเมืองไหนในเวลากลางวัน หรือจะไปไหนเวลากลางคืน แม้ว่ายังอยู่ในเขตเมือง จะต้องมีผู้ใหญ่ไปดูแลเสมอ เพราะเด็กวัยนี้จะมีภัยอันตรายจากบุคคลเพิ่มขึ้น ทั้งด้านเพศ ด้านการถูกทำร้ายร่างกาย และเรื่องประทุษร้ายต่อทรัพย์ เด็กจะมีรูปร่างกิริยาอาการทางเพศเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ถูกกระตุ้นอารมณ์เพศได้ง่ายกว่าและควบคุมตนเองเรื่องเพศได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนั้นเมื่อฮอร์โมนเพศที่เริ่มทำงานมากขึ้นจะทำให้เด็กวัยนี้มักทำอะไรหุนหันพลันแล่น ขาดการยั้งคิด อารมณ์แปรปรวน ขุ่นเคืองง่ายจนเกิดการทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันง่าย การเจริญเติบโตที่เกือบเทียบเท่าผู้ใหญ่ มีเรื่องต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้น ทำให้เขาพกเงินหรือทรัพย์สินมากขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่ความสามารถในการระมัดระวังภัยจากการประทุษร้ายต่อทรัพย์ยังมีน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก

ข้อมูล : คู่มือดูแลลูกอย่างไรให้ปลอดภัย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก (น.19-24)

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to DearFlip WordPress Flipbook Plugin Help documentation.

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 744