“น้องได้รับความสนุก และได้ความรู้พร้อมกัน อย่างเช่น การดูผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควรมีเครื่องหมาย CE อย. Lion Mark แม่ก็ไม่เคยรู้ มารู้จากน้อง เดินริมถนนเห็นของเล่นไม่มีกล่อง เค้าก็จะบอกว่าของเล่นพวกนี้ไม่ดีไม่ควรเล่น ไม่มีเครื่องหมาย   เค้าจะคอยดูและบอกน้องในบางครั้ง” 

ความรู้สึกประทับใจของผู้ปกครองที่ส่งผ่านมาทางสายโทรศัพท์หลังจากจบคอร์สค่าย Kidsรู้คิด เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  ซึ่งมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กจัดขึ้น  เป็นเหมือนเครื่องการันตีคุณภาพของการจัดกิจกรรมที่มูลนิธิฯ มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการรู้คิด และการมีส่วนร่วมของเด็กได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมในค่าย Kids รู้คิด  มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการรู้คิดให้กับเด็กและเสริมสร้างทักษะชีวิต ทั้งด้านความปลอดภัย (เรื่องทั่วไป /เรื่องเพศ) การรับรู้ในตนเอง และการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ ศิลปะ ละคร การทำอาหาร ซึ่งเด็กๆที่เข้าร่วมกิจกรรมมีอายุตั้งแต่ 6 ปีจนถึง 9 ปี จำนวน 16 คน  เป็นระยะเวลา 5 วัน กิจกรรมในครั้งนี้ออกแบบและสอนโดยนักศิลปะบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา นักกิจกรรมพัฒนาเด็ก ของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ภายในค่ายระหว่างการทำกิจกรรมเน้นกระบวนการระหว่างที่เด็กทำกิจกรรมมากกว่าผลลัพธ์ของงานที่สำเร็จและความสวยงาม แต่จะเปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ตัดสินใจ ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง  รู้จักวางแผนการทำงานทั้งของตนเองและของทีม   เมื่อเสร็จกิจกรรมมีการบอกเล่าความรู้สึกและรายละเอียดของผลงานว่าเด็กรู้สึกอย่างไร  คิดอย่างไรโดยสื่อสารผ่านผลงานแต่ละชิ้นที่ทำ  ระหว่างการทำกิจกรรมเหล่าคุณครูจะสวมบทบาทเป็นพี่เลี้ยง ไม่มีการชี้นำ ไม่ตำหนิผลงานของเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำอย่างอิสระอย่างที่คิด  ครูจะเป็นผู้คอยอำนวยความสะดวก และติดตามดูพฤติกรรมของเด็กแต่ละคนในระหว่างการทำงานเพื่อสังเกตและคอยช่วยเหลือ หากเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่พร้อมจะเรียนรู้พร้อมเพื่อนๆจะมีการสอบถามเหตุผล บอกกล่าว  แยกเด็กพูดคุยเป็นการส่วนตัว ไม่มีการประจาน รอจนเด็กพร้อมจึงกลับมาเรียนรู้กับเพื่อนๆ  กลับกันหากเป็นพฤติกรรมที่ดีจะมีการชื่นชมในสิ่งที่เด็กทำทันทีและต่อหน้าเพื่อนๆ เพื่อเสริมพลังบวก เสริมคุณค่าในตนเองให้กับเด็ก  สิ่งต่างๆที่คุณครูพบเห็นในแต่ละวันจะมีการบอกเล่าให้ผู้ปกครองเด็กรับทราบเป็นรายบุคคล

นุชนาฎ สุขเกตุ นักจิตวิทยา สะท้อนพฤติกรรมของเด็กที่เป็นผลจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครองว่า

“เด็กที่ควบคุมตนเองไม่ได้เพราะไม่ค่อยมีวินัย ไม่รู้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอย่างไร ไม่สามารถอดทนและรอคอยได้ ทำให้รบกวนกลุ่มอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับกลุ่มได้ เนื่องจากถูกเลี้ยงดูแบบตามใจ ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้ว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ  ขณะที่พ่อแม่บางคนคาดหวังให้เด็กทำอย่างที่ต้องการ และมักจะจับผิดกับพฤติกรรมเหล่านั้น จนหลงลืมพฤติกรรมบวกที่เด็กมี ไม่ชื่นชมกับสิ่งที่เด็กพยายามทำดี   ความคาดหวังของพ่อแม่ทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะเปรียบเทียบลูกกับพี่น้อง หรือเด็กคนอื่นนอกครอบครัว”

กิจกรรมค่ายมีความหลากหลายและถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก  เริ่มต้นจาก

กิจกรรมศิลปะ สร้างรังนก เริ่มต้นด้วยการให้เด็กได้วาดรังนก  เมื่อเด็กๆได้รับโจทย์ก็ต่างวาดรังนกในแบบฉบับของตนเอง  บางคนวาดรังนกอย่างละเอียด มีไข่นก1ฟอง  เด็กบางคนวาดรังนกเหมือนในเกมส์ มีไข่ในรัง15 ฟอง   เด็กบางคนวาดนกอยู่บนต้นไม้ อยู่ในโพรงไม้  หลังจากนั้นให้เด็กๆปั้นดิน เป็นรังนกตามแบบที่วาดไว้ และเขียนรายละเอียดเล่าเรื่องว่ารังนกที่ทำนั้นอาศัยอยู่ที่ใด มีกี่ตัว ลักษณะของนกเป็นอย่างไร

“อยู่ในต้นไม้ มันอยู่ในป่างดงามมาก นกชอบอยู่ป่า ต้นไม้มันงาม แล้วมีไข่4ฟอง นกกาเหว่าขาวดำ” เด็กชายวัย 7 ปีถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับรังนกของตน

“มีไข่อยู่15ฟอง ทำไมลูกนกใบนั้นใหญ่จุงเบยใหญ่กว่าตัวไหนๆอีก พ่อกับแม่นกถามกัน แล้วแม่กับพ่อนกรู้ว่ามันคือไข่ไดโนเสาร์ มันฟักออกแล้ว มันก็เติบโตอย่างเต็มที่ มันก็กินพ่อแม่นก จบ”  เด็กชายวัย 7 ปี ถ่ายทอดเรื่องราวเหมือนนิทาน

กิจกรรมความปลอดภัย มี 3 เรื่องให้เด็กๆได้เรียนรู้ เริ่มต้นด้วย

1.เรื่องของเล่นที่ปลอดภัย เด็กๆได้เรียนรู้สัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่แสดงถึงความปลอดภัยได้ผ่านการรับรองมาตรฐานแบบต่างๆ เช่น มอก.  CE  Lion Mark   ซึ่งจะพบในของเล่น  โดยมีการจำลองสถานการณ์แจกเงินปลอมให้เด็กๆคนละ10 บาทเพื่อเลือกซื้อของเล่นที่ตนชื่นชอบ จากนั้นพาเด็กสังเกตเครื่องหมาย

2.อาหารที่ปลอดภัย  การสังเกตเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย เช่น  อย.  และให้สังเกตเรื่องปริมาณเกลือที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ซึ่งในแต่ละวันไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2.4 กรัม เทียบเป็นเกลือแกง 6 กรัม หรือเท่ากับ 1 ช้อนชาพูน กิจกรรมมีการจำลองเมนูอาหารและขนมก๊อบแก๊บประเภทต่างๆมาให้เด็กเลือก และมีเกลือให้เด็กได้ชั่งปริมาณเกลือที่อยู่ในอาหาร  เด็กๆประหลาดใจเมื่อได้เห็นว่าอาหารและขนมที่เขาชื่นชอบมีปริมาณเกลือจำนวนมาก

3.ความปลอดภัยทางเพศ ให้เด็กๆได้เรียนรู้เรื่องอวัยวะปกปิด พื้นที่ส่วนตัว  สัมผัสที่ดีและไม่ดี  ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการปฏิเสธและทักษะการขอความช่วยเหลือ  เพื่อให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ถึงสถานการณ์เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยและพาตนเองหลีกหนีออกจากสถานการณ์เหล่านั้นได้

กิจกรรมละคร  เริ่มต้นด้วยการวาดภาพตัวละครหรือการ์ตูนที่เด็กๆชื่นชอบ จากนั้นนำมาทำเป็นหน้ากาก แบ่งกลุ่มแต่งเรื่องราวตามหัวข้อที่ได้รับ เช่น ความเสียสละ ความรัก  ความมีน้ำใจ  เด็กๆแต่ละกลุ่มจะนำตัวละครหรือการ์ตูนของตนมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราว ทั้งโครงเรื่อง บทพูด  จัดทำฉากละคร ชุดแสดง  กระบวนการละคร เด็กได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น วางแผนร่วมกับทีม ยอมรับซึ่งกันและกัน  รู้จักแก้ปัญหา  กล้าแสดงออก  เพราะเด็กทั้ง 16 คนมาจากต่างโรงเรียน อายุต่างกัน ความชื่นชอบและพฤติกรรมแตกต่างกัน   แต่พวกเขาสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ สามารถร้อยเรียงเรื่องราวตัวการ์ตูน ความชื่นชอบ และทุกคนมีบทบาทในการแสดงอย่างเท่าเทียมกัน  แม้เพื่อนบางคนในระหว่างการทำกิจกรรมไม่สบาย ไม่พร้อมทำกิจกรรมในช่วงต้นๆ แต่สมาชิกในกลุ่มก็ให้โอกาสและบทบาทในการแสดงด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ที่ไม่ใช่การท่องจำจากตำราหรือในห้องเรียน การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในทุกที่ และเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเด็กๆได้มีโอกาสคิดและสัมผัสจับต้องสิ่งนั้นด้วยตนเอง  ขอบคุณผู้ปกครองทุกท่านที่ไว้วางใจมอบเด็กๆให้ทีมงานของมูลนิธิศูนย์พิทักษ์เด็กได้ดูแล เสริมสร้างการเรียนรู้ ฝึกกระบวนการคิดและเสริมทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ

“ประทับใจมากค่ะ มีกิจกรรมดีๆให้ลูก ลูกชอบ กลับมามีความคิด พฤติกรรมที่ดีจากเดิม เช่น เวลาจะกินก็จะดูก่อนว่ามีอย. ในขนมมีมั้ย  เพราะปกติจะกินอะไรมั่วๆ  น้องมีความนิ่ง ช่วยงาน  เป็นครั้งแรกที่ส่งมา เพราะรู้จักรุ่นพี่ที่เข้าเมื่อปีก่อนบอกว่าดีก็เลยลองให้เข้าดู” คุณแม่เด็กชายวัย 7 ปี

“รู้สึกชอบ น้องชอบมาก น้องสนุก น้องได้ความรู้ กลับมาที่บ้านก็จะเล่าให้ฟัง  แตกต่างจากที่อื่นที่เคยพาน้องไปร่วม แต่ที่นี่เหมือนอยู่ในบ้านทำกิจกรรม เด็กมีเพื่อน ปลอดภัย  โดยรวมชอบค่ะ” คุณแม่เด็กหญิงวัย 6 ปี

“ดีค่ะ คุณแม่ประเมินจากความรู้สึกของลูก น้องค่อนข้าง happy น้องกลับมาบ้านมาด้วยอารมณ์แจ่มใส มีเรื่องเล่าเยอะ มีรายละเอียดของกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน อาจเพราะน้องโตเลยจดจำได้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมของเพื่อน  เพราะปกติน้องเรียนในหมู่บ้านเรียน เพื่อนน้อย แม่เลยอยากให้น้องได้เจอเพื่อนต่างโรงเรียน  น้องชอบมาก มีความสุข พยายามจะมาให้ได้แม้แต่วันที่ไม่สบายก็รีบหายและมา  เค้ามีเรื่องเล่าทุกวัน และติดใจเรื่องอาหาร อาจเพราะอาหารรสชาติถูกปาก ประทับใจเพื่อนสองคน”  คุณแม่เด็กชายวัย 9 ปี

“ดีมากเลยค่ะ ในแง่ของกิจกรรม และการประเมินเด็ก ครูเอาใจใส่ ประเมินพัฒนาการเด็กได้  น้องชอบมากกว่าไปโรงเรียน ไม่ชอบโรงเรียน เบื่อ”  คุณแม่เด็กชายวัย 6 ปี

“ทุกกิจกรรมดี น้องกลับมาถึงบ้าน น้องเล่าให้ฟัง เด็กชอบ ตัวเด็กเองสังคมจะดีขึ้น อยากไปหาเพื่อน อยากไปทำกิจกรรม  เด็กรู้สึกดีกับการไปทำกิจกรรม ได้เรียนรู้ได้เพื่อนใหม่ ตื่นเต้นทุกวันที่ได้ไป ตื่นเช้า ปกติตื่น 6 โมง แต่มาค่ายนี้ตื่นตีห้าครึ่งรีบอาบน้ำแต่งตัวกินข้าว รีบมากลัวมาสาย” คุณแม่เด็กชายวัย 7 ปี

อัลบั้มภาพ

: 285