บันทึกการเดินทาง..ค่ายเด็ก รักษ์ทะเล ปี62  (ตอน2)

สายใจ  ศรีลิ้ม  นักศิลปะบำบัด

ผู้บันทึกการเดินทาง

  • รู้จักฉัน รู้จักเธอ

กิจกรรมค่ายเด็ก เริ่มจากให้เด็กแนะนำตัวเอง ชื่อ ที่อยู่ อายุ โรงเรียน เพื่อการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน   เด็กแต่ละคนสามารถแนะนำตัวเองให้สมาชิกในกลุ่มรับรู้ได้  เด็กรู้สึกตื่นเต้นที่แต่ละคนมาจากพื้นที่ที่หลากหลาย  มีการพูดคุยสอบถามกันในกลุ่มด้วยความสนใจ  สามารถลำดับอายุ  เรียกพี่น้องได้ถูกต้อง  มีเด็ก 1 คน  ที่รู้สึกกังวลเนื่องจากไม่ได้เรียนตามระบบการศึกษา  เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยสนับสนุนให้กำลังใจ  เด็กคลายกังวลและสามารถบอกได้ว่าตนเองเรียนการศึกษาด้วยตัวเอง

เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นกำหนดข้อตกลงในค่ายร่วมกันที่จะทำให้ทุกคนมีความสุข  การยอมรับกฎกติกา  เช่น  สื่อสารกันดี ๆ ตั้งใจฟังเพื่อนพูด อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด ดูแลซึ่งกันและกัน  รับผิดชอบตัวเองและส่วนรวม  เคารพพื้นที่ส่วนตัว  ให้เกียรติซึ่งกันและกัน  ส่วนใหญ่เด็กสามารถทำตามข้อตกลงที่กำหนดร่วมกันได้  มีบางคนพูดคำไม่สุภาพ  พูดเยอะ พูดเสียงดัง  เพื่อนก็จะคอยช่วยเตือนกัน  มีเด็กเก่าบางคนคอยสอบถามเป็นห่วงเพื่อนใหม่ที่เพิ่งเคยรู้จักกัน   ทำให้สนิทกันและคอยช่วยเหลือกันได้  ในค่ายเราแบ่งกลุ่ม 3 กลุ่มคละอายุ  เด็กทุกคนช่วยกันคิดชื่อกลุ่ม  ทำท่าประจำกลุ่ม จำชื่อสมาชิกในกลุ่มสามารถนำเสนอในกลุ่มใหญ่และเป็นกลุ่มในการทำกิจกรรมร่วมกันไปตลอดค่าย 

  • แผนที่เดินดิน..พื้นที่ปลอดภัย

เพื่อทำความรู้จักสถานที่ให้มากยิ่งขึ้น เราเริ่มให้เด็กมีส่วนร่วมในการสังเกต สำรวจและบันทึกทำแผนที่ความปลอดภัย โดยเดินเท้าสำรวจตามเส้นทาง 3 เส้นทาง คือ ริมชายหาด ริมเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าโกงกาง  และบริเวณพื้นที่ทำการวนอุทยาน เพื่อสำรวจบริเวณรอบ ๆวนอุทยาน โดยให้เด็กแต่ละกลุ่มเขียนและวาดบันทึกเป็นกลุ่ม เด็กสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกันได้ วางแผน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ยอมรับความคิดเห็นของเพื่อน เด็กรับรู้ได้ว่าพื้นที่ไหนปลอดภัยหรือเป็นพื้นที่เสี่ยง กิจกรรมนี้ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของเด็ก บางกลุ่มมีเด็กแสดงความเป็นผู้นำในการทำกิจกรรม ที่สามารถทำให้กลุ่มขับเคลื่อนไปได้ บางกลุ่มต้องมีเพื่อนในกลุ่มคอยกระตุ้นเพื่อให้กลุ่มดำเนินงานต่อ บางกลุ่มต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปกระตุ้นช่วยเหลือ เด็กแบ่งหน้าที่แสดงความรับผิดชอบร่วมกันได้ดี

  • ซึมซับต้นแบบชีวิต ใกล้ชิดวิถีรักษ์ธรรมชาติ

เช้าวันที่สองของการอยู่ค่าย เด็ก ๆ ตื่นแต่เช้าตรู่ มาล่องเรือชมธรรมชาติปากน้ำปราณ เพื่อศึกษาธรรมชาติ  ชมวิถีชาวประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ และได้ฟังเรื่องเล่าของลุงสมเดช นาคดี หรือลุงเตี้ย ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านคลองเก่า ปากน้ำปราณบุรี คนดีมีจิตสำนึกรักธรรมชาติและตอบแทนแผ่นดินบ้านเกิดด้วยจิตอาสาเก็บขยะป่าชายเลนและท้องทะเลที่แน่วแน่มั่นคง ไม่เคยเปลี่ยนตลอด 18 ปี ซึ่งอาชีพของลุงเตี้ย คือ การรับนักท่องเที่ยวลงเรือเพื่อชมความงามของวนอุทยานปราณบุรีและบริเวณป่าศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี  เมื่อปี พ.ศ. 2524-2539 ทางราชการได้จัดสรรพื้นที่บางส่วนให้เช่าสัมปทานทำนากุ้ง  จากแต่ก่อนทะเลอันแสนสงบอุดมไปด้วย กุ้ง หอย ปู ปลา ภายหลังจากกระแสเลี้ยงกุ้งเฟื่องฟูไม่กี่ปี พื้นที่เริ่มเสื่อมโทรม อากาศที่สดชื่นก็เต็มไปด้วยมลพิษ เพราะมีการปล่อยน้ำเสียจากนากุ้งมายังแหล่งน้ำ พื้นที่สาธารณะและบ้านเรือนของชาวบ้าน ชาวบ้านเคยหาปลาได้ในแต่ละวัน  จำต้องออกไปหาจากแหล่งอื่น เมื่อนากุ้งเลิกกิจการกลายเป็นนากุ้งร้าง ปี พ.ศ.2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ฯ ในรัชกาลที่ 9 ท่านทรงรับสั่งว่า “ ป่าฉันหายไปไหน” ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวบ้านอย่างหาที่สุดมิได้ หน่วยราชการน้อมรับกระแสรับสั่ง เวนคืนพื้นที่ และร่วมกันพลิกผืนดินอันแห้งแล้งให้กลับมาเป็นป่าอีกครั้ง ตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 โดยมีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลุงเตี้ยและชาวบ้านคลองเก่าจึงเข้าร่วมโครงการตั้งแต่นั้นมา

นอกจากร่วมปลูกป่าแล้ว จุดเปลี่ยนอีกอันที่ทำให้ลุงเตี้ยหันมาสนใจการเก็บขยะ เพราะรู้สึกอับอายที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั่งเรือไปชมป่าโกงกาง แต่ถูกตั้งคำถามว่ามาชมธรรมชาติหรือมาชมขยะ ลุงเตี้ยจึงหันมาเก็บขยะ รณรงค์ให้ชาวบ้าน ในชุมชนช่วยกันดูแลจัดเก็บขยะ ซึ่งก็ถือว่าขยะลดน้อยลงแต่ยังต้องสร้างจิตสำนึกให้คนในสังคมตระหนักรับรู้และช่วยกันไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง แม้บางคนยังไม่ให้ความร่วมมือ ลุงก็จะทำหน้าที่นี้ต่อไป ก่อนจากลุงเตี้ยขอบใจที่ทุกคนมาเที่ยวชมธรรมชาติวนอุทยานปราณบุรี นั่งเรือชมธรรมชาติปากน้ำปราณ  รายได้จากการนั่งเรือทุกลำ หักลำละ 50 บาทสมทบเข้ากองทุนในโครงการเก็บขยะของชาวบ้าน  พวกเราศรัทธาและได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ทุกคนทำเพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อดูแลโลกใบนี้  พวกเราวางแผนไว้ว่าพรุ่งนี้เราจะขอทำกิจกรรมจิตอาสาตามแบบอย่างที่ลุงเตี้ยทำบ้าง

  • บันทึกธรรมชาติ สู่…นิทรรศการศิลปะธรรมชาติริมทะเล

หลังจากนั้นเราเดินเส้นทางศึกษาธรรมชาติ  ศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี อันเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะกับธรรมชาติ แม้แดดจะเริ่มร้อนแรงขึ้น แต่เรายังอดทน เรียนรู้ธรรมชาติ  เคารพ เห็นคุณค่า สังเกต ศึกษาและบันทึกธรรมชาติในสมุดบันทึก ท่ามกลางป่าโกงกางที่มีสะพานไม้ เด็ก ๆ เลือกภาพจากสมุดบันทึกที่รู้สึกประทับใจมาขยายและถ่ายทอดเป็นผลงานศิลปะ  เพื่อมาแสดงนิทรรศการศิลปะธรรมชาติริมทะเล โดยจัดเองตามสไตล์ที่แต่ละคนชื่นชอบ ใครชอบวางบนผืนทราย หรือเอาไม้มาค้ำยันเป็นขาตั้งก็ได้  ระหว่างติดตั้งงานมีอุปสรรคลมแรงทำให้ผลงานศิลปะล้ม หลุดร่วง ตั้งได้ค่อนข้างลำบาก เด็กสามารถแก้ไขปัญหาได้ เช่น การนำหินมาวางกั้นไว้ไม่ให้ผลงานล้ม การนำผลงานไปแปะติดกับต้นไม้ เด็กนำเสนอผลงานของตนเอง บางคนเชื่อมโยงผลงานกับเรื่องราวของครอบครัว เช่น เห็นปูแสมอยู่กันหลายตัวแบบครอบครัว ดูมีความสุข ก็อยากให้ครอบครัวตนเองมีความสุขเหมือนกัน  เด็กบางคนไม่มั่นใจในการนำเสนอผลงานเพราะวาดไม่สวยแต่ก็สุดท้ายได้รับโอกาสและกำลังใจจากเพื่อนจนกล้านำเสนอผลงานได้สำเร็จ  เด็ก ๆต่างร่วมแลกเปลี่ยนวิจารณ์ผลงาน รู้จักตั้งคำถามที่สร้างสรรค์ ให้ความสนใจ รับฟังการนำเสนอของเพื่อนด้วยความตั้งใจ ให้กำลังใจ ชื่นชมและยอมรับในผลงานของกันและกัน

  • คิดค้น จับจ่าย ใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน

ยามบ่ายเรามีกิจกรรมง่าย ๆที่พบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน คือ การจ่ายตลาดเพื่อทำอาหาร เราให้เด็กแบ่งกลุ่มจับฉลากเมนูอาหาร เช่น อาหารหลัก อาหารปิ้งย่าง เลือกซื้ออาหารที่ตลาดสดมาทำอาหารเย็น  เด็กมีส่วนร่วมในการคิดวัตถุดิบที่ใช้ในเมนูที่กลุ่มตนเองจับฉลากได้ แสดงความคิดเห็นและช่วยกันคิดค้น ว่าแต่ละกลุ่มจะทำเมนูอะไร มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ปริมาณของอาหารที่จะซื้อ  ราคา งบประมาณที่มี เด็กช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยการแบ่งบทบาทหน้าที่ กิจกรรมนี้นอกจากได้แสดงฝีมือเองแล้ว เด็กยังได้เรียนรู้การคิดคำนวณราคา วางแผนการจัดการ มีการจดบันทึก การสื่อสาร เด็กมีข้อจำกัดด้านคำศัพท์ การเขียน ในกลุ่มทุกคนช่วยเหลือและส่วนใหญ่รับผิดชอบงานได้ดี  มีตัวแทนมาทำอาหารในขณะที่สลับกับเพื่อนบางส่วนไปเล่นน้ำ  การทำอาหารล่าช้าส่งผลให้กินอาหารล่าช้าไปด้วย แต่เด็ก ๆก็รอกันและกันไม่มีใครกินก่อนใคร ช่วงการกินอาหารเป็นช่วงที่เราจะเห็นบรรยากาศการแบ่งปัน  ช่วยกันจัดเก็บล้างทำความสะอาดอุปกรณ์และพื้นที่ประกอบอาหารได้ดี

  • ผ่อนคลาย สบายใจ เล่นน้ำทะเลใสใส ได้มิตรภาพดีๆ

เย็นเราก็ได้เวลาเล่นน้ำทะเล ผ่อนคลาย เล่นเกม และกีฬาริมชายหาด เด็ก ๆ ชอบเล่นน้ำทะเล เพราะรู้สึกสดชื่น เย็นสบาย ผ่อนคลาย เราจะได้ยินเสียงเด็กหัวเราะเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน เด็กส่วนใหญ่มักจับกลุ่มเล่นน้ำด้วยกัน มีเด็กบางคนชอบความสงบ ๆ อยู่ตามลำพัง มีความสุขกับการได้เดินสำรวจชายหาด หยิบเปลือกหอย ดูปูในรู  เด็ก ๆชอบเล่นกีฬาแชร์บอลในน้ำโดยมีพี่เด็กโตเป็นผู้นำกิจกรรม เด็กเล่นร่วมกันและดูแลกันและกันได้ทุกวัย เด็กบางคนไม่กล้าเล่นน้ำ กลัวน้ำ กลัวทะเล ว่ายน้ำไม่เป็น แต่มีเพื่อนเข้ามาชวนให้ไปเล่นด้วย โดยเริ่มจากเล่นบริเวณชายหาดก่อน ค่อย ๆพาลงน้ำ คอยวักน้ำใส่มือ ใส่แขน ใส่ตัวให้ และค่อย ๆจูงมือก้าวลงทะเลในระดับที่ลึกขึ้น ท่ามกลางกำลังใจจากเพื่อนที่เชียร์ให้เล่นเลย ๆ จนเด็กมีความกล้าลงไปเล่นน้ำกับเพื่อนได้ในที่สุด ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจควรคู่กับทะเลสวย สงบแห่งนี้เป็นอย่างดี

  • เช้าวันใหม่ ปลุกพลังหัวใจจิตอาสา

เช้าวันถัดมาเรารับพลังจากแสงแรกของวันกับดวงอาทิตย์ดวงโตสีส้มอมเหลืองโดดเด่นอยู่กลางทะเลมืดสีครามเข้ม และท้องฟ้าสีฟ้าครามสลับแสดดำ ตัดกับภาพเงาดำของบรรดาเด็กที่ขยันตื่นกันแต่เช้าตรู่ เด็ก ๆเดินออกกำลังกายในช่วงเช้าด้วยการเป็นจิตอาสาช่วยเก็บขยะริมชายหาดวนอุทยานปราณบุรี  ทุกคนช่วยกันเก็บขยะรอบป่าทิวสน  ดงผักบุ้งทะเลริมชายหาด มีขยะที่ถูกซัดมาเกยตื้นริมชายหาด ขยะที่ถูกทรายทับถมไว้นานแล้ว  ครู่เดียวเด็ก ๆก็เก็บขยะได้เต็มถุงดำ และช่วยกันลากมาแทนการหิ้วเนื่องจากเป็นขยะเปียกจึงทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น พวกเราช่วยกันเก็บแค่ไม่ถึงชั่วโมงได้ขยะเยอะมาก ต่างรู้ว่าแต่ละวันคนเราสร้างขยะให้โลกเยอะมาก  และพวกเราเป็นเด็กรุ่นใหม่จะช่วยกัน ลด ละ การสร้างขยะเพิ่มให้กับโลกใบนี้ จากเรื่องง่าย ๆใกล้ตัว ไม่ใช้หลอด ไม่ใช้ถุงพลาสติก ใช้กระบอกน้ำ แก้วน้ำแทน ขวดน้ำพลาสติก

  • แรงบันดาลใจดีๆ ที่ “ไร่ชั่งหัวมัน”

ปิดท้ายพลาดไม่ได้กับการเดินทางเข้าเยี่ยมชมสุดยอดแรงบันดาลใจที่โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ  หรือเด็ก ๆนิยมเรียกกันว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมีประวัติโครงการว่า เมื่อปี 2551 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงซื้อที่ดิน 250 ไร่จากราษฎรบริเวณอ่าวหนองเสือ เดิมบริเวณนี้เป็นพื้นที่แห้งแล้ง เกษตรกรนิยมปลูกพืชไร่  แต่ด้วยแนวคิดอันยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อเกษตรกรในการพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม พลิกฟื้นแผ่นดินที่แห้งผาก หวนคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ทรงให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตรรวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นศูนย์การเรียนด้านการปลูกพืชเกษตรในพื้นที่แห้งแล้งในปัจจุบันอีกด้วย

เมื่อเดินเข้ามาภายในโครงการชั่งหัวมัน  จะมีรถรางพาเข้าเยี่ยมชมตามจุดต่าง ๆบางมุมตกแต่งด้วยพรรณไม้ พืชผักใหญ่ยักษ์ มะนาว มะเขือ บวบ น้ำเต้า และมุมพักผ่อนสำหรับถ่ายรูปเป็นที่ระลึกให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้  เด็ก ๆประทับใจในวัวของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ชื่อว่า คุณตุ่ม พ่อพันธุ์วัวเพียงตัวเดียวในไร่ คุณตุ่มเป็นวัวที่ในหลวงทรงป้อนนมด้วยพระองค์เอง ใครอยากเจอคุณตุ่มสามารถ Add Line เป็นเพื่อนกับคุณตุ่มด้วยแต่จะมีแค่ลายขาวและดำ  เด็ก ๆชอบใจขำมุกของลุงขับรถรางนำชมไร่ คุณตุ่มน่าอิจฉาที่มีลูกและเมียมาก 55 ตัว นอกจากฟาร์มโคนม ก็มีการเลี้ยงไก่ เลี้ยงไส้เดือน ปลูกมันเทศญี่ปุ่นหลากสี  และที่เด่นคือไร่สับปะรดพันธุ์ฉีกตา ถ้าดูไม่เป็นแยกไม่ออก เวลาไปซื้อข้างนอกระวังจะได้พันธุ์แหกตากิน อันนี้เด็กๆก็ขำกันยกใหญ่  ถัดมามีต้นชมพู่พันธุ์เพชรสายรุ้งห่อกระดาษอย่างดีเพราะเป็นของดีเมืองเพชรบุรีที่ผลผลิตไม่พอต่อความต้องการและราคาดีมาก 150-300 บาท/กิโลกรัม

เด็ก ๆตื่นตาตื่นใจกับการใช้พลังงานจากทุ่งกันหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโครงการ สนนราคาต้นละ 1.2 ล้านบาท ราคาสูงมากแต่เด็กๆให้ความสนใจมากเช่นกัน จากนั้นเราชมบ้านไร่ของในหลวงรัชกาลที่ 9  ที่ดูเรียบง่าย อยู่ท่ามกลางนาข้าวเขียวขจี จากการชมโครงการชั่งหัวมัน เด็ก ๆ สรุปการเรียนรู้  นำความรู้ที่ได้รับ มาบันทึก จดจำ นำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน เพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนในอนาคต…

อัลบั้มภาพ

: 285