'สาเหตุที่ครอบครัวทำร้ายเด็ก'

การที่บุคคลใดสามารถทำร้ายเด็กได้ เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน และไม่สามารถอธิบายสาเหตุอย่างง่ายๆ ได้ เพราะพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงมักเป็นผลรวมของการมีปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลาย ได้แก่

  1. การถ่ายทอดวิธีปฏิบัติที่รุนแรงต่อเด็กที่สืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น

เด็กที่เติบโตในความรุนแรง นอกจากจะมีการเรียนรู้ เลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงที่พ่อแม่แสดงแล้ว ยังไม่มีโอกาสเห็นแบบอย่างและบรรยากาศการเลี้ยงดูที่อบอุ่น เมื่อเติบโตเป็นพ่อแม่ จึงมีแนวโน้มที่ใช้ความรุนแรงกับลูกของตน

  1. ปัญหาส่วนบุคคล

-การติดเหล้า แอลกอฮอล์ ยา และสิ่งเสพติดอื่น พบได้บ่อยในพ่อแม่ที่ทำร้ายลูก ทั้งจากความเครียดที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการสิ่งเสพติด รวมถึงการที่สิ่งเสพติดมีผลกระตุ้นพฤติกรรมรุนแรง คนที่ติดสารเสพติดมีอัตราการทำร้ายลูกมากกว่าคนทั่วไป 3 เท่า อัตราการละเลยทอดทิ้งมากกว่าคนทั่วไป 4 เท่า และจะพบความเสี่ยงสูงขึ้น ถ้าเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

-ปัญหาความผิดปกติด้านสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล ซึมเศร้า หรือการเจ็บป่วยทางจิตแบบอื่น ทำให้ไม่สามารถรับมือกับความเครียดในการทำหน้าที่หนักจากการเป็นพ่อแม่ อาจจะมาในรูปแบบการใช้ความรุนแรงหรือการไม่ตอบสนอง ไม่สนใจเด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวชที่ได้รับการรักษาจะช่วยทำให้ความสามารถในการรับมือกับปัญหาดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการทำร้ายเด็ก

-พ่อแม่ที่ไม่มีความเชื่อมั่นหรือความภาคภูมิใจในตนเอง ถูกกดดันหรือเครียดจากสภาพการทำงานหรือพ่อแม่ที่ไม่มีความพร้อม เป็นวัยรุ่น หรือไม่มีวุฒิภาวะมากพอ มักจะไม่สามารถรับภาระหนักหรือความกดดันที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเลี้ยงดูลูก

  1. ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู วิธีการเลี้ยงดู และปัจจัยจากตัวเด็ก

ได้แก่ การที่พ่อแม่ พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง หรือผู้เลี้ยงดูไม่ได้เลี้ยงดูเด็กเอง ไม่ได้มีระยะเวลาการสร้างสายใยผูกพัน หรือการมีความคาดหวังต่อเด็กไม่เป็นจริงตามวัยและพัฒนาการ การไม่รู้วิธีที่ถูกต้องที่จะเลี้ยงดูหรือสนับสนุนให้เด็กเติบโตตามศักยภาพ นอกจากนี้ลักษณะบางอย่างของเด็กอาจกระตุ้นให้เกิดความเครียดมากขึ้น ได้แก่ เด็กปัญญาอ่อน พิการ ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น เนื่องจากภาระที่เพิ่มมากขึ้นจากการดูแลเด็ก

  1. โครงสร้างครอบครัว

ลักษณะครอบครัวที่เพิ่มความเสี่ยงในการทำร้ายเด็ก ได้แก่ พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว มีความเครียดสูง ปัญหาเรื้อรังด้นความสัมพันธ์สามีภรรยา รวมถึงปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับการหย่าร้าง มีการทำร้ายกันระหว่างสามีภรรยาหรือคนในครอบครัว หรือการที่สามีหรือภรรยาบุคคลใดบุคคลหนึ่งยึดอำนาจตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ เพียงฝ่ายเดียว เช่น เรื่องบ้าน งาน ค่าใช้จ่าย เป็นต้น

ปัญหาครอบครัว ได้แก่ เศรษฐานะ หนี้สิน ตกงาน ความเจ็บป่วย บ้านทรุดโทรม ครอบครัวที่มีสมาชิกมากเกินไป มีเด็กเกิดใหม่ มีคนพิการใหม่ หรือ มีการตายเกิดขึ้น นอกจากนี้พบว่าครอบครัวยากจนจะมีรายงานการทำร้ายเด็กมากกว่าชนชั้นอื่น ขณะที่ครอบครัวชนชั้นกลางและสูง ที่มีการทำร้ายเด็ก การช่วยเหลืออาจเข้าถึงได้ยากกว่า

  1. การแยกตัวจากสังคมหรือการไม่มีแหล่งสนับสนุน

การมีแหล่งสนับสนุนเป็นปัจจัยด้านบวกสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำร้ายเด็ก พ่อแม่ต้องการการสนับสนุนในด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถดูแลครอบครัว และลูกได้ เช่น เศรษฐานะ เวลา รวมถึงปัญหาอารมณ์จิตใจ ถ้าสังคมใดถือว่าการดูแลเด็กเป็นหน้าที่ร่วมกัน เช่น ชุมชนที่เพื่อนบ้าน ญาติ เพื่อน เข้ามาช่วยดูแลเด็ก เมื่อพ่อแม่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จะเป็นสังคมที่มีอัตราการทำร้ายเด็กต่ำ

พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูที่ทำร้ายเด็กมีแนวโน้มแยกตัวจากสังคม ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีการสื่อสาร หรือปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน หรือญาติ ซึ่งยิ่งทำให้ไม่มีแหล่งสนับสนุนที่จะประคับประคองช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในครอบครัว และการที่พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูแยกตัวจากสังคม ก็ทำให้แนวโน้มที่จะปรับพฤติกรรมให้เป็นไปตามมาตรฐานสังคมยากขึ้น

  1. ปัจจัยทางสังคม

ความเครียด ความรู้สึกกดดัน จากปัจจัยทางสังคมที่หลากหลาย เพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้ครอบครัวทำร้ายเด็ก รวมถึงทัศนคติสังคมที่ยอมรับความรุนแรง หรือมีความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคมบ่อยครั้ง การเหยียดผิวหรือเผ่าพันธุ์ สังคมที่ให้สิทธิทางเพศไม่เท่าเทียมกัน การที่สังคมยอมรับการใช้ความรุนแรงลงโทษเด็ก รวมถึงความเชื่อว่าพ่อแม่เป็นเจ้าของและมีสิทธิและอำนาจที่จะทำอะไรกับลูกก็ได้ เป็นความเสี่ยงในการทำร้ายเด็ก

ข้อมูลจาก : https://oscc.consulting/

อินโฟกราฟิก มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to DearFlip WordPress Flipbook Plugin Help documentation.

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 285