การเลี้ยงดูเชิงบวกแบบใจดีแต่ไม่ใจอ่อน คือ การที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกโดยคาดหวังให้เขาทำในสิ่งที่เหมาะสมกับวัย และสิ่งที่จำเป็นต่อคุณภาพชีวิตของลูก

1.พ่อแม่กำหนดขอบเขตข้อจำกัดชัดเจน (Boundary setting) จากการตั้งกติกาของครอบครัวร่วมกัน เช่น

-กฏ 3 ข้อ (ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำลายข้าวของ)

-กำหนดหน้าที่ที่ลูกและทุกคนในบ้าน ต้องรับผิดชอบให้ชัดเจน เช่น กิจวัตรประจำวัน งานบ้าน และการบ้าน เป็นต้น

ขอบเขตนี้จะเป็นตัวกำหนดว่า เราจะไม่ปล่อยปละละเลยให้ลูกทำตามใจในทางที่ไม่เหมาะสมได้

2.เมื่อลูกทำสิ่งที่ผิดและไม่เหมาะสม 'ความมั่นคง' ที่พ่อแม่แสดงออกไม่ใช่ 'การลงโทษ (Punishment)' ที่รุนแรง แต่ คือ 'การสอน (Teaching lessons)' ให้ลูกแก้ไขและรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ เพื่อลูกจะได้เรียนรู้ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไปในครั้งหน้า เช่น

  • สื่อสารชัดเจนในสิ่งที่เราต้องการให้ลูกทำ และอย่าลืมให้ทางออกกับลูกเสมอ งดพูดยืนยาว การบ่น ประชดประชัน หรือ อารมณ์ที่ไม่จำเป็นลงไป
  • ลูกทำผิดเราต้องสอนเขารับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง และสอนเขาให้ทำในสิ่งที่ถูก
  • พ่อแม่พูดคำไหนคำนั้น ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

'การมั่นคงและไม่ใจอ่อน' ไม่ใช่ 'การทำร้ายหรือลงโทษที่รุนแรง' จนทำให้เด็กเกิดความหวาดกลัว

แต่ 'การมั่นคงและไม่ใจอ่อน' คือ 'การสอนและยืนยันในสิ่งที่เหมาะสม'

แม้สิ่งที่เรายืนหยัดให้เขาทำจะไม่ถูกใจเด็ก แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้องและทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

3.'ปล่อยอิสระ' แต่ไม่ 'ปล่อยปละละเลย'

'อิสระ' แปลว่า 'ปล่อยให้ลูกได้ทำสิ่งต่างๆ อย่างอิสระภายใต้ขอบเขตที่เราตกลงร่วมกัน หรือ ตามกติกาของสังคมนั้น'

  • ให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง และเชื่อใจให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองตามวัย ไม่ปกป้องเขาจนเกินเหตุ และไม่ยอมให้เขาทำในสิ่งที่เขาควรทำได้ตามวัย
  • ให้ลูกแก้ปัญหาตามวัย และฝึกให้ลูกแก้ปัญหานั้นด้วยตนเอง คอยเคียงข้างหรือเฝ้ามองลูกอยู่ห่าง ๆ จนลูกสามารถแก้ปัญหานั้นได้
  • ให้ลูกเลือกในสิ่งที่เหมาะสมตามวัย ไม่ใช่ให้ตัดสินใจในสิ่งที่เกินวัยของเขา
  • ให้เด็กได้เล่น ฟังนิทาน ทำงานบ้าน โดยมีพ่อแม่อยู่เคียงข้างเขา
  • เมื่อเด็กละเมิดข้อตกลงและทำให้เขาหรือใครเดือดร้อน พ่อแม่จะไม่นิ่งเฉยเข้าไปถึงตัวเด็กเพื่อหยุดสิ่งที่เด็กทำและสอนเขาในสิ่งที่ควรทันที

ดังนั้น พ่อแม่ที่ต้องการจะเลี้ยงดูลูกเชิงบวก จึงควรจะสร้างสมดุลระหว่าง 'ความใจดี' กับ 'ความมั่นคง'

“พ่อแม่ที่ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน ลูกจะมั่นคงทางจิตใจ ไม่หวาดกลัวเมื่อทำผิด และกล้าที่เข้ามาปรึกษาเรา เขาพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตน ยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อ และมีเมตตา รักตัวเองและรักผู้อื่นเป็นเช่นกัน'

ข้อมูล : เพจตามใจนักจิตวิทยา (https://www.facebook.com/followpsychologist)

อินโฟกราฟิก : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

Please wait while flipbook is loading. For more related info, FAQs and issues please refer to DearFlip WordPress Flipbook Plugin Help documentation.

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    : 0