'ลูกไม่เชื่อฟัง ทำอย่างไรจะไม่ใช้ความรุนแรงกับลูก'
เมื่อเด็กๆ ไม่เชื่อฟัง ทำอย่างไรถึงจะไม่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ คือ .
1) สำรวจหาสาเหตุก่อนว่า 'เพราะอะไร เด็กจึงมีพฤติกรรมไม่ดี ต่อต้าน ไม่เชื่อฟังเรา'
เช่น เด็กชอบแกล้งเพื่อน เพราะเด็กมีภาวะสมาธิสั้น เด็กโกหก ขโมยของ เพราะพื้นฐานจิตใจที่ขาดความรักจากคนในครอบครัว ทำให้แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมไม่ดี เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือ เด็กที่ชอบทำร้ายเพื่อน เพราะอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกันรุนแรงบ่อยครั้ง
ผู้ใหญ่ต้องทราบสาเหตุ ก่อนที่จะแก้ปัญหาของเด็กได้ อันนี้สำคัญ
2) พ่อแม่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก จึงจะคุยกันเข้าใจ ทราบสาเหตุลึกๆ ในใจเด็ก จากการพูดคุยกัน ให้เด็กเปิดใจ และถ้าความสัมพันธ์ดีจะคุยกันรู้เรื่องขึ้น
มีคำพูดที่ว่า “การที่คนๆหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงคนอีกคนได้ คนๆนั้นจะต้องสามารถเปิดใจอีกคนได้ ทำให้อีกคนไว้ใจ เชื่อมั่นพอที่จะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงก่อน ถึงจะเปลี่ยนแปลงเขาให้ดีขึ้นได้”
แล้วผู้ใหญ่จะทำยังไง เด็กจึงจะเชื่อมั่น ไว้วางใจ นั่นก็ต้องมาจาก 'สัมพันธภาพที่ดีที่มีต่อกันก่อน'
ถ้าพ่อแม่ที่ทะเลาะกับเด็กทุกครั้งเพราะเด็กทำตัวไม่ดี แบบนั้นก็คงจะยากที่จะให้เด็กเปิดใจและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยน
เด็กคงไม่สามารถดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยคำขู่ คำดุว่า ของผู้ใหญ่ จริงอยู่ การใช้ความรุนแรงอาจจะมีผลในขณะนั้น แต่ระยะยาว ไม่สามารถทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนอย่างยั่งยืนได้ แถมยังมีผลกระทบเป็นบาดแผลในใจเด็กอีกต่างหาก
ไม่ใช่แค่จะเป็นผู้ใหญ่ที่เด็กกลัวอย่างเดียว เพราะถ้ากลัวอย่างเดียว เด็กจะมีแนวโน้มต่อต้านและทำตรงข้ามถ้ามีโอกาส ที่เค้าเรียกว่า ‘ดีแตก’ ตอนที่เด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
การที่เด็กจะเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น ต้องมาจากตัวเด็กเองที่ต้องมีแรงจูงใจที่อยากจะเปลี่ยนแปลง และคนที่จะเปลี่ยนเด็กได้ ต้องเป็นคนที่เด็กพร้อมจะเชื่อฟัง มีความสัมพันธ์ที่ดี เป็นผู้ใหญ่ที่เด็กรัก เชื่อมั่น ไว้ใจ และเคารพ
3) เวลาเด็กทำผิด พ่อแม่ควรมีวิธีทำโทษที่ไม่รุนแรง ซึ่งอาจกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ได้มาก ควรทำโทษด้วยการตัดสิทธิ์ที่ชอบ ทำความดี(งานบ้านต่างๆ)ชดเชย อย่าตำหนิด้วยคำพูดแรงๆ หรือการขู่ ประชด หรือตีรุนแรง เด็กมักจะต่อต้านมากขึ้นในระยะยาว
4) การจะทำตามข้อต่างๆ ได้ พ่อแม่ต้องมี 'ทักษะจัดการอารมณ์ของตัวเอง' อย่าปรี๊ดแตกในเวลาที่จัดการลูก
เทคนิคจัดการความโกรธ
เทคนิคจัดการความโกรธมีอะไรบ้าง ใช้ได้สำหรับทุกคนไม่แค่สำหรับพ่อแม่ แต่สำหรับคนรอบข้างด้วย
- พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า การจัดการความโกรธ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้โกรธ เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปที่จะมีอารมณ์ต่างๆ รวมถึงความโกรธด้วย ดังนั้นคนเป็นพ่อแม่ ซึ่งเป็นมนุษย์ปกติ ก็ย่อมโกรธได้เป็นธรรมดา
- ความหมายของการจัดการความโกรธ คือ เข้าใจยอมรับอารมณ์โกรธที่เกิด และจัดการแสดงออกในความโกรธโดยที่ควบคุมให้เหมาะสม
- เมื่อเกิดอารมณ์โกรธขึ้นมา ให้เราบอกตัวเองได้ว่า 'ฉันกำลังโกรธ ไม่พอใจ' การตระหนักในอารมณ์ที่เกิด จะทำให้เราบังคับปากและการกระทำต่อไปได้ง่ายขึ้น
- การจัดการกับความโกรธที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม ทำได้หลายวิธี ยกตัวอย่างเทคนิคจัดการความโกรธ (จะได้ไม่พูดหรือทำอะไรรุนแรงเพราะปรี๊ดแตก) เช่น หายใจเข้าออกช้าๆ สัก 5 ครั้ง ก่อนที่จะพูดหรือทำอะไร /ออกจากจุดเกิดเหตุ ไปสงบสติอารมณ์ประมาณ 10 นาที เช่น เดินออกไปหน้าบ้าน แล้วค่อยกลับเข้ามาใหม่ น่าจะมีสติและจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น อาจหาน้ำเย็นๆ ดื่ม ล้างหน้าล้างตา ฯลฯ
- ต้องมีความตั้งใจว่า การแสดงความโกรธแบบรุนแรง เช่น ตะโกนเสียงดัง หน้าตาที่ดุร้าย โมโหนั้น เป็นสิ่งที่เราพยายามจะไม่ทำ เมื่อทำไปก็ทำให้ใจไม่เป็นสุข เป็นพลังลบ ความตั้งใจที่จะไม่ทำ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะดึงตัวเราไว้ได้
- คิดเสมอว่าเราเองก็ไม่อยากให้ลูกทำอย่างใดเวลาที่ลูกโกรธ เราก็อย่าทำเป็นตัวอย่างเช่นกัน
- ความโกรธจะไม่โจมตีเรารุนแรงนัก ถ้าเรามีความเข้าใจในคนที่ทำให้เราโกรธ เช่น เวลาที่ลูกๆ ของเรากำลังทะเลาะกันเสียงดัง ถ้าเราเข้าใจว่าก็เพราะเขายังเล็กและเป็นพี่น้องกัน อยู่ด้วยกัน ความขัดแย้งทะเลาะกันเป็นเรื่องธรรมดามาก หรือว่าลูกของเราหน้าบึ้งใส่เรา เพราะเขามีเรื่องไม่สบายใจบางอย่าง ถ้าเราทำความเข้าใจและคาดหวังอย่างเป็นจริงในตัวอีกฝ่ายได้ ความโกรธก็น่าจะน้อยลง
- เมื่อเราลงใจตามข้อต่างๆ ตามข้างต้นได้ การจัดการกับความโกรธก็จะง่ายขึ้น
- หากมีบ้างที่เราเผลอแสดงความโกรธออกไปอย่างที่เราไม่ชอบ เช่น ตะโกนดัง ตีลูก เราจัดการความโกรธไม่ทัน ก็อย่าไปรู้สึกผิด หรือโทษตัวเองมากมายตรงนั้น เพราะความผิดพลาดเป็นธรรมชาติ แต่มันก็จะทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น
- ฝึกจัดการความโกรธกับคนอื่นๆ ที่เราพบเจอด้วย ไม่ว่าจะเป็นกับลูกหรือคนใกล้ตัว การที่เราจัดการความโกรธได้ จะทำให้เรามีอารมณ์พื้นฐานที่สงบและสบายใจมากขึ้น นำไปสู่สุขภาพจิตที่ดีขึ้นในระยะยาวด้วย และการเลี้ยงลูกจะมีความสุขขึ้นด้วย
ขอบคุณข้อมูล : เพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา #หมอมินบานเย็น