1 ปีกว่า ที่ต้องปิดบ้านพาเพลินเป็นการชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนด เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 จึงต้องปรับรูปแบบเป็นทำกิจกรรมบนออนไลน์แทน แต่ก็ไม่อาจชดเชยกับความสนุกตามธรรมชาติของเด็กที่อยากเจอหน้าและเล่นด้วยกันอย่างมีปฏิสัมพันธ์กันจริง ๆ
จนมาถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2565 บ้านพาเพลินได้กลับมาเปิดอีกครั้ง มีเด็กทั้งสมาชิกเก่าและใหม่ มาที่บ้านพาเพลินถึง 8 คน ถือว่าเยอะกว่าที่คาดคิดไว้ เพราะตอนแรกที่แจ้งผู้ปกครองว่าจะเปิดบ้านวันที่ 25 นี้ โดยไม่มีรูปแบบกิจกรรมอย่างที่เคย ก็ได้รับการตอบรับที่จะมาเพียง 3 คน เท่านั้น แต่พอถึงวันจริงเด็กบางคนคงเปลี่ยนใจ ด้วยความคิดถึงเพื่อนและความสนุกที่บ้านพาเพลิน อีกทั้งผู้ปกครองบางคนก็ชวนเพื่อนที่มีลูกให้พามาที่นี่ เพื่อร่วมกิจกรรมและเจอเพื่อนใหม่ด้วย
กิจกรรมครั้งนี้ต่างจากเดิม เพราะไม่มีรูปแบบ ไม่มีกิจกรรมหลักเหมือนที่ผ่านมา พี่อาสาอยากเปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ คิดหาวิธีเล่นกันได้อย่างสนุกและเป็นอิสระ จึงจัดเตรียมเพียงอุปกรณ์วาดรูประบายสี อุปกรณ์สร้างสรรค์งานประดิษฐ์ และหนังสือนิทาน พร้อมชวนเด็ก ช่วยกันลองคิดว่า กลับมาบ้านพาเพลินครั้งนี้ เด็ก ๆ อยากตกแต่ง อยากจัด อยากทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง และอยากให้มีกติกากลางแบบไหน ในการทำกิจกรรมร่วมกัน
และหลังจากที่นั่งวาดรูป ขีดเขียนได้ไม่นาน กลุ่มเด็กผู้ชายก็มาขออนุญาตออกไปเล่นนอกตัวบ้าน อยากวิ่งเล่นสนุกกับเพื่อน ๆ และพี่อาสา ส่วนน้องเล็กก็มาหยิบหนังสือนิทาน และชวนให้พี่ ๆ อ่านให้ฟัง สิ่งที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิและอาสาได้เห็นอย่างชัดเจนคือ เด็กได้เล่นอย่างสนุกสนาน บนพื้นที่ปลอดภัย แม้พื้นที่จะไม่เยอะแต่ก็เล่นกันหัวเปียก เหนื่อยก็มาหยุดพักเล่นในห้อง หายร้อนก็ออกไปเล่นต่อ และรู้สึกได้ว่าเด็ก ๆ ไม่ได้เรียกร้อง ไม่ได้ต้องการกิจกรรมอะไรมากมาย เพียงแค่มีคนเล่นด้วยก็สนุกและดีใจแล้ว จนมีน้องบางคน เอ่ยร่ำร้องอยากให้เปิดบ้านพาเพลินทุกเสาร์ ซึ่งปฏิกิริยา การแสดงออก การรับรู้ ที่ได้เห็นจากเด็กนั้นแตกต่างจากตอนที่ทำกิจกรรมทางออนไลน์อย่างเห็นได้ชัด
ตลอด 2 ปีที่เด็ก ๆ ไม่ไปโรงเรียนเล่นกับเพื่อน ๆ ต้องอยู่แต่กับบ้านและโลกออนไลน์ อยู่แต่กับหน้าจอ สำหรับวัยเด็กแล้วถือเป็นช่วงเวลาที่ถูกขโมยไปอย่างยาวนาน เพราะการเล่นนั้นช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางความคิดและร่างกายของเด็กในหลายด้าน
กิจกรรมครั้งนี้ที่ดูเหมือนไม่ได้เตรียมอะไรนั้น แท้จริงแล้วผ่านกระบวนการเตรียมมาก่อน โดยทีมงานอาสาสมัครมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้รับความอนุเคราะห์จาก Cream Bangkok โรงแรมมหัศจรรย์ (พื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับเด็กและครอบครัว) ที่อนุญาตให้เข้าศึกษาดูงานและขอความรู้การจัดกิจกรรมของที่นี่ ซึ่งมีรูปแบบของการพัฒนาส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ปลุกจินตนาการ เสริมความมั่นใจ ผ่านไอเดีย ความคิด การเล่นสนุก ที่มาจากตัวเด็ก ๆ เอง โดยที่ผู้ใหญ่เป็นเพียงผู้สนับสนุนพฤติกรรมเชิงบวกให้กับเด็ก การดูงานในครั้งนี้ถือเป็นเปิดประสบการณ์ทางความคิด ความรู้ ไอเดียและมุมมองใหม่ ๆ ให้ทั้งเจ้าหน้าที่และทีมงานอาสาของมูลนิธิฯ ด้วยเช่นกัน
ผู้เขียน : ธัญญารัตน์ ศรุติพันธ์ อาสาสมัครผู้พิทักษ์เด็ก