มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ขอนำเสนอกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบสำหรับเด็กในหลายช่วงวัย เพื่อเป็นแนวทางการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและยังสร้างความสัมพันธ์อันดีให้กับสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย กับชุดกิจกรรมสร้างสรรค์ “เล่นอยู่บ้าน ต้านโควิด-19” บ้านเป็นสุข ไร้ความรุนแรง
ตอนที่ 2 หาปลา วิถีพอเพียง เพียงพอ
ช่วงสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ เริ่มมีความกังวลหลายอย่าง ผู้คนเริ่มกักตุนอาหารในขณะที่อาหารมีราคาแพงขึ้นและต้องเสี่ยงไปซื้ออาหารในแหล่งชุมชนแออัด ผู้คนถูกให้หยุดงาน ไม่มีรายได้ ทางรอดที่ปลอดภัยหากใครที่มีบ้านอยู่ในชนบท คือ การใช้ชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง กินอยู่ใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวในครัวเรือนทำให้เด็กและครอบครัวมีชีวิตชีวาได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการพึ่งพาตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ช่วยให้เราเกิดความมั่นคงทางอารมณ์จิตใจ อยู่รอดปลอดภัยและคลายกังวลได้ในสภาวะเช่นนี้
อุปกรณ์
- ตาข่าย
- แห
- สวิง
- ถังน้ำ
- เสื้อผ้าชุดเก่าๆ หมวกกันแดด กระติกน้ำดื่ม
- จอบ
- มีด ตะขอเกี่ยวหญ้า
วิธีการ
- เตรียมเสื้อผ้าเก่าสำหรับลุยให้เต็มที่
- สำรวจบริเวณรอบๆสระ เพื่อดูพื้นที่ ระดับน้ำ ดึงหญ้าหรือสวะริมบ่อขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ สามารถจับปลาได้ง่ายขึ้นและมีความสะดวกในการวางข่าย เหวี่ยงแหหาปลา
- ค่อยๆเดินลงไปสัมผัสน้ำ และเตรียมอุปกรณ์สำหรับเหวี่ยงแหหรือตาข่ายสำหรับดักปลา สำหรับการวางตาข่ายดักปลาต้องวางฝั่งตรงข้ามของบ่อและพักรอสักครู่ให้อีกคนใช้ไม้ฟาดริมน้ำเพื่อไล่ปลาให้ตกใจแล้ววิ่งมาติดตาข่ายให้อยู่กลางบ่อ
- สังเกตว่าตาข่ายติดปลาจะมีการกระตุก ให้ลงน้ำไปจับปลาที่ติดตาข่ายปลดออกมาใส่ฆ้องไว้และนำแหไปหว่านในจุดที่มีปลาผุด ลงน้ำไปลอยคองมและจับปลามาใส่ฆ้อง
- ได้ปลาพอสมควรแล้วก็นำอุปกรณ์ต่างๆทำความสะอาดและนำปลากลับไปที่บ้านเพื่อทำอาหารรับประทานร่วมกัน ปลาที่เหลือจากการทำอาหารก็จะขังไว้เพื่อใช้ทำอาหารในมื้อวันถัดไปหากปลาตัวไหนตายก็นำมาถนอมอาหารโดยการทำปลาเค็มไว้
- หลังจากเสร็จกิจกรรมพูดคุยกับเด็กในครอบครัวเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นความคิดจากประสบการณ์ใหม่ความรู้สึกจากการได้ไปจับปลาหาปลาในพื้นที่ของตัวเอง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้เรารู้จักพอ รอดพ้นจากภาวะวิกฤตโควิด19 จากการที่เราได้อยู่บ้านและไม่ต้องออกไปหาอาหารที่ไกลบ้านในชุมชนที่มีแออัดความเสี่ยงแต่เราหาอาหารจากสิ่งที่เราปลูกสิ่งที่เราเลี้ยงเอง เอาไว้กินไว้ใช้ในครัวเรือนทำให้เราประหยัดและปลอดภัย นอกจากนี้กิจกรรมหาปลาทำให้เด็กได้เล่นน้ำและผ่อนคลาย สดชื่นมีชีวิตชีวา เรียนรู้ทักษะชีวิต การพึ่งพาตนเองและธรรมชาติ เกิดภาคภูมิใจที่หาอยู่หากินได้ด้วยตนเองภูมิใจในวิถีชีวิตของตนเอง