“เล่าสู่กันฟัง เมื่อเราอยู่ในยุค โควิด – 19  ครองเมือง”

ดารณี นฤดมพงศ์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองสิทธิเด็ก สถาบันเพื่อการคุ้มครองเด็ก : ผู้เขียน

พวกเราทุกคนล้วนต้องปรับตัว ตั้งรับความท้าทายในครั้งนี้ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กเป็นองค์กรที่ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน

ในฐานะคนทำงานที่รับผิดชอบเรื่องการคุ้มครองเด็ก ต้องบอกว่ามีข้อท้าทายในหลายส่วนเลยทีเดียว เพราะเรายังมีเด็กที่ต้องให้การช่วยเหลือ มีเด็กที่ต้องการความปลอดภัยในชีวิต

ในเวลาปกติ งานของเราก็มีความท้าทายอยู่แล้ว เพราะเราต้องทำงานกับครอบครัว ซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่ทำร้ายเด็กเสียเอง โดยเราต้องประเมินและทำความเข้าใจ พร้อมทั้งชี้แจงว่าเหตุใดเราจึงไม่สามารถให้เด็กกลับไปอยู่กับครอบครัวได้ หลายครั้งฉากเหล่านี้จบลงด้วยน้ำตา เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กจะต้องแยกจากครอบครัว แต่ก็ดีกว่าการส่งเด็กกลับไปอยู่ในสภาวะที่ไม่ปลอดภัย และไม่สามารถปกป้องตัวเองได้

อีกขั้นตอนที่มักจะทดสอบความสามารถของเราในการระดมทรัพยากร คือการหาผู้ที่จะดูแลเด็กแทนครอบครัว (ที่ไม่สามารถทำหน้าที่ดูแลเด็กได้) เป้าหมายของเราคือการพยายามให้เด็กยังคงได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นครอบครัว ดังนั้นญาติมักเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนจะโชคดีที่มีญาติที่พร้อมจะช่วยดูแลได้ ตัวเลือกถัดไป คือครอบครัวอุปถัมภ์ ที่อาสาช่วยดูแลเด็กชั่วคราว (จนกว่าครอบครัวจะมีความพร้อม หรือสามารถหาครอบครัวถาวรใหม่ให้เด็กได้) ซึ่งมีจำนวนจำกัดมากในประเทศไทย ดังนั้นหลายครั้งตัวเลือกของเด็กจึงมีแค่เพียงสถานรองรับ  ซึ่งก็ไม่ใช่จะสามารถเข้าไปอยู่กันได้ง่ายๆ ต้องมีการประสานงานและกระบวนการขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน

ต้องกักตัวเด็ก14วันก่อนส่งเข้าสถานรองรับ!!

แต่ความท้าทายต่างๆ ล้วนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในสถานการณ์ของโควิด-19 เราถูกร้องขอให้มีการดูแลเด็กเพื่อกักตัวเด็กไว้ก่อน 14 วัน  เพราะเราต้องรับเด็กออกมาจากชุมชน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเด็กจะได้รับเชื้อหรือเป็นพาหะ หรือไม่ แต่จะให้เด็กรออยู่ในชุมชนบนความเสี่ยงต่อตัวเด็กก็คงไม่สามารถทำได้ คนทำงานปรึกษาหารือกันจนได้ข้อสรุปที่ท้าทายการทำงานบนสถานการณ์โรคระบาดในขณะนี้มาก คือเราต้องหาสถานที่และคนที่จะช่วยดูแลเด็ก เพื่อเป็นการกักตัวก่อนส่งเด็กเข้าสถานรองรับ เพื่อช่วยสถานรองรับในเบื้องต้นด้วย เพราะเค้ามีเด็กเยอะ หากเด็กบ้าน/ชุมชนที่เราจะส่งไปเกิดเป็นพาหะ จะทำให้เกิดการระบาดสู่เด็กคนอื่นๆ รวมถึงผู้ดูแลเด็กได้  และเราก็ไม่อยากให้เด็กของเรากลายเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์  ทีมเราคุยกัน  วางแผนร่วมกันทั้งทีมมูลนิธิฯและทีมโรงพยาบาล สรุปกันว่าตรวจสุขภาพเด็ก เตรียมเจ้าหน้าที่และเปิดบ้านเพื่อรับเด็กไปกักตัว ซึ่งสถานการณ์นี้ เท่ากับว่าต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ถูกกักตัวไปพร้อมกับเด็กด้วย เพื่อไม่ให้มีคนวุ่นวายเข้าๆออกๆ ในที่ที่เด็กอยู่   และอีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึง คือ เด็กเป็นคนละเพศ  แหล่งรองรับแบบไหนที่จะช่วยให้พี่น้องยังคงรักษาความสัมพันธ์กันได้ เพราะเด็กต้องอยู่คนละแหล่งรองรับ ในห้วงเวลาที่ครอบครัวยังไม่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะดูแลเด็กๆในช่วงนี้

งบประมาณดูแลเด็ก ไม่มี!!

ข้อท้าทายที่ตามมาทันทีคือ องค์กรขนาดเล็กของเราไม่ได้เตรียมงบประมาณในส่วนนี้ไว้ ใครจะไปคิดว่าจะมีโรคระบาดร้ายแรงเกิดขึ้น ทีมผู้บริหารช่วยกันคิดๆๆๆ ปรับแผนการทำงาน ปรับงบประมาณเท่าที่มี ณ  เวลานี้ เพราะสถานการณ์ของ โค วิด-19 นั้น ทำให้สถานการณ์ทางการเงินของมูลนิธิฯ ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่ค่อยมีเงินบริจาคเข้ามา แผนงานระดมทุนที่วางไว้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้   นอกจากนี้สถานการณ์ โค วิด-19 ก็ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจกับผู้บริจาคหลายภาคส่วน ซึ่งจำเป็นต้องขอลดจำนวนหรือขอยุติการบริจาค ซึ่งเราก็เข้าใจในสถานการณ์ในตอนนี้ที่ทุกคนต่างก็ลำบาก  แต่ทีมของพวกเราก็ไม่ท้อ ยังยืนยันที่จะทำให้เด็กๆปลอดภัย ได้รับการดูแล และไม่ตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อความปลอดภัยของพวกเค้า  เจ้าหน้าที่เราเก็บกระเป๋าพร้อมกักตัวกับเด็กๆ เจ้าหน้าที่ที่เหลือก็แบ่งกันทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยพวกเรายังคงเข้าออกทำงานร่วมกับโรงพยาบาลทั้งที่ทุกคนต่างก็กังวลกับความปลอดภัยจากการติดเชื้อ กรณีใดที่เราไม่สามารถลงพื้นที่ได้จริงๆ เราก็สื่อสารด้วยแอปพลิเคชั่นที่มี เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์นี้ให้ได้ เพื่อเด็กๆที่ยังต้องการการช่วยเหลือจากเรา

ไม่มีอะไรมาก แค่อยากเล่าให้ฟัง ถึงแม้จะมี โควิด-19  เราชาวมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กก็ยังคงตระหนักและห่วงใยในสวัสดิภาพของเด็กๆ  เราจะสู้ไปด้วยกัน   แล้วจะมาเล่าใหม่นะ ….

: 285