ราชบัณฑิตสภา ให้คำนิยาม Cyber Bullying ว่าคือ “การระรานทางไซเบอร์” หมายถึง การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เป็นต้น โดยต้องการให้บุคคลนั้นเกิดความรู้สึกไม่พอใจหรือเจ็บปวดทางด้านอารมณ์จิตใจ ดังนี้ อับอาย หวาดกลัว หวาดระแวง รู้สึกโดดเดี่ยว เศร้าหมอง ท้อแท้ สิ้นหวัง ไร้ค่า บางคนนอนไม่หลับ อ่อนเพลียเรื้อรัง เจ็บป่วย ทำร้ายตนเอง และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต

รูปแบบของ Cyberbullying ที่พบบ่อยๆในกลุ่ม และในสังคม ได้แก่

  1. ส่งข้อความนินทาเพื่อน กุข่าวโคมลอย เพื่อให้เกิดกระแสพูดต่อๆ กันไป ทาให้เพื่อนเสียหาย
  2. ไล่บางคนออกจากกลุ่มออนไลน์ เช่น กลุ่มไลน์ หรือ กลุ่มเฟซบุ๊ก เป็นต้น
  3. การแอบเข้าใน log in ของคนอื่นและโพสต์ข้อความให้เจ้าของ account ดูไม่ดีในสายตาคนอื่น หรือได้รับความเสียหาย
  4. การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น ซึ่งมักเกิดขึ้นจากการที่มีผู้อื่นรู้รหัสผ่านของบัญชีการใช้งานโซเชียลมีเดีย แล้วถูกสวมรอยแอบใช้งานแทน เพื่อโพสต์ข้อความหยาบคาย ให้ร้ายบุคคลอื่น โพสต์รูปโป๊ คลิปวิดีโอลามก หรือสร้างความเสียหายในรูปแบบอื่น ทำให้เจ้าของ Account ดูไม่ดีในสายตาคนอื่น หรือได้รับความเสียหาย
  1. แฉด้วยคลิป ไม่ว่าจะเป็นคลิปอนาจาร หรือคลิปที่บุคคลนั้นถูกรุมทำร้าย เพื่อให้รู้สึกอับอาย หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์
  2. คิดว่าเป็นเรื่องตลก ก็เลยแชร์เพื่อสร้างรอยยิ้มให้คนหมู่มาก ทั้งๆที่เขาอาจจะอยากโพสต์เป็นการส่วนตัวของตนเองเท่านั้น
  3. เห็นการกลั่นแกล้ง รังแกกันบนโลกออนไลน์แล้วเข้าไปร่วม
  4. การแบล็กเมล์ ด้วยการนำความลับหรือภาพลับมาเปิดเผย เพื่อให้เกิดการแชร์ต่อไปอย่างกว้างขวาง บางครั้งก็ยังเป็นการคุกคามทางเพศ ถ่ายภาพโป๊เปลือยหรือใช้เป็นเครื่องมือต่อรองเรียกรับผลประโยชน์ หรือค่าไถ่
  5. การหลอกลวง มีทั้งการหลอกลวงให้หลงเชื่อ ให้ออกมาตามนัดเพื่อกระทำมิดีมิร้าย หรือลวงเอาเงิน-ทรัพย์สิน
  6. คอมเม้นต์ด้วยถ้อยคำดูหมิ่น หยาบคาย ตอกย้ำปมด้อย ทำให้ผู้โพสต์อับอายเสียหาย (ปั่นเรื่องเท็จให้เป็นเรื่องจริง หรือใช้คำพูดไม่สุภาพต่อผู้โพสต์อย่างเห็นได้ชัด)
  7. แชร์ต่ออย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่สืบหาต้นตอว่าเป็นความจริงหรือไม่ ทั้งการแชร์ข้อความ รูป วิดีโอ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย รู้สึกอับอายบนอินเทอร์เน็ต
  8. การสร้างกลุ่มในโซเชียลเพื่อโจมตีโดยเฉพาะ เรียกว่า 'เพจแอนตี้' มักจับผิดทุกประเด็นเพื่อสร้างความเสียหายต่อคนที่ไม่ชอบ และอาจมีการโน้มน้าวให้คนอื่นรู้สึกรังเกียจไปด้วย บางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นไล่ให้ไปฆ่าตัวตาย

เด็ก ๆ จะรับมือ Cyberbullying อย่างไร?

  • STOP หยุดระรานกลับด้วยวิธีการเดียวกัน หยุดตอบโต้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำซ้ำหรือเพิ่มความรุนแรงของเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น
  • BLOCK ปิดกั้นผู้ที่ระราน ไม่ให้เขาสามารถติดต่อ โพสต์ หรือระรานเราได้อีก
  • TELL บอกพ่อแม่ ครู หรือบุคคลที่ไว้ใจ เพื่อขอความช่วยเหลือ หากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือถูกข่มขู่คุกคาม ให้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้กระทำและเหตุการณ์ระรานรังแกไปแจ้งเจ้าหน้าที่
  • REMOVE ลบภาพหรือข้อความระรานรังแกออกทันที โดยอาจติดต่อผู้ดูแลระบบหากเป็นพื้นที่สาธารณะบนโลกออนไลน์
  • BE STRONG เข้มแข็ง อดทน ยิ้มสู้ อย่าไปให้คุณค่ากับคนหรือคำพูดที่ทำร้ายเรา ควรใช้เป็นแรงผลักดันให้เราดีขึ้น ก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ

ข้อมูล : คู่มือกิจกรรมการป้องกันการรังแกกันในโรงเรียน มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

อินโฟกราฟิกโดย : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

ดาวน์โหลดเอกสารฟรี

    (* สำคัญต้องกรอก)

    1,279