ทุกวันนี้ เด็กๆยังถูกทารุณกรรม ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในทุกรูปแบบ เราจึงต้องการ “คุณ” มาร่วมเป็น “ผู้พิทักษ์เด็ก” เพื่อคุ้มครอง ปกป้องดูแลเด็กๆให้ปลอดภัยอยู่ในสังคม
ผู้พิทักษ์เด็ก คือ ใคร?
“ผู้พิทักษ์เด็ก” หมายถึง ผู้ใหญ่ที่มีเด็กอยู่ในความดูแล ผู้ใหญ่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กและครอบครัว หรือ ประชาชนทั่วไป ทุกคนในสังคมสามารถเป็น ผู้พิทักษ์เด็ก ได้ โดยร่วมกันดูแล คุ้มครองให้เด็กได้รับความปลอดภัย ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมตามวัย ตามพัฒนาการและสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กควรจะได้รับตามที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ
จะร่วมเป็นผู้พิทักษ์เด็ก ได้อย่างไร?
คุณสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งการพิทักษ์เด็กได้ ด้วยการ “สมัครเป็นสมาชิกโครงการ” และเลือกบทบาทการมีส่วนร่วมตามที่คุณสนใจและสามารถทำได้จริง โดยเงื่อนไขการสมัครเป็นสมาชิกโครงการผู้พิทักษ์เด็ก มีดังนี้
- เพศ : ไม่จำกัดเพศ
- อายุ : ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
- ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา
- ไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ที่ติดต่อสู่ผู้อื่นได้
- ไม่มีอาการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต
- ระยะเวลาการเป็นสมาชิก : สมาชิกมีอายุ 1ปี แล้วปีต่อไปคุณตัดสินใจเลือกว่าจะต่ออายุหรือยกเลิกการเป็นสมาชิกได้
สิทธิพิเศษที่สมาชิกจะได้รับ
- คู่มือ สื่อ หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาเด็ก
- สิทธิเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของมูลนิธิ
- ข่าวสารของมูลนิธิ
รูปแบบของการเป็นสมาชิกผู้พิทักษ์เด็กแต่ละรูปแบบ
1.แจ้งเหตุ
คุณสมบัติ : ช่างสังเกต จดจำรายละเอียด สนใจคนรอบข้าง มีความกระตือรือร้น ไม่นิ่งเฉยเมื่อพบเหตุสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับเด็กๆ สื่อสาร(พูด เขียน) ให้คนอื่นเข้าใจได้
ต้องทำอะไร : เมื่อคุณพบเห็น หรือได้รับทราบเรื่องราวเด็กถูกกระทำด้วยความรุนแรง ถูกละเมิดสิทธิ ได้รับการเลี้ยงดูอย่างปล่อยปละละเลย ไม่ว่าจะพบเห็นในชุมชน ผ่านทางคลิปวีดีโอ หรือช่องทางอื่นๆ สิ่งที่คุณควรทำคือ
- ไม่นิ่งเฉย ให้รีบแจ้งเหตุ ส่งต่อข้อมูลหรือโทรศัพท์แจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 สถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
- เวลาแจ้งเหตุบอกข้อมูลสำคัญ คือ ผู้ถูกกระทำเป็นใคร (ชื่อ อายุ (ถ้ารู้) ใครเป็นผู้กระทำเด็ก กระทำอย่างไร (เล่าเหตุการณ์ที่เกิด) อยู่ที่ไหน (สถานที่เกิดเหตุ เช่น บ้าน โรงเรียน ฯลฯ) เมื่อไหร่ (วัน-เวลา) ผู้แจ้งต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร พร้อมทั้งแจ้งชื่อและเบอร์ติดต่อของผู้แจ้ง เพื่อเจ้าหน้าที่ขอรายละเอียดเพิ่มเติม (ข้อมูลของผู้แจ้งจะถูกปิดเป็นความลับเพื่อความปลอดภัย)
สิ่งที่คุณจะได้ : 1.ได้รับการอบรมเสริมความรู้และความเข้าใจต่อวิธีการแจ้งเหตุที่ถูกต้องและไม่ละเมิดต่อสิทธิเด็ก สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรกระทำและไม่กระทำกับเด็ก ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็ก 2.ความภาคภูมิใจและความสุขที่ได้เห็นเด็กคนหนึ่งรอดพ้นจากความทุกข์
2.กระจายข่าวสาร
คุณสมบัติ: ชอบติดตามข่าวสาร รักการสื่อสารเจรจาทั้งแบบพูดคุยตัวต่อตัว และสื่อสารผ่านทางสังคมออนไลน์ ให้คำแนะนำปรึกษาได้
ต้องทำอะไร :
- ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของมูลนิธิฯ ผ่านสื่อต่างๆ เช่น เว็บไซต์ เฟสบุ๊ค
- ส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแล คุ้มครองเด็ก สู่ญาติสนิทมิตรสหายหรือคนรู้จัก ผ่านช่องทางการสื่อสารแบบต่างๆที่คุณถนัดหรือเชี่ยวชาญ เช่น พบปะพูดคุย Share Facebook อัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ (ถ้ามี) ขอสื่อนำไปแจกคนในชุมชนที่อาศัยอยู่/ที่รู้จัก
สิ่งที่คุณจะได้ : 1.ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลและพัฒนาเด็ก 2.มีส่วนช่วยป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กในสังคม 3.ได้ความภาคภูมิใจและมีความสุขที่ได้ช่วยให้เด็ก ๆ ได้รับการดูแลที่ถูกต้องและเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ
3.อาสาส่งเสริมพัฒนาเด็ก
คุณสมบัติ : ชอบทำกิจกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ รักและเข้าใจเด็ก ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ (ผู้ใหญ่และเด็ก) สื่อสารกับคนอื่นเข้าใจ อดทน (ต่อสภาพอากาศและพฤติกรรมเด็ก)
ต้องทำอะไร :
- ช่วยคิดออกแบบกิจกรรมที่จะจัดให้กับเด็ก ในโจทย์ด้านการเสริมทักษะชีวิต ทักษะความปลอดภัยและทักษะสังคม
- จัดเตรียมอุปกรณ์กิจกรรม เช่น หาซื้อของ เตรียมสิ่งของตามรายการอุปกรณ์
- ประชุมร่วมกับทีมอาสาด้วยกัน เพื่อแบ่งบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน
- ลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้กับเด็กครั้งละ 3 ชั่วโมง (เดือนละ1-2ครั้งในวันเสาร์/อาทิตย์) จำนวนเด็กประมาณ 20-30 คน/ชุมชน ทำหน้าที่ตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย ต้องคอยสังเกตเด็กแต่ละคน
- ถอดบทเรียนสรุปกิจกรรมร่วมกัน หลังทำกิจกรรมเสร็จอาสาต้องสรุปพูดคุยแลกเปลี่ยนสิ่งที่ทำในแต่ละครั้งเพื่อนำไปปรับปรุงในครั้งถัดไป
สิ่งที่คุณจะได้ :
- การอบรมเสริมความรู้และความเข้าใจในข้อควรปฏิบัติที่ผู้ใหญ่ควรกระทำและไม่กระทำกับเด็ก ความรู้และทักษะสำคัญในการทำงานเพื่อพัฒนาเด็ก
- การทำงานเป็นทีม มีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนสิ้นสุดกิจกรรม
- ความภาคภูมิใจและความสุขที่ได้เห็นเด็กคนหนึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และคุณได้เป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องเด็กให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่าง ๆ ในสังคม
4. ระดมทุน /บริจาค
คุณสมบัติ : มีมนุษยสัมพันธ์ดี รู้จักคนเยอะ สื่อสารดี ชอบพบปะผู้คน ช่างเจรจา มีเครือข่ายชีวิตมากมาย ชอบการทำบุญและแบ่งปัน
ต้องทำอะไร :
- บริจาคทุนทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์ เพื่อสมทบเข้าโครงการ/กิจกรรมที่มูลนิธิฯ ดำเนินการอยู่
- แนะนำบุคคลหรือหน่วยงานที่มีศรัทธาและต้องการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองเด็ก สนับสนุนงบประมาณกิจกรรมของมูลนิธิฯ โดยแนะนำช่องทางการติดต่อกับบุคคลหรือหน่วยงานนั้น เช่น ชื่อ เบอร์ติดต่อ เป็นต้น หรือ พามารู้จักพูดคุยแลกเปลี่ยนการทำงานของมูลนิธิฯ
- ช่วยเขียนโครงการเสนอขอรับทุนจากแหล่งทุนต่างๆ ที่คุณรู้จักและมีเครือข่าย
- จัดกิจกรรมระดมทุนตามความสามารถ เช่น ขายของมือสอง เล่นดนตรีเปิดหมวก ประมูลสิ่งของ ตั้งกล่องบริจาคในร้านค้า/หน่วยงานของคุณ จัดกิจกรรมพิเศษร่วมกับเพื่อนหรือหน่วยงาน ฯลฯ เพื่อนำมาสนับสนุนให้มูลนิธิฯดำเนินงานเข้าช่วยเหลือเด็กที่ถูกทารุณกรรมได้อย่างทันท่วงทีและครบวงจร
สิ่งที่คุณจะได้ : ความภาคภูมิใจและความสุขที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานสนับสนุนให้เหล่าผู้พิทักษ์เด็กทั้งหลายสามารถทำงานเพื่อเด็กๆ ต่อไปได้
สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก “ผู้พิทักษ์เด็ก” ติดต่อได้ที่ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
โทรศัพท์ 0-2412-0738 อีเมล์ volunteercpcr@gmail.com เว็บไซต์ www.thaichildrights.org