บันทึกชีวิตใหม่ ณ บ้านอุ่นรัก (ตอน3)

บุญนิสา บุญประสพ   ข้อมูล

ดารารัตน์ เพียรกิจ เรียบเรียงเขียน

“จำลองเมือง จำลองชีวิต”

ณ เมืองอุ่นรัก พลเมืองต่างอยู่กันอย่างสงบสุข ด้วยความร่วมมือของพลเมืองที่ร่วมด้วยช่วยกันดูแลและทำตามข้อตกลงของเมือง คือ ไม่ลักขโมย ไม่ส่งเสียงดัง เคารพสิทธิผู้อื่น ไม่ใช้ความรุนแรง รับฟังซึ่งกันและกัน และปฏิบัติตามกฎจราจร  มีการปกครองด้วยนายกรัฐมนตรี มีกระทรวงแรงงาน ที่เปิดให้พลเมืองมาสร้างคุณค่าให้ตนเองด้วยการทำงานพิเศษ ทำงานประจำ เมื่อทำงานครบภารกิจสามารถนำไปเพิ่มเป็นมูลค่าทางการเงินกับนายธนาคาร เพื่อนำไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ตามที่พลเมืองต้องการ  มีตำรวจ ทหาร ออกตรวจตราดูแลความสงบเรียบร้อยของเมือง  หากมีการร้องเรียนหรือร้องทุกข์ พลเมืองต้องหยุดภารกิจของตนเพื่อร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้เมืองกลับสู่สภาวะปกติ …

เป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้วที่เด็กทั้ง 7 คนได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านอุ่นรัก เด็กๆเริ่มปรับตัวให้คุ้นชินกับวิถีชีวิตใหม่ ที่ตื่นแต่เช้า ออกกำลังกาย ทบทวนบทเรียน ทำกิจกรรมพิเศษ และรับผิดชอบงานของส่วนตัวและส่วนรวม ในช่วงแรกเด็กๆตื่นเต้น สนุกกับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน แต่ในช่วงหลังเด็กรู้สึกเหนื่อย ทีมผู้ดูแลจึงต้องทบทวนและออกแบบกิจกรรมใหม่ ที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาการยึดครองสิ่งของ ให้เด็กรู้จักแบ่งปัน และเล่นด้วยกันอย่างสร้างสรรค์  จึงเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรม “เมืองจำลอง”

“เริ่มต้นจากเราสังเกตเห็นว่าเด็กชอบต่อเลโก้  เด็กเล่นแล้วก็มักจะยึดครองเป็นสมบัติของตน ไม่แบ่งปันให้เพื่อนคนอื่นได้เล่นบ้าง ทำให้เกิดการทะเลาะกันอยู่บ่อยๆ  เราก็เลยคิดหาวิธีที่จะทำให้เด็กเล่นด้วยกันอย่างสร้างสรรค์ เข้าใจกฎกติกาของการอยู่ร่วมกัน รู้จักแบ่งปัน   และเรียนรู้ที่จะใช้ความสามารถของตัวเองให้ได้มาซึ่งสิ่งของนั้นๆ  อีกอย่างที่เราเห็นคือช่วงเวลาเรียนหนังสือ เด็กบางคนไม่มีความสุขกับการเรียน บางคนก็ร้องไห้เพราะทำแบบฝึกหัดไม่ได้  ขาดแรงจูงใจ แต่เมื่อเราตั้งกติกาว่าแบบฝึกหัดแต่ละข้อมีมูลค่าสามารถนำมาแลกเป็นเงิน ( เงินสมมุติ )  ใช้ในกิจกรรมสร้างเมือง เด็กๆตื่นเต้นกันมากอยากรู้ว่ากิจกรรมสร้างเมืองคืออะไร เล่นอย่างไร ส่งผลให้ขยันทำแบบฝึกหัดเพื่อจะได้เงินเยอะๆเอามาซื้อสิ่งของเพื่อสร้างเมือง  จากทำแบบทดสอบ10ข้อที่เคยบ่นๆมาเยอะไป แต่ตอนนี้เรียกร้องขอจำนวนแบบฝึกหัดมากขึ้น  เป็นแรงจูงใจให้เด็กอยากเรียนหนังสือ  

กิจกรรมสร้างเมืองจำลอง เป็นการเล่นบทบาทสมมุติในอนาคตเมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะใช้ชีวิตในสังคมอย่างไร เราเริ่มจากการพูดคุยกับเด็กว่า หน้าที่ของผู้ใหญ่คือทำงานหาเงินเพื่อดูแลชีวิตตัวเองและครอบครัว หน้าที่ของเด็กคือเรียนหนังสือ  เพื่อนำความรู้ไปใช้ในการทำงานในอนาคต ใครขยันเรียนก็มีความรู้มาก โอกาสได้งานดี เงินเดือนเยอะก็มีมาก  ถ้าเด็กไม่ตั้งใจเรียน ไม่มีต้นทุนไปทำงาน รายได้หรือเงินก็จะน้อย ไม่สามารถซื้อของที่เราต้องการได้  เราให้โจทย์เด็กช่วยกันคิดว่าเมืองจำลองจะมีสถานที่อะไรบ้าง  มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไร เด็กมีเงินจากการทำงาน ( ทำแบบฝึกหัด )  เท่าไร่ เราจะใช้เงินนี้ซื้ออะไรบ้าง อะไรคือสิ่งจำเป็นในชีวิตที่ขาดไม่ได้  อะไรคือความต้องการที่มีก็ได้ไม่มีก็ได้ เราก็ยกตัวอย่างให้เด็กเห็นว่า เราจะซื้อรถก่อนมีบ้านมั้ย ซื้อสัตว์เลี้ยงก่อนซื้อข้าวกินหรือเปล่า   เด็กก็ได้ฝึกคิดและวางแผนการเงินและแผนชีวิตตัวเอง  ตอนแรกที่เล่นก็จะวุ่นวาย เพราะเด็กต้องการเล่น อยากได้ของ จะรอคอยไม่ได้ แต่เด็กก็สนุกกันมาก และรอคอยที่จะได้เล่นครั้งหน้า  ครั้งต่อมาที่เล่นเราเลยต้องเพิ่มกติกา  ถ้าจะซื้อรถก็ต้องสอบใบขับขี่  ต้องรู้สัญญาณจราจร  มีใบงานให้เด็กทำ จับคู่สัญลักษณ์ ถ้าทำแบบทดสอบผ่านได้ใบขับขี่ก็ซื้อรถได้

ถ้าเงินหมด แต่อยากได้ของเพิ่มก็ต้องมาทำงาน มีงานรายวัน และงานประจำ ถ้าใครอยากจะมีรายได้ประจำต้องมาสมัครงาน สอบผ่านถึงจะได้งานนั้นๆ ตอนนี้เด็กๆตกลงกันว่ามีตำแหน่งเดียวคือ ตำรวจ เพื่อดูแลความเรียบร้อยของเมือง  นอกจากตำรวจแล้วมีอาชีพอื่นอะไรบ้างในสังคม หรือ อาชีพในอนาคตที่เด็กอยากจะทำ เป็นโจทย์ที่ครั้งหน้าเราจะสอดแทรกให้กับเด็ก สำหรับงานรายวัน เราให้เด็กทำแบบฝึกหัด คณิตศาสตร์ สังคม ภาษาไทย ตามระดับชั้นของเด็กเท่ากับเป็นการทบทวนบทเรียนไปด้วย ส่วนแบบฝึกหัดไหนยังไม่เคยเรียนก็จะสอนก่อน นอกจากบทเรียนก็จะมีความรู้รอบตัวเช่นทักษะการป้องกันภัยทางเพศ การป้องกันโควิด 19 ซึ่งเด็กๆได้เรียนแล้วในชั่วโมงก่อนหน้านั้นก็จะเอามาเป็นงานให้เด็กได้ทบทวนอีกครั้ง เป็นการประยุกต์บทเรียนเข้ากับการเล่นทำให้เด็กสนุกและมีสมาธิตั้งใจที่จะทำแบบฝึกหัดมากขึ้น แบบฝึกหัดในแต่ละครั้งจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับผู้สอนว่าอยากจะให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องอะไร เช่น เรื่องของสิทธิพลเมือง การเคารพสิทธิผู้อื่น การเคารพกฎจราจร การอยู่ด้วยกันอย่างสันติ

สิ่งที่เราสังเกตเห็น เด็กบางคนก็เล่นสร้างเมืองอย่างเดียวในพื้นที่ของตนเอง  ไม่ยุ่งกับคนอื่น  บางคนก็มาขอทำงานตลอด เพื่อให้ได้เงินเยอะๆ บางคนก็ยอมจำนน  ทำงานไม่ได้ ได้เงินน้อย ก็จะซื้อกระต๊อบมาอยู่แบบพอเพียง จากที่ทำกิจกรรมมาแล้ว 2 ครั้ง ใช้เวลาครั้งละ 3 ชั่วโมง เด็กชอบ และสนุกมาก ไม่อยากเลิกเล่น     เด็กขยันทำแบบฝึกหัดมากขึ้นไม่ได้ยินเสียงบ่นเรื่องเรียนอีกเลย  ”  

“เสียงของเด็ก”

เด็กๆต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านอุ่นรักแห่งนี้ เป็นเวลาร่วมสองเดือนก่อนที่โรงเรียนจะเปิดภาคเรียนในเดือนกรกฎาคม  เจ้าหน้าที่วางแผนกิจกรรมไว้ซึ่งมีทั้งกิจกรรมบำบัดฟื้นฟูและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก นอกจากกิจกรรมเมืองจำลองที่เด็กชื่นชอบและสนุกแล้ว ยังมีกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้รู้จักตนเอง รู้ว่าตนเองเป็นใคร ชื่ออะไร เกิดวันที่เท่าไหร่ และรู้เส้นทางชีวิตของตนเองเมื่อมาอยู่ที่นี่ จากนี้เขาต้องไปอยู่ที่ไหน ที่สำคัญเด็กจะรับรู้ว่าใครจะเป็นผู้ดูแลเขาบ้าง ทุกกิจกรรมที่ออกแบบไว้เน้นการพูดคุยกับเด็ก เพื่อกระตุ้นกระบวนการทางความคิด ในช่วงแรกเด็กจะไม่คุ้นชิน แต่หลังจากที่เด็กปรับตัวได้แล้ว เสียงของเด็กก็เพิ่มมากขึ้น

“ทุกกิจกรรมเน้นการพูดคุย เน้นกระตุ้นกระบวนการทางความคิดของเด็ก เด็กได้แลกเปลี่ยน เพราะคนคุยกับเด็กมีไม่มาก เสียงของเด็กไม่ค่อยได้รับการได้ยิน  มีเด็กคนหนึ่งที่เปลี่ยนสถานที่ดูแลมาหลายที่ เด็กสะท้อนว่าสถานดูแลที่อื่นๆ ไม่มีผู้ใหญ่เล่นกับเด็ก ไม่มีผู้ใหญ่มานั่งฟังเด็ก มานั่งกินข้าวพูดคุยกับเด็ก  ไม่เหมือนที่นี่  เราคุยกับเด็กทุกเรื่อง  เป็นวิถีชีวิตที่ต่าง เด็กรู้สึกประหลาดใจ แปลกใจ ที่คำพูด หรือเสียงของเขาได้รับการได้ยิน  สิ่งที่ตามมามีทั้งบวกและลบ  เด็กเรียกร้องมากขึ้น ต้องการการเอาใจใส่มากขึ้น บางคนช่วยเหลือตัวเองได้ก็ถดถอย  สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเด็กเขาขาดแคลนความรัก ความต้องการในอดีตไม่ได้รับการเอาใจใส่  เมื่อเด็กเรียกร้องมาก ผู้ใหญ่ที่ดูแลทุกคนก็เหนื่อยมาก แต่รู้สึกดีที่เด็กรู้สึกไว้วางใจ   จากเด็กไม่เคยเปิดเผยเรื่องที่ถูกกระทำ  มาอยู่กับเรา อาการต่างๆก็ออก คุยให้นักจิตวิทยาที่โรงพยาบาลฟัง ก่อนหน้านั้นเป็นปีไม่เคยพูด บอกเล่าเรื่องราวที่ตนถูกกระทำ ถูกทำอย่างไร ยาวนานแค่ไหน”

 

“ชีวิตมีสีสัน ชุมชนคึกคักด้วยเด็ก”

            คำถามสุดท้ายก่อนจบการสนทนาของฉันกับพี่ป้อม ฉันอยากรู้ว่าพี่ๆเจ้าหน้าที่ทีมงานบำบัดฯ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับเด็กตลอด24ชั่วโมงเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน มีเรื่องราวใดบ้างที่ประทับใจ คำตอบของพี่ป้อมทำให้ฉันถึงกับอมยิ้มและตื้นตันจนบอกไม่ถูก

“ประทับใจในตัวเด็กๆ เขามีความน่ารัก  เห็นความน่ารักในความเอาแต่ใจ ความดื้อ เป็นสิ่งที่เด็กไม่ได้รับการฝึก แต่เป็นความน่ารักแบบเด็กๆ ทำให้ชีวิตมีสีสัน  ได้ทบทวนสิ่งที่เคยดูแลเด็ก ทบทวนความรู้ของเรา ได้เห็นพัฒนาการของเด็ก และพัฒนาการของเรา 

อีกเรื่องที่ประทับใจคือ การช่วยเหลือของชุมชนที่นี่   พอรู้ว่าที่บ้านอุ่นรักมีเด็กมาอยู่ ชุมชนที่นี่คึกคักมาก วันที่มีการแจกไข่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็มาเคาะประตูบ้าน ให้ไปรับของแจก  เราออกไปช้า เขาก็เตรียมไข่ไว้ให้และเอามาให้ถึงที่บ้าน  เดินไปข้างนอกเจอผู้บริจาคของมูลนิธิฯ พอรู้ว่ามีเด็ก ก็สั่งซื้อข้าวสารอาหารแห้งจากร้านขายของให้เอามาส่งที่บ้านเด็ก  พาเด็กไปตลาด ตลาดก็คึกคักขึ้นมาทันที ร้านน้ำแจกน้ำเด็กคนละแก้ว คุณตาคุณยายก็ซื้อขนม ฝากขนมมาให้เด็ก  ไปซื้อกับข้าวคนทัก เป็นอะไรที่คึกคักและเต็มไปด้วยน้ำใจ”

การพูดคุยของฉันกับพี่ป้อมจบลง แต่ภารกิจการดูแลเด็กของทีมบำบัดฟื้นฟูฯ ยังคงดำเนินต่อไป แม้หลังจากนี้อีกหนึ่งเดือนเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19เริ่มคลี่คลาย โรงเรียนเปิดเรียน เด็กๆต้องแยกย้ายไปอยู่สถานที่ดูแลแห่งใหม่ ทีมงานฝ่ายบำบัดฯ ยังคงเดินทางไปหาเด็กและทำหน้าที่ในการฟื้นฟูเยียวยาใจของเด็กให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นต้นทุนให้พวกเขามีพลังในการก้าวเดินใช้ชีวิตของตนเองต่อไปในอนาคตได้เฉกเช่นเด็กปกติคนอื่นๆในสังคม

****************************

บันทึกชีวิตใหม่ ณ บ้านอุ่นรัก (ตอน 1)

บันทึกชีวิตใหม่ ณ บ้านอุ่นรัก (ตอน 2) 

 

อัลบั้มภาพ

12