ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางด้านร่างกาย จิตใจ ทางเพศ หรือการปล่อยปละละเลย ล้วนส่งผลร้ายต่อเด็กในทุกด้าน

ผลต่อด้านกาย จิต สังคมของเด็ก

  1. กลุ่มอาการในระยะวิกฤต เช่น กลัว วิตกกังวล ในบางรายมีอาการทางกายเช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย ใจเต้นแรง หน้าแดงหรือซีด หายใจเร็ว หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก ตกใจง่าย มีความโกรธ ความเครียด อาการทุกข์ทรมานใจ (Trauma) ซึมเศร้ามีอาการแสดงได้แก่ท่าทางเสียใจ เฉยชา อารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้บ่อย ปฏิเสธอาหาร เลี้ยงไม่โต- เบื่ออาหาร หรือ กินมากขึ้น- น้ำหนักลด หรือ เพิ่มขึ้น  นอนไม่หลับ หรือ หลับมาก- ไม่สนใจกิจวัตรประจำวัน และสิ่งแวดล้อม  – อ่อนเพลียง่าย  ไม่มีแรง- แยกตัวออกจากกลุ่ม (Isolation)- รู้สึกหมดหวัง ไม่มีทางออก ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้- รู้สึกไม่มีใครรัก ไร้ค่า รู้สึกผิดอย่างมาก- ความคิด การเคลื่อนไหวช้าลง ในเด็กพบซนมากขึ้น- สมาธิลดลง ตัดสินใจลำบาก- ทำร้ายตัวเอง- มีความคิดอยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย
  2. กลุ่มอาการในเรื่องของ Self  ได้แก่ มีความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองในทางลบ มีความยอมรับนับถือตนเองต่ำ (Low self esteem) – ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง(Lacking of self confidence) – การขาดรักมีอาการแสดงเช่นเรียกร้องความสนใจอย่างมาก ในรูปแบบต่างๆ-ต่อต้านบุคคลเฉพาะที่เด็ก มีความผูกพันเป็นพิเศษ- การเข้าหาคนง่ายเกินไป หรือสนิทสนมคลุกคลีกับคนแปลกหน้าเสมือนคุ้นเคยกันมานาน – ขาดความมั่นคงในจิตใจ (insecure) – หวาดระแวงว่าผู้อื่นคิดร้าย (Paranoid) – ภาวะรู้สึกว่าตนอ่อนแอ(Powerlessness) – มีมลทิน (Stigmatization) – เรียกร้องความสนใจ (Attention seeking)
  3. กลุ่มอาการความผิดปกติทางอารมณ์ – ภาวะถดถอยทางจิตใจ (Withdrawal) – ปราศจากความหวังในการพัฒนาชีวิตของตน (Hopelessness) – อารมณ์แปรปรวน (Mood disorder) -ก้าวร้าว (Aggressiveness)
  4. กลุ่มอาการผิดปกติทางเพศ ได้แก่ ยั่วยวนทางเพศ เสพติดทางเพศ ล่วงเกินทางเพศต่อผู้อื่น (Sex offender) ซ้ำเติมตนเอง (Victimization)
  5. กระบวนการคิดผิดปกติ (Cognitive disorder) ไม่สามารถคิดเป็นเหตุเป็นผล ไม่สามารถใช้หรือยอมรับเหตุผล ไม่สามารถเข้าใจกฎแห่งเหตุและผล เพ้อฝัน มีกระบวนการทางความคิดที่แตกต่างจากบรรทัดฐานทางสังคม ทรยศ (Betrayal)ก่อความเดือดร้อน หรือสร้างปัญหาให้แก่บุคคลที่ตนรักผูกพัน โดยมีความรู้สึกว่าถูกทรยศ หลอกลวง พฤติกรรมแสดงอาการต่อต้านสังคม (Anti-social)กระทำการฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ ระเบียบ กติกา จารีต ประเพณี ศีลธรรม หรือกฎหมายโดยไม่รู้สึกผิด- หนีออกจากบ้าน- หนีเที่ยว- โกหก- ก้าวร้าว- ใช้สารเสพติด- ทำร้ายคนอื่น- รังแกสัตว์ บุคลิกภาพผิดปกติ(Personality disorder)มีบุคลิกภาพหลายแบบที่เป็นปัญหาให้แก่ตนเองและผู้เกี่ยวข้อง ขาดหรือมีสติสัมปชัญญะ (Consciousness) น้อย ขาดสมาธิ เหม่อลอย ทำให้การสื่อสารกับผู้อื่นไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้
  6. ปัญหาด้านครอบครัว เช่น พ่อแม่ตามมารบกวนการดำเนินการช่วยเหลือ หรือขาดการกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก
  7. ปัญหาทางร่างกาย ได้แก่ ขาดสารอาหาร ทำให้มีผลต่อระดับสติปัญญาและการพัฒนาสมอง พัฒนาการล่าช้า มีอาการบาดเจ็บทางกาย
  8. กรณีเด็กตั้งครรภ์ ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ ได้แก่ ปัญหาทางสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตและอารมณ์ การทำแท้ง การสูญเสียอนาคต เนื่องจากต้องออกจากการศึกษาหรือการทำงาน และปัญหาอื่น ๆ ทางสังคม เช่น การฆ่าตัวตาย การทอดทิ้งทารก เป็นต้น

ผลกระทบที่ตัวเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสมอง

เด็กที่ถูกทารุณกรรมจะเกิดการ block หรือขัดขวางการสื่อสารระหว่างสมองส่วนอารมณ์ กับสมองส่วนหน้า  หรือระหว่างสมองส่วนหน้ากับสมองส่วนหลัง (LeDoux 1996, Rauch และ Van der Kolk 1996 อ้างอิงจาก ปริชวัน จันทร์ศิริ, 2550) หมายความว่าอาการที่เกิดขึ้นกับเด็กเหล่านี้ข้างต้นที่เห็นได้ชัดคือ เด็กจะทำอะไรโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ เด็กพวกนี้จะมีอาการทำอะไรหุนหันพลันแล่น ซึ่งจะพบได้มากในเด็กที่กระทำความผิดหรือเสี่ยงต่อการกระทำความผิด คือ เป็นเด็กกลุ่มเดียวกัน รวมไปถึงเด็กเร่ร่อนที่ถูกทารุณกรรมอย่างร้ายแรงจนหนีออกมาจากครอบครัว เนื่องจากสภาพครอบครัวเป็นอันตรายกับเขามากเกินไปจนทนไม่ไหว มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าเด็กเริ่มหนีออกจากบ้านเมื่อเขาอายุประมาณ 9 ขวบ หากเราไปดูอายุของเด็กที่เร่ร่อนที่อายุประมาณ 5- 6 ขวบมีจำนวนน้อยจนเกือบจะหาตัวเลขไม่ได้  ส่วนใหญ่ประมาณ 9 ขวบขึ้นไป ซึ่งตรงกับพัฒนาการทางสมองที่เด็กเริ่มแยกแยะระหว่างจินตนาการกับสภาพความเป็นจริงได้ เด็กเริ่มมีวุฒิภาวะพอที่จะพึ่งตัวเองได้ทำให้เด็กตัดสินใจที่จะหลบหนีออกมาจากที่นั้นด้วยตัวเอง

ในเด็กที่ถูกทารุณกรรมจะพบว่า สมองจะถูกทำลายไปบางส่วนโดยเฉพาะสมองส่วนหน้า นอกจากนั้นยังเป็นการทำลายสมองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพราะว่าระหว่างที่เขาเป็นเด็กสมองยังต้องพัฒนาอยู่ต่อไปอีก มีงานวิจัยจำนวนมากพบว่า ถ้าเด็กถูกทารุณกรรม ในช่วงเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงไม่เกิน 2 ปี จะมีผลต่อสมองอย่างร้ายแรงเพราะจะไปทำลายโครงสร้างของการพัฒนาสมองอย่างทั่วด้าน ทำให้เกิดผลกระทบต่อเด็กกลุ่มนี้ที่ตามมา ได้แก่

  1. กระบวนการเรียนรู้หรือความสามารถในการเรียนรู้ของเขามีปัญหา ทำให้การจัดการศึกษาให้เด็กเหล่านี้กระทำได้ยาก
    สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือสมองส่วนที่เรียกว่า Prefrontal ส่วนหน้าผาก ซึ่งทำหน้าที่ Executive function หน้าที่ ในการตรองสิ่งกระตุ้นว่าอะไรที่ควรจะตอบสนองหรือไม่ตอบสนอง จัดลำดับความคิด วางแผนพฤติกรรม ว่าอะไรควรทำก่อนทำหลัง อะไรควรจะเลือกสนใจไม่สนใจ และสิ่งที่สำคัญว่านั้นคือการรู้จักยับยั้งระงับพฤติกรรม มิให้หุนหันพลันแล่น ถ้าสมองส่วนนี้เสีย มีสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อย เด็กก็แสดงออกแบบระเบิดตูมตาม (วิฐารณ บุญสิทธิ, 2552)นอกจากนั้นสมองที่มีผลมากๆ คือ Amygdala จะอยู่ในส่วนข้างในของสมอง เป็นสมองที่ตอบสนองต่อความเครียด ทำหน้าที่จำแนกแยกแยะอารมณ์หรือสัญญา (จำได้หมายรู้แล้วเกิดการปรุงแต่งทางอารมณ์ว่าพอใจไม่พอใจถูกใจหรือไม่ถูกใจหรือเฉยๆ) เมื่อมีความเครียดเข้ามา Amygdala จะเป็นส่วนที่บอกว่าจะต้องตอบสนอง ว่าจะสู้ หรือจะถอย หรือจะหนีหรือจะอยู่เฉยๆ   พบว่า Amygdala   มีความเชื่อมโยงต่อ Prefrontal cortex เด็กที่มีความเครียดอยู่เรื่อยๆก็จะทำให้ Prefrontal cortex ทำงานไม่ดีไปด้วย (วิฐารณ บุญสิทธิ, 2552)ส่วนหนึ่งของ Amygdala จะไปต่อกับ Thalamus เป็นส่วนที่เรียกว่า social intelligent หมายถึงการแปลความหมายทักษะทางสังคม เด็กที่ถูกทารุณกรรมสมองส่วนนี้เสียทำให้เขาอ่านสื่อทางสังคมเพี้ยนไป เช่น คนเราเวลาจะตอบสนองอะไร ขึ้นกับการที่เรามองคนอื่นว่าจะทำดีหรือไม่ดีกับเรา ถ้ามีเหตุการณ์ชัดเจน เช่น คนมาชกหน้าเรา เราจะรู้ว่าเขาทำไม่ดีกับเราแน่ๆ  ใครพูดดีๆ กับเรา เราจะรู้ แต่สิ่งเร้าหรือหัวข้อกลางๆ เราต้องใช้ความคิด เช่น มองหน้าเฉยๆ นี่เราไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดีกับเรา แต่เราแค่พูดแนะกับเขาว่า “หนูควรไปอาบน้ำได้แล้ว” เด็กไม่รู้ว่าผู้พูดปรารถนาดีหรือร้าย   จึงต้องใช้กระบวนการคิด คือใช้การแปลความหมายทักษะทางสังคม(social intelligent) ทั้งนี้เด็กต้องนำความจำถาวรที่เคยฝังใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาวิเคราะห์ว่าเป็นอย่างไร ถ้า social intelligent ไม่ดี เขาก็จะไม่มีความไว้ใจ ความเชื่อมั่น เด็กที่ถูกทารุณกรรมความไว้ใจคนดูแลไม่ดีอยู่แล้ว และยังแปลความหมายสื่อออกมายังผิดพลาดอีก ผลที่ตามมาคือเด็กมักแสดงพฤติกรรมด้านลบ (วิฐารณ  บุญสิทธิ, 2552)

    สมองส่วนหนึ่งที่มีผลอีกก็คือ Temporal Lobe-Hippocampus ที่เป็นส่วนของความจำ เด็กเหล่านี้มีปัญหาเรื่องของ ความจำที่ควรจำไม่จำ ที่น่าจะลืมก็ไม่ลืม ยิ่งแย่ยิ่งฝังลึกมาก (วิฐารณ บุญสิทธิ, 2552) ทั้งนี้เพราะสมองส่วนนี้ทำหน้าที่เก็บความจำถาวรที่เกิดจากอารมณ์ฝังใจ

  2. ภาวะความไม่มั่นคงทางด้านจิตใจซึ่งเป็นผลมาจากถูกปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง จนเกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจ ว่าหากมีปัญหาหรือมีภัย จะมีใครมาปกป้องคุ้มครองดูแลหรือไม่ โดยเขาไม่อาจยึดถือผู้ดูแลเป็นที่พึ่งได้นั่นเอง
  3. ความสามารถในการฟื้นตัว (Resilience) ต่ำ เมื่อมีภัยหรือภาวะวิกฤติหรือปัญหาที่เข้ามาเป็นผลโดยตรงจากถูกปล่อยปละละเลยทอดทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกปล่อยปละละเลยทางจิตใจ จนเกิดความไม่มั่นคงทางจิตใจแล้วเกิดความอ่อนแอทางจิตใจ ขาดความหวังที่จะผ่านพ้นวิกฤติ

มีงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กที่ถูกทารุณกรรม เช่น เราพบว่าการกระทำความรุนแรงต่อเด็กมีผลต่อสมองทุกส่วน งานวิจัยในหลายๆ ประเทศ  เราพบว่าผลของ trauma(อาการทุกข์ทรมานใจ) รบกวนการทำงานของสมองอย่างมาก (Perry BD, 2001) เด็กก็จะมีภาวะอาการต่างๆ เหล่านี้เป็นเพราะว่าสมองไปจดจำ อย่างเช่นเด็กมีอาการกลัว เด็กมีอาการไม่มั่นคงต่างๆ เป็นเพราะสมองจำอย่างฝังแน่นในเรื่องที่ถูกกระทำ(Shore, 1997)

งานวิจัยของ Bremner และคณะ (1995) พบว่า สมองส่วนที่เรียกว่า hippocampus ซึ่งเป็นที่เก็บความจำทั้งดีและไม่ดี ในเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ทารุณกรรม ทำร้ายจิตใจ ล่วงเกินทางเพศ ส่งผลให้ปริมาตรของสมองส่วนนี้เล็กลง   เราต้องดูว่าเขาเหลือสมองส่วนไหนที่จะช่วยทำให้สมองส่วนที่เสียไปทำงานได้ นั่นคือเราต้องเยียวยาสมองส่วนอารมณ์ ให้เขาสงบ ให้เกิดความสุข

พัฒนาการทางสมองของเด็กแต่ละวัย  มีอัตราเร่งที่แตกต่างกันโดยเฉพาะสมองแต่ละส่วน สมองแบ่งออกเป็นสามส่วนเท่านั้นก็คือ สมองส่วนหลัง  สมองส่วนกลาง  สมองส่วนหน้า ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน วุฒิภาวะของสมองจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 20-25 ปี สำหรับเด็กวัยรุ่น วุฒิภาวะของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ที่อยู่ในส่วนของ Limbic จะพัฒนาเต็มที่ก่อนสมองส่วนหน้า โดยเฉพาะ Amygdala เจริญเมื่ออายุ 13 ปี หากมีปัจจัยเร้าจะระงับอารมณ์ไม่อยู่   เด็กที่อายุ 10 ขวบ เด็ก ป.5 –ป.6 สมองจะเริ่มพัฒนาเร็ว ครูที่สอนเด็กวัยรุ่น จะสอนเนิบนาบไม่ได้ เราต้องสอนแบบสุขนำ เปิดสมองด้วยเพลง เกม แล้วใส่ความรู้ตาม หรือพัฒนาวิธีการเรียนการสอนให้ท้าทายความอยากรู้อยากเห็นของเด็กให้มาก

เด็กในสถานสงเคราะห์ หากผ่านประสบการณ์เลวร้าย  ถ้าเขามีอารมณ์สุดโต่ง เราค่อยใส่ชุดความรู้ บางคนมีปัญหา IQ การใช้ชุดความรู้จะใช้ชุดเดียวกัน สมองกับการเรียนรู้ต้องออกแบบให้สอดคล้องกัน no child left behind (ดร.ประภาพรรณ จูเจริญ, 2553)

(คัดลอกบางส่วนจากงานวิจัย การประเมินผลนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส :กลุ่มเด็กถูกละเมิดสิทธิโดย นายสรรพสิทธิ์  คุมพ์ประพันธ์ และนางสาวพยงค์ศรี  ขันธิกุล มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เสนอต่อสภาการศึกษา พ.ศ.2553)

ความจริงของเด็กที่ถูกทำร้าย ตอนที่ 1
: 285