มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก จัดทำโครงการป้องกันการรังแกกันในโรงเรียน มาตั้งแต่ในปี 2562 เพื่อให้ครูและเด็กเข้าใจถึงผลกระทบของการรังแกกัน เปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของเด็ก จากผู้ที่อาจเคยเป็นผู้รังแกผู้อื่น ให้เข้าใจความรู้สึกของเพื่อนที่ถูกรังแก เปลี่ยนจากผู้วางเฉย เป็นผู้ช่วยเหลือเพื่อน เพื่อช่วยกันหยุดการรังแกกันทุกรูปแบบในโรงเรียน

จากการทำกิจกรรมพบว่า พฤติกรรมการรังแกกันที่พบเห็นโดยส่วนใหญ่ คือ การล้อเลียน รองลงมาคือ การทำร้ายร่างกาย เช่น ตบหัว เตะ ในขณะเดียวกัน พฤติกรรมการรังแกกันที่เด็กรู้สึกไม่ชอบหรือทุกข์ใจ คือ การล้อเลียนและการไม่ให้เข้ากลุ่ม นอกจากการรังแกกันแบบเจอหน้าเจอตัวกันแล้ว ยังมีการรังแกกันบนโลกออนไลน์ ซึ่งพบเห็นค่อนข้างมาก เด็กหลายคนรู้ไม่เท่าทันในเรื่องการใช้ hate speech ในการสื่อสารบนโลกออนไลน์ หรือการแชร์ภาพหลุดของเพื่อนลงไปในโลกออนไลน์ การทำให้เด็กรู้เท่าทันและเข้าใจผู้ที่ถูกกระทำบนโลกออนไลน์ว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กไม่รังแกผู้อื่นบนโลกออนไลน์ ในการจัดการเรียนรู้นอกจากจะทำให้เด็กเข้าใจพฤติกรรมการรังแกกันทั้งออฟไลน์และออนไลน์แล้ว ยังต้องทำให้เด็กรู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อถูกรังแก และการตอบสนองของครูในการช่วยเหลือเด็ก เพื่อหยุดวงจรการรังแกกันในโรงเรียน

#วันหยุดการระรานทางออนไลน์สากล 2566

#STOPCYBERBULLYINGDAY2023

: 285