บันทึกชีวิตใหม่ ณ บ้านอุ่นรัก  (ตอน2)

บุญนิสา บุญประสพ   ข้อมูล

ดารารัตน์ เพียรกิจ เรียบเรียงเขียน

“วิถีชีวิตใหม่ในบ้านอุ่นรัก”      

ฉันเดินทางมาบ้านอุ่นรักอีกครั้ง เพราะมีนัดกับพี่ป้อม บุญนิสา บุญประสพ หัวหน้าฝ่ายบำบัดฟื้นฟูเด็กและครอบครัว เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวการทำงานกับเด็ก ที่มาที่ไปของเด็ก บรรยากาศที่เกิดขึ้นภายในบ้านแต่ละวัน  เมื่อเดินทางมาถึงฉันก็ทักทายเด็กๆและพี่เจ้าหน้าที่ และรอคอยช่วงเวลาที่พี่ป้อมสะดวก

ระหว่างรอก็เดินดูภายในบ้าน บันทึกภาพ เก็บสต๊อกไว้เผื่อต้องใช้งาน แล้วก็มาสะดุดที่แผ่นกระดาษบรู๊ฟสีขาว ที่มีรูปมือและข้อความ   ฉันพอจะคุ้นเคยกับภาพในลักษณะนี้อยู่บ้าง เป็นเหมือนสัญญาใจหรือข้อตกลงในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ที่ทำขึ้นในครั้งแรกก่อนที่จะทำกิจกรรมใดๆกับเด็ก เพื่อให้เด็กๆร่วมคิดว่าเขาจะทำกิจกรรมหรือใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างไรให้มีความสุข   บนกระดาษมีรูปฝ่ามือ และในแต่ละมือนั้นจะมีข้อความเขียนไว้ด้วยลายมือ เช่น ไม่แกล้งกัน เชื่อฟังกันและกัน  ไม่ทะเลาะกัน ร่วมกันทำกิจกรรมสนุกๆ เล่นกันดีๆ แบ่งปัน  ช่วยเหลือคนอื่น จะดูแลเด็กอย่างตั้งใจ

ประมาณ 09.30 น. เด็กๆก็แยกย้ายเข้าห้องเรียน ตามระดับชั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่พี่ป้อมสะดวก  เราจึงเข้าไปนั่งคุยกันในห้องทำงาน  ฉันเริ่มคำถามแรกด้วยการให้พี่ป้อมเล่าถึงเหตุผลของการเปิดบ้านอุ่นรักอีกครั้งเพื่อดูแลเด็กๆ

“สถานพัฒนาและฟื้นฟูบ้านอุ่นรัก ได้ปิดทำการไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 แต่ภารกิจการบำบัดฟื้นฟูเด็กและครอบครัวยังดำเนินการต่อเนื่องแม้จะไม่มีบ้านพักสำหรับเด็ก เด็กที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรับช่วงต่อจากฝ่ายคุ้มครองสิทธิเด็กของมูลนิธิฯ  ซึ่งเด็กๆจะอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เช่น ครอบครัวเดิม เครือญาติ สถานดูแลเด็กของรัฐ และเอกชน   จุดเริ่มต้นของการเปิดบ้านอุ่นรักอีกครั้งเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากมีเด็ก 3 คนพี่น้อง ที่มูลนิธิฯให้ความช่วยเหลือ เพราะเด็กได้รับการเลี้ยงดูโดยมิชอบ ปล่อยปละละเลยและผู้ดูแลหลักต้องโทษอยู่ในเรือนจำ มูลนิธิได้ประสานงานไปยังสถานดูแลเด็กของรัฐเพื่อขอส่งเด็กเข้าไปอยู่ในความดูแล แต่เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 หรือโควิด-19 สถานดูแลเด็กดังกล่าวขอให้มูลนิธิ  หาสถานที่กักตัวเด็กไว้ 14 วันก่อนจึงจะส่งต่อได้ ทำให้ต้องเปิดบ้านอุ่นรักขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อดูแลเด็ก  และหลังจาก 14 วัน เด็กหญิง 2 พี่น้องสถานดูแลเด็กของรัฐก็รับไปดูแลต่อ เหลือเด็กผู้ชายอีก 1 คน สถานดูแลเอกชนที่ประสานงานไว้ขอให้ส่งเด็กช่วงใกล้เปิดเทอม นอกจากเด็ก 3 พี่น้องก็มีเด็กอีกกลุ่ม จำนวน 6 คนจากสถานดูแลเด็กเอกชน ซึ่งเป็นเด็กที่มูลนิธิฯช่วยเหลือไว้และส่งไปอยู่ในความดูแลของสถานดูแลเด็กแห่งนั้น ปีนี้มูลนิธิฯได้รับแจ้งจากสถานดูแลเด็กว่าจะปิดกิจการเนื่องจากไม่มีงบประมาณ จึงขอให้มูลนิธิฯหาสถานที่ดูแลเด็กใหม่  เดิมสถานดูแลจะดูแลเด็กให้จนถึงเปิดเทอม 16 พฤษภาคม ถ้าเปิดเทอมเด็กก็จะถูกส่งต่อไปที่โรงเรียนประจำหรือสถานที่ดูแลอื่น แต่จากสถานการณ์โควิด 19 โรงเรียนขยายเวลาเปิดเทอมออกไปจนถึง 1 กรกฎาคม ทำให้เด็กๆต้องเข้ามาอยู่บ้านอุ่นรัก”

บ้านที่ไม่ได้ดูแลเด็กมาร่วม 3 ปี เมื่อจะต้องเปิดบ้านอีกครั้ง เจ้าหน้าที่จึงต้องมีการเตรียมการรับมือทั้งในเรื่องข้าวของเครื่องใช้ จานชาม ที่นอน พัดลม ให้เพียงพอสำหรับเด็กและเจ้าหน้าที่ที่ต้องอยู่ดูแลเด็กตลอด24 ชั่วโมง  แต่สิ่งสำคัญคือ การส่งต่อข้อมูลพฤติกรรมและปัญหาด้านสุขภาพกายสุขภาพจิต เพื่อวางแผนในการบำบัดควบคู่กับการออกแบบกิจกรรมให้เด็กทำในแต่ละวัน

“ ตอนนี้บ้านอุ่นรักมีเด็กทั้งหมด 7 คน เด็ก 3 คนเป็นเด็กที่อยู่ในกระบวนการบำบัดฟื้นฟู ฝ่ายบำบัดฯ มีข้อมูลเด็กอยู่แล้ว แต่เด็กอีก 4 คนยังไม่มีข้อมูล การรับเด็กเข้ามาดูแลข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมสำคัญมากเพราะช่วยให้เราประเมินและวางแผนการบำบัดฟื้นฟูและส่งเสริมพัฒนาเด็กได้ตรงกับความต้องการจำเป็นของเด็ก ดังนั้นเราจึงมีการประชุมรับส่งข้อมูลระหว่างฝ่ายบำบัดฟื้นฟูและฝ่ายคุ้มครองสิทธิเด็กก่อนที่จะรับเด็กเข้าบ้าน จากนั้นก็นำข้อมูลมาพูดคุยในทีมบำบัด ออกแบบการดูแลในชีวิตประจำวัน ออกแบบการเรียน เพราะเป็นช่วงรอยต่อของการเปิดเทอม เราจึงวางเป้าว่าจะเตรียมความพร้อมเด็กก่อนเข้าสถานศึกษาด้วย  เด็กส่วนใหญ่มีการเรียนอยู่ในระดับปานกลาง มีเด็ก 6 ขวบ 1 คนที่การเรียนรู้ไม่สมวัย และเด็ก 1 คนไม่ได้เรียนอย่างต่อเนื่อง  ทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน ระดับการเรียนของเด็ก มีอนุบาล1คน  ประถมต้น 1คน และประถมปลาย 5 คน วิชาที่เรียนจะเน้นความรู้พื้นฐาน คณิตศาสตร์ ภาษาไทย เป็นหลัก

เด็กมีปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลเป็นพิเศษ 2 คน ปัจจุบันรักษาด้วยการใช้ยาควบคู่กับการบำบัดฟื้นฟูจากจิตแพทย์และทีมงานของฝ่ายบำบัด เด็กทั้งหมดเป็นเด็กที่ขาดแคลนความรัก ขาดการฝึกวินัย และทักษะชีวิตพฤติกรรมที่เห็นชัดคือ เรื่องการกิน กินจำนวนมาก กินคำใหญ่ไม่เคี้ยว กอบโกยอาหารที่ชอบไว้กับตัวเอง ไม่แบ่งปัน แข่งขันกันอยากเป็นที่หนึ่ง  สนใจเรื่องของคนอื่นมากกว่าเรื่องของตัวเอง”

ในแต่ละวันที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านอุ่นรัก ทีมงานฝ่ายบำบัดฟื้นฟูเด็กและครอบครัว ได้ออกแบบกิจกรรมให้เด็กได้ทำตลอดวัน มีทั้งกิจกรรมเพื่อการบำบัด กิจกรรมทบทวนบทเรียน กิจกรรมเสริมทักษะด้านสังคม ทักษะด้านความปลอดภัยที่สอดแทรกผ่านกระบวนการกิจกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมของเด็ก

“เด็กๆจะตื่นนอนตอนเช้า ประมาณ 6 โมง  ล้างหน้าล้างตา แปรงฟัน  เสร็จแล้วก็ไปเดินออกกำลังกายในหมู่บ้าน แล้วก็กลับมาทำงานบ้านทั้งของส่วนตัว เช่น ซักผ้า ทำความสะอาดห้องนอน  และส่วนรวม เช่น ทำครัว กวาดบ้าน ถูบ้าน ด้วยการจับสลากหมุนเวียนกันทำ   จากนั้นก็กินอาหารเช้า เมื่อกินเสร็จเด็กๆก็จะช่วยกันเก็บกวาดล้าง แล้วก็ไปเล่นอิสระ ใครอยากเล่นอะไรก็จะไปหยิบของเล่นมาใส่กล่องสมบัติของตัวเองไว้ก่อน เป็นการจอง  ถึงเวลาเล่นก็หยิบออกมา

เริ่มเรียนหนังสือเวลา 09.30 น.  แบ่งแยกตามระดับชั้น ตามช่วงวัยของเด็ก  บทเรียนเป็นแบบบูรณาการ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคม สิ่งแวดล้อม  ประมาณสิบโมงครึ่ง ก็พักกินอาหารว่าง  เล่นอิสระ  เด็กบางคนก็ไปช่วยเตรียมอาหารกลางวันในครัว  เมนูอาหารเราให้เด็กๆมีส่วนร่วมด้วยการคิดเมนูคนละ 1 เมนู 7 คน 7 เมนู และเลือกว่าจะกินมื้อไหน เช้า กลางวัน หรือเย็น ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยคิด  หรือถ้าเด็กคิดได้มากกว่า 7 เมนูเราก็เลือกที่เด็กคิดเป็นหลัก

ช่วงบ่าย มีกิจกรรมพิเศษ คือ ศิลปะบำบัด  เรียนมอนเตสเซอรี่สำหรับเด็กอนุบาล  กิจกรรมเดี่ยวด้านสังคม  วันอังคารและวันพฤหัสบดี มีกิจกรรมเรียนรู้ทักษะป้องกันตนเอง   เด็กที่ว่างก็จะนั่งเล่นของเล่น เมื่อทุกคนเสร็จกิจกรรม บ่ายสองโมงครึ่ง ก็จะมีพี่อาสาสมัครซึ่งเป็นเด็กที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิมาพาน้องๆทำอาหารว่าง  ประมาณสี่โมงครึ่ง ก็ออกไปเล่นหน้าบ้าน  บางวันเด็กเลือกเล่นสร้างเมือง

หลังจากกินมื้อเย็นเสร็จเรียบร้อย ก่อนนอนทุกวันจะมีกิจกรรมทบทวนตัวเอง บันทึกความรู้สึก เป็นข้อความ รูปภาพสิ่งที่ประทับใจ ขอบคุณขอโทษกับสิ่งที่ตนเองทำกับผู้อื่น  แต่สำหรับคืนวันอาทิตย์ เป็นการทบทวนทั้งสัปดาห์ เพื่อให้คะแนนเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้  วันแรกที่มาอยู่ เด็กมีสัญญาใจกับตัวเองว่าเขาจะอยู่ที่นี่อย่างไร เช่น จะพูดจาเพราะๆ เล่นกับเพื่อนดีๆ   เราก็ให้เด็กให้คะแนนตัวเอง จากนั้นก็ถามเพื่อนๆว่ายอมรับกับคะแนนที่เพื่อนให้หรือไม่  มีเพิ่มหรือลดหรือไม่  เช่น เพื่อนบางคนให้ตนเองศูนย์คะแนน เด็กคนอื่นก็ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าเพื่อนทำอะไรได้ดี เพื่อนพูดคำหยาบ ควรได้4-5 คะแนน เพราะไม่ได้พูดทุกวัน และไม่ใช่อยู่ดีๆพูดแต่มีเหตุการณ์กระตุ้นทำให้พูด คนที่อารมณ์ไม่ดีจะให้พูดดีก็คงเป็นไปไม่ได้  เด็กก็จะมีเหตุผลมาอธิบาย ได้เห็นถึงการสนับสนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกันของเด็ก

เพราะก่อนที่จะทำกิจกรรมนี้  เจ้าหน้าที่ได้บอกเด็กว่า  บางเรื่องเราเห็นเรารู้ตัว เราให้คะแนนตัวเอง  แต่บางเรื่องเราไม่รู้แต่เพื่อนเห็น เพื่อนจะสะท้อนเราเหมือนเป็นกระจก ถ้าคิดว่าสิ่งที่เพื่อนสะท้อนมันใช่เราก็รับมาเป็นคะแนนของตัวเอง แต่ถ้าไม่ใช่เราก็อาจจะบอกเพื่อนได้ว่าจริงๆแล้วคืออะไร เป็นการฝึกให้เด็กสะท้อนกันในมุมมองที่สร้างสรรค์ จากนั้นก็สวดมนต์ นั่งสมาธิ  ปกตินอน 2 ทุ่มครึ่ง นอนดึกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ประมาณ 3 ทุ่ม เพราะเด็กๆจะดูวิดีโอการ์ตูน ”

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม เด็กต้องปรับตัวใช้ชีวิตแบบใหม่  ที่มีกิจกรรมให้เด็กทำตลอดวัน  มีช่วงเวลาให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ  มีการพูดคุยระหว่างเด็กกับผู้ดูแล  รับฟังเสียงของเด็ก  ทำให้เด็กๆมีความสุขขึ้น  กล้าพูดแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น  เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเอง การที่เด็กเป็นตัวของตัวเอง ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รู้จักเด็กแต่ละคนมากขึ้น ได้เห็นศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเด็ก และได้รู้ว่าจะต้องเพิ่มหรือปรับแก้ในส่วนใด  สิ่งที่น่าสนใจคือ ทีมบำบัดใช้วิธีการใดจึงทำให้เด็กไว้วางใจและยอมเปิดเผยเรื่องราวที่ตนถูกกระทำจากที่เด็กไม่เคยบอกเล่ามาก่อน  ในครั้งหน้าฉันจะมาเล่าให้ฟัง

****************************

บันทึกชีวิตใหม่ ณ บ้านอุ่นรัก (ตอน 1)

บันทึกชีวิตใหม่ ณ บ้านอุ่นรัก (ตอนสุดท้าย)

อัลบั้มภาพ

: 285